“กางเกงนกยูงพะเยา”คึกคัก ออเดอร์ช่วง“สงกรานต์”ทะลุเป้า

19 มี.ค. 2567 | 08:11 น.

"พะเยา"ดัน Soft Power เปิดตัว“กางเกงนกยูงพะเยา”คึกคักกระแสตอบรับทะลุเป้าหมาย ล็อตแรก 1,000 ตัว พร้อม ทยอยส่งมอบ 1 เมษายน นี้

นางสาวอัมพิกา อัมพุธ ประธานวิสาหกิจชุมชนแวดเวียง อ.เมืองพะเยา กล่าวถึงที่มาของ“กางเกงนกยูงพะเยา” เกิดมาจาก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแวดเวียง วิสาหกิจเพื่อการจ้างงาน และกระจายรายได้สู่ชุมชน เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รวมตัวกันใช้นวัตกรรมการออกแบบ ร่วมกันสร้างสินค้า  อัตลักษณ์พะเยา “กางเกงนกยูงพะเยา” เพื่อเป็นการผลักดัน Soft Power จังหวัดพะเยา สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 

สำหรับการออกแบบลาย “กางเกงนกยูงพะเยา” มาจากโอกาสและจุดแข็งของพะเยาตามแผนพัฒนาจังหวัดพะเยา “นกยูง”ที่เปรียบเสมือน ตัวแทนของสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ  การท่องเที่ยวแบบ แคมป์ปิ้ง กำลังมาแรงในพะเยา มีสถานที่ท่องเที่ยวที่กำลังโด่งดัง เช่น ภูลังกา อุทยานแห่งชาติแม่ปืม  ซึ่งขณะนี้มาเป็นกระแส น้ำตกอุ่นภูซาง ลายเทือกเขาผีปันน้ำ กว๊านพะเยา ปลานิล และสายน้ำอิง แสดงถึงพะเยาเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำ ลายข้าวหอมมะลิ แสดงถึงพืช GI ที่โด่งดังสร้างรายได้ให้ชาวพะเยา และลายผ้าทอดอกสารภีดอกไม้ประจำจังหวัดพะเยา 

 

นางสาวอัมพิกา  กล่าวอีกว่า  ส่วน“ลายผ้าทอ”ประจำจังหวัดที่จังหวัดได้ออกแบบมาให้กับชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้นำไปทอเป็นสัญลักษณ์ดอกไม้ประจำจังหวัดพะเยา เพื่อสร้างเศรษฐกิจรายได้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแวดเวียง ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อชุมชน อยากจะให้รายได้กลับคืนไปสู่ชุมชน โดยมีการจ้างชุมชนในแต่ละชุมชนในจังหวัดพะเยา ตัดเย็บ

"กางเกงนกยูงพะเยา”คึกคักกระแสตอบรับทะลุเป้าหมาย

อาทิ ชุมชนบ้านแม่กาโทกหวาก ชุมชนบ้านดอกบัว ชุมชนบ้านสันเวียงใหม่ ชุมชนบ้านสันป่าถ่อน เพื่อเป็นพัฒนาอาชีพ เสริมรายได้ให้กับชุมชน ตลอดจนเป็นการฝึกอาชีพสุจริตให้ผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดพะเยา และรายได้ส่วนหนึ่งมอบให้กับอุทยานแห่งชาติแม่ปืม และเป็นทุนการศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจังหวัดพะเยา เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างคน สร้างโอกาส

ประกอบกับ ประชากรในจังหวัดพะเยา ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุจะทำงานหนักไม่ได้อยู่แล้ว แต่ละบ้านมีจักรเย็บผ้ากันอยู่ และเย็บผ้าเป็นอยู่แล้ว โดยที่ว่าเราเป็นผู้ออกแบบลาย นำผ้าไปให้เค้าตัดเย็บ ไม่ต้องลงทุนอะไร แค่ลงแรงอย่างเดียว ซึ่งแม่ๆป้าๆก็พอใจเพราะว่าเค้าได้รายได้ในส่วนนี้ด้วย

