เอกชน ชำแหละผลงานรัฐบาล 60 วัน "เศรษฐา ทวีสิน" เร็วจริงแต่ไม่เต็ม 10 

10 พ.ย. 2566 | 03:45 น.

เอกชน ร่วมชำแหละผลงานรัฐบาล 60 วัน "เศรษฐา ทวีสิน" ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลังนายกฯแถลง ส่วนใหญ่รับทำงานเร็วแต่ยังไม่เต็มสิบ พร้อมชงข้อเสนอขับเคลื่อนนโยบายต่อเนื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงนโยบายรัฐบาลรอบ 2 เดือน “Chance of Possibility จากนโยบายสู่การลงมือทำจริง 60 วัน ภายใต้รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” โดยเน้น Quick Win 3 ประการ คือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส

“ฐานเศรษฐกิจ” สอบถามความคิดเห็นภาคเอกชนเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลเศรษฐา ครบรอบ 2 เดือน หลาย ๆ นโยบายที่ถูกผลักดันออกมาจะเปรี้ยงหรือฟุบในมุมมองของภาคเอกชน รวมไปถึงข้อแนะนำต่าง ๆ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจต่อเนื่องนับจากนี้


สอท. รับทำงานเร็ว แต่ยังไม่เต็มสิบ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า หากต้องให้คะแนนการทำงานในช่วงที่ผ่านมาของรัฐบาลเต็ม 10 คะแนน น่าจะต้องแยกออกมาเป็นหลายเรื่อง หากเป็นเรื่องของความรวดเร็วในการทำงาน และการตัดสินใจคงต้องให้คะแนนเต็ม 10 ซึ่งจะเห็นว่าการดำเนินนโยบายหลายเรื่องทำได้อย่างรวดเร็ว ทั้ง การลดค่าครองชีพ เช่น ลดค่าไฟงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 66 เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ลดราคาน้ำมันทั้งเบนซิน และดีเซลสูงสุด 2.50 บาทต่อลิตร และลดค่าโดยสารรถไฟสายสีแดง-สีม่วงเหลือ 20 บาท

 

ขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลเองก็พยายามดำเนินการอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท และเรื่องการปรับขึ้นค่าแรง และการเพิ่มรายได้ส่วนอื่น โดยน่าจะเป็นแผนที่ 2 ที่ยังไม่ได้อยู่ในช่วง 60 วัน แต่ก็มีการวางแผน และมีการหารืออย่างที่รับทราบกันมาตลอด

ด้านนโยบายเชิงรุกดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศก็ต้องถือว่าทำได้ดี และควรที่จะได้คะแนนเต็ม 10 โดยในช่วงที่ผ่านมานายกฯเดินทางไปหลายประเทศทั้งประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศคู่ค้าที่มีนักลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อไปเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในไทย ไปสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดี

ส่วนของต่างประเทศยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรก็คือเรื่องจากเจรจาให้มีการปล่อยตัวประกันชาวไทยในอิสราเอล ซึ่งถือว่ายังคงล่าช้า โดยมองว่าต้องทำให้ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่ก็ต้องยอมรับในความพยายามของรัฐบาลอย่างเต็มที่เพียงแต่ผลลัพธ์ยังไม่แสดงออกมา โดยคะแนนส่วนดังกล่าวนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 7-8 คะแนน แต่หากปล่อยตัวประกันได้แล้วทั้งหมดก็จะได้เต็ม 10

สำหรับสิ่งที่ต้องการเห็นในระยะต่อไปก็คือ การเร่งดำเนินการตามข้อเสนอที่ ส.อ.ท.ได้ยื่นหนังสือต่อนายกฯ เช่น การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อส่งเสริม Ease of Doing Business และเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจการพัฒนาบุคลากร เพิ่มผลิตภาพแรงงาน และแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งระบบ การบริหารจัดการด้านพลังงานทั้งระบบรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน การส่งเสริมการส่งออก การค้า และสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) การยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัลการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการทรัพยากรนํ้า เป็นต้น

 

ผลงานดีแค่ระดับหนึ่ง

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หากประเมินให้คะแนนผลงานรัฐบาลช่วง2 เดือนของการเข้ามาบริหารประเทศ ตนให้ 7 จากคะแนนเต็ม 10 เพราะรัฐบาลเข้ามาในช่วงที่ไม่ง่าย เป็นช่วงเศรษฐกิจขาลง และมีปัญหาให้แก้มากมาย แต่ถือว่ารัฐบาลสร้างผลงานได้ดีระดับหนึ่ง โดยผลงานที่พอใจ เช่น การลดค่าไฟฟ้า และราคาพลังงานลงทันที การออกมาตรการวีซ่าฟรีแก่นักท่องเที่ยวจีน และคาซัคสถาน และมีอีก 4-5 ประเทศตามมา หากไม่มีมาตรการนี้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจตกลง จากเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก

นอกจากนี้รัฐบาลมียุทธศาสตร์ซอฟต์ พาวเวอร์ใน 11 สาขา ที่เป็นเรื่องสำคัญต่อเศรษฐกิจยุคใหม่ในอนาคต นายกรัฐมนตรียังทำการทูตแบบเป็นเซลล์แมน โดยได้เดินทางไปพบปะกับผู้นำประเทศและผู้นำภาคธุรกิจเอกชนในต่างประเทศด้วยตัวเอง ซึ่งการพบปะและเจรจากันซึ่งหน้าแบบเป็นกันเอง ย่อมดีกว่าการใช้โทรศัพท์หรือเขียนจดหมายติดต่อกัน และรัฐบาลยังได้มีการปรับปรุงระบบคมนาคมต่างๆ ให้มีความเชื่อมต่อกันได้ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งหมดเป็นเรื่องใหญ่ๆ ที่ได้เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม

ส่วนนโยบายที่อยากเห็น ยังมีเรื่องการพักชำระหนี้เอสเอ็มอีที่รัฐบาลได้เริ่มทำต่อแล้ว แต่ต้องช่วยให้เข้าถึงสินเชื่อใหม่ได้ง่ายขึ้นด้วย การปรับปรุงแก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายที่ทำให้การประกอบธุรกิจไม่คล่องตัวที่มีอยู่นับพันฉบับ การบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือเอลนีโญ โดยเฉพาะพื้นที่อีอีซี รวมถึงสิ่งที่เป็นความท้าทายของโลกและจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประเทศไทยคือ เรื่องสิ่งแวดล้อม และการจัดการด้านพลังงานที่ต้องเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด


อสังหาฯ รับ 2 เดือนไม่ได้อะไร

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ยอมรับว่า ผลงาน