จาก "บิ๊กโจ๊ก" สู่วิกฤตศรัทธา ถึงเวลาปฏิรูปตำรวจ ลดการเมืองแทรกแซง

26 เม.ย. 2567 | 02:24 น.

พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ มองปรากฏการณ์ "บิ๊กโจ๊ก" สู่วิกฤตศรัทธา ถึงเวลาปฏิรูปตำรวจเพิ่ม ลดอำนาจนายกฯ แต่งตั้ง ผบ.ตร. ลดข้อครหาแทรกแซงทางการเมือง

ล่าสุดสถานการณ์ความขัดแย้งในวงการสีกากี ดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย โดยล่าสุด (25 เม.ย. 2567) "บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ได้เดินทางไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนกับ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ผ่านสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) ขอให้เพิกถอนคำสั่งให้ออกจากราชการ

เนื่องจากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมเปิดเผยผ่านสื่อมวลชนว่า เป็นขบวนการทำให้ตนหลุดจากเก้าอี้ ผบ.ตร. พร้อมเตือนว่าคุกรออยู่แน่นอน ท่านเหลือเวลาอีก 2 ปี ต้องสู้อีกยาวนาน

จาก \"บิ๊กโจ๊ก\" สู่วิกฤตศรัทธา ถึงเวลาปฏิรูปตำรวจ ลดการเมืองแทรกแซง

ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ อดีตรอง ผบ.ตร. และ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ เสียงเดียวที่ไม่เห็นชอบให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ขึ้นดำรงรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เมื่อถามถึงสาเหตุ พล.ต.อ.เอก เปิดเผยว่า ในหลักการการแต่งตั้งผบ.ตร.นั้น ต้องคำนึงถึงอาวุโสความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ในงานสืบสวนสอบสวน ป้องกันและปราบปราม ซึ่งในขณะนั้นพล.ต.อ.ต่อศักดิ์เป็นผู้ที่มีอาวุโสต่ำที่สุด ในบรรดาแคนดิเดตทั้ง 4 ท่าน

โดยอายุราชการปกติแล้ว จะดำรงตำแหน่งรองผบ.ตร. แล้วขึ้นสู่แคนดิเดตผบ.ตร.จะอยู่ที่ 35 ปี ในขณะที่อายุราชการของพล.ต.อ.ต่อศักดิ์มีเพียง 21 ปี และยังอยู่ในอาวุโสลำดับสุดท้าย ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลส่วนตัวที่ไม่เห็นด้วยกับการที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เสนอชื่อพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ในขณะนั้น แต่อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวได้ผ่านพ้นมาแล้ว และไม่เห็นประโยชน์ที่จะนำมา พิจารณาถึงความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ณขณะนี้ 

จาก \"บิ๊กโจ๊ก\" สู่วิกฤตศรัทธา ถึงเวลาปฏิรูปตำรวจ ลดการเมืองแทรกแซง

สำหรับข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาในการแต่งตั้ง ผบ.ตร. อันนำมาสู่สถานการณ์ในขณะนี้ และควรต้องมีการปฏิรูปตำรวจนั้น พล.ต.อ.เอก ได้กล่าวถึงความพยายามปรับปรุงกระบวนการแต่งตั้งที่ผ่านมาว่า ได้มีความพยายามผลักดัน แก้ไขอำนาจนายกฯ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งผบ.ตร. มาโดยตลอด แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ซึ่งเป็นการลดอำนาจนายกรัฐมนตรีลงจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นคือการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา โดยที่ผ่านมาเคยมีแนวความคิดว่าการบริหารงานบุคคลควรต้องปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง ดังนั้นจึงต้องพิจารณาไปที่โครงสร้างคณะกรรมการก.ตร. ซึ่งหากต้องการลดข้อครหาว่าการเมืองเข้ามาแทรกแซง นายกฯจึงควรดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติเพียงตำแหน่งเดียว 

ที่ประชุม ก.ตร วันที่ 27 กันยายน 2566

ส่วนประธานก.ตร. ซึ่งต้องทำหน้าที่แต่งตั้งผบ.ตร. ควรต้องยึดแนวทางเดียวกันกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอื่นๆเช่นศาล อัยการ คือให้บุคลากรภายในองค์กรเป็นประธานในการแต่งตั้ง ก็จะตอบโจทย์ในข้อห่วงใยเรื่องการเมืองเข้ามาแทรกแซงได้

นอกจากนั้นการคัดเลือกผบ.ตร. มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีข้อมูลตัวบุคคลที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ดังนั้นการให้นายกฯ เป็นผู้ใช้ดุลยพินิจตรงนี้ ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกข้อครหาว่ามีการเมืองเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งผบ.ตร.ได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นข้อกล่าวหามาโดยตลอด และปรากฏข้อเท็จจริงอยู่เป็นระยะๆ

แต่อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าในปัจจุบันได้มีการปฏิรูปตำรวจแล้วบางส่วน โดยผลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งถูกระบุไว้ในมาตรา 258 ข้อ ง) ว่าด้วยขบวนการยุติธรรม ให้ปฏิรูปตำรวจ และได้มีการปฏิรูปตำรวจในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ 2565 ซึ่งมีการปฏิรูปในส่วนการบริหารงานบุคคลแล้วในระดับหนึ่ง แม้จะยังไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาตำรวจได้ในทุกมิติ แต่ก็ถือว่าได้มีการปฏิรูปไปบางส่วนแล้ว

ตัวอย่างของการปฏิรูปตำรวจที่เกิดขึ้นแล้วอย่างเป็นรูปธรรม คือ การเพิ่มคณะกรรมการขึ้นมาอีก2 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) และคณะคณะกรรมการพิจารณาพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) จากเดิมที่เคยมีเพียงแค่ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เท่านั้น

จาก \"บิ๊กโจ๊ก\" สู่วิกฤตศรัทธา ถึงเวลาปฏิรูปตำรวจ ลดการเมืองแทรกแซง
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกรณีของบิ๊กโจ๊ก และแวดวงตำรวจในขณะนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนให้เกิดการปฏิรูปตำรวจอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในวงการสีกากีหรือไม่นั้น พล.ต.อ.เอก ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาเพราะ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเกิดจากการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำความผิด ซึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีและพิจารณาทางวินัย 

แต่ผลของเรื่องที่เกิดขึ้นคือวิกฤติศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรตำรวจ เพราะเป็นการกล่าวหาผบ.ตร.และรองผบ. ตร. ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับนายกฯ ในฐานะผู้รับผิดชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ว่าจะมีความคิดความเห็นเพื่อ ปรับปรุงแก้ไขไม่ให้มีปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกต่อไปอย่างไร