6 วิธีรับมือ “อากาศร้อน” ป้องกันสุขภาพ ห่างไกลโรคหน้าร้อน

01 พ.ค. 2567 | 04:30 น.

อากาศร้อน มาพร้อมกับปัญหาสุขภาพและความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรครุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่สามารถป้องกันและรับมือได้ด้วย 6 วิธีง่ายๆ ดีต่อร่างกาย ห่างไกลโรค

อากาศร้อน มีแนวโน้มว่าจะร้อนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นปัญหาที่ประสบกันอย่างทั่วถึง เนื่องจากขณะนี้สภาพอากาศของประเทศไทยมีอุณหภูมิทะลุ 40 องศาในหลายพื้นที่ และอาจพุ่งสูงถึง 44 องศาในบางภูมิภาค ส่งผลให้นอกจากจะกระทบต่อภาคเกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ และในด้านต่างๆ แล้ว ยังส่งผลให้มีอัตราผู้ป่วยและเสียชีวิตจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัดเพิ่มขึ้นอีกด้วย 

ฐานเศรษฐกิจ แนะนำ "6 วิธีรับมือกับอากาศร้อน" ง่ายๆ เพื่อสุขภาพที่ดี ห่างไกลจากโรคที่มาพร้อมกับหน้าร้อน ไม่ว่าจะเป็นโรคลมแดด (ฮีทสโตรก) อาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง โรคทางผิวหนัง และอื่นๆ ดังนี้

1. ตรวจเช็กอุณหภูมิภายนอกก่อนออกจากบ้าน 

หากตรวจพบว่าภายนอกมีสภาพอากาศที่ร้อนเกิน 34 องศา ควรจำกัดเวลาในการทำกิจกรรมกลางแจ้งให้สั้นลง หรือหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในอากาศที่ร้อนเกินไปเป็นเวลานาน เนื่องจากอาจทำให้อุณหภูมิร่างกายสูง มีไข้ และไม่สบายได้

2. ดื่มน้ำบ่อยๆ 

ด้วยอากาศที่ร้อนอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลียและสูญเสียน้ำได้ง่าย ควรหมั่นดื่มน้ำเป็นประจำเพื่อรักษาสมดุลและความชื้นของร่างกาย นอกจากจะช่วยลดการเกิดอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียนแล้ว ยังช่วยคลายความร้อนออกจากร่างกายอีกด้วย

ทั้งนี้ หากร่างกายอยู่ในอุณหภูมิที่สูงหรือพึ่งเจอกับอากาศร้อนภายนอกมา ไม่ควรดื่มน้ำเย็นในทันที 

3. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกเเละปรุงใหม่ 

อากาศร้อนทำให้อาหารและวัตถุดิบต่างๆ เสียได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น การปรุงอาหารอย่างถูกวิธีจะช่วยลดการสะสมของพิษในร่างกาย เนื่องจากอาหารที่ไม่ได้รับการปรุงสุกหรือปรุงใหม่ อาจมีการปนเปื้อนของแบคทีเรียหรือไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อได้ง่าย และควรงดการบริโภคอาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดโรคต่างๆ

4. เปลี่ยนการแต่งกายให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ

ควรมีการปรับเปลี่ยนเรื่องการแต่งกายให้เหมาะสมกับอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ยิ่งในช่วงที่อากาศร้อนจัด ควรเลือกใส่เสื้อผ้าที่มีลักษณะบางเบา ปลอดโปร่ง ระบายอากาศได้ดี และไม่รัดรูปจนเกินไป เพื่อช่วยลดอุณหภูมิภายในร่างกายให้สมดุล รวมถึงพกร่มหรือพัดลมพกพาติดกระเป๋าไปด้วยทุกครั้ง

5. รักษาอุณหภูมิร่างกายให้สมดุล

อากาศร้อนอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลียและมีเหงื่อออกมากขึ้น ควรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม เพื่อที่จะรับมือกับอุณหภูมิภายนอกที่ร้อนระอุ อาทิ การอาบน้ำเย็น เช็ดหน้าเช็ดตัวให้สดชื่น บริโภคขนมหรือเครื่องดื่มเย็นๆ เพื่อลดอุณหภูมิและดับร้อน รวมถึงลดการออกกำลังกายหรือกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก เน้นออกกำลังกายเบาๆ 

6. ใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหนังสม่ำเสมอ

อากาศร้อนอาจส่งผลให้หลายคนประสบปัญหาทางด้านผิวหนังได้ ไม่ว่าจะเป็นผื่นคันจากเหงื่อ ผิวไหม้จากแดด หรือการอับชื้นจากเชื้อรา ควรหมั่นทำความสะอาดผิวกายไม่ให้เกิดการสะสมของเหงื่อ แบคทีเรีย และเชื้อโรค รวมถึงทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน เพื่อป้องกันการถูกทำร้ายจากแสงแดด