สำหรับการออกแบบลายผ้า "อัตลักษณ์พะเยา"เราใช้นวัตกรรมการออกแบบให้สามารถเข้าได้กับคนสมัยใหม่ใส่ได้ทุกเพศทุกวัย ส่วนผ้าที่ใช้สั่งผ้าผืน เป็นม้วน มาจากโรงงานที่กรุงเทพ เป็นผ้าไหมอิตาลี ผ้าลื่นๆไม่ใช่ผ้าฝ้าย และไม่ใช่แบบผ้ากางเกงช้าง มาพิมพ์ลาย ตอนนี้กำลังดำเนินการจดลิขสิทธิ์อยู่ ใช้ชื่อว่า "กางเกงนกยูงพะเยา"

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า  รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  สั่งซื้อกางเกงนกยูงพะเยาเพื่อมอบให้คณะรัฐมนตรี

สำหรับสินค้า”กางเกงนกยูงพะเยา” มีทั้งเป็นกางเกง หูรูด และ เสื้อเชิ้ต มีสองสี สีขาวพื้นน้ำเงิน กับสีน้ำเงินพื้นขาว ลายเป็นขาว  กำลังการผลิตประมาณ 50 -100 ตัวต่อวัน ยอดสั่งซื้อคึกคัก เพราะว่าคนพะเยาให้ความสนใจกันมาก นอกจากนั้น ดูออเดอร์สั่งซื้อทางเพจ คนพะเยาที่อยู่ต่างจังหวัด หรือคนพะเยาที่อยู่ต่างประเทศ สั่งเข้ามาเยอะมาก เป็นความภูมิใจที่ได้ใส่กางเกงพะเยา 

โดยขณะนี้ในเพจเปิดพรีออเดอร์ ประมาณยอดสั่งซื้อประมาณ 1,000 ตัว ได้สินค้าเดือนเมษายน เพราะว่ากำลังอยู่ในช่วงการผลิต  ทยอยส่งให้ลูกค้า นัดรับนัดแรกไปเมื่อวันที่ 16 มีนาคม มีขนาด ฟรีไซส์ ไม่ถึง44 นิ้ว  พลัสไซส์ 50 นิ้ว  แบบชุด เสื้อ กับ กางเกงขาสั้น สำหรับไปใช้ในวันสงกรานต์

นางสาวอัมพิกา กล่าวอีกว่า ได้มีโอกาสนำเสนอกางเกงนกยูงพะเยา กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า  รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และท่านได้สั่งซื้อจำนวน 41 ตัวเพื่อมอบให้คณะรัฐมนตรี  ที่มาประชุม ครม.สัญจร จ.พะเยา ใส่งานเลี้ยงขันโตกตอนเย็นวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา

“กางเกงนกยูงพะเยา”คึกคัก ออเดอร์ช่วง“สงกรานต์”ทะลุเป้า

สำหรับ ลวดลาย กางเกงอัตลักษณ์พะเยา "กางเกงนกยูงพะเยา"ประกอบด้วย

"ลายนกยูง"นกยูงคอเขียว สัญลักษณ์แห่งโอกาสของพะเยา ความงดงามของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การอนุรักษ์ทรัพยากร พันธุ์พืชและสัตว์ ตลอดจนการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน วัฒนธรรม ภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า สมกับการเป็นพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้แววมยุรา แสดงถึง 9 อำเภอ ในจังหวัดพะเยา อันประกอบไปด้วยอำเภอเมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอเชียงคำ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง อำเภอจุน อำเภอเชียงม่วน อำเภอภูซาง อำเภอภูกามยาว

"ลายข้าวหอมมะลิ" ข้าวหอมมะลิพะเยา ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ปลูกในพื้นที่ลุ่มล้อมรอบด้วยเทือกเขาในเขต 9 อำเภอของพะเยา มีลักษณะพิเศษเมื่อหุงออกมาแล้วจะนุ่ม มีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย อันเป็นลักษณะเฉพาะที่หาได้ในข้าวหอมมะลิพะเยาเท่านั้น

"ลายดอกสารภี" ดอกไม้ประจำจังหวัดพะเยา ที่ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดพะเยา จุดประสงค์เพื่อเป็นต้นแบบลายผ้าทอเพื่อสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจ สร้างความยั่งยืน

"ลายกว้านพะเยา เทือกเขาผีปันน้ำ สายน้ำอิง และปลา"ที่ตั้งด้านภูมิศาสตร์ของจังหวัดพะเยา เอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตกว้านพะเยา แหล่งรับน้ำสำคัญจากเทือกเขาผีปันน้ำ เกิดสายน้ำอิง ที่เป็นสายน้ำแห่งชีวิต สร้างความอุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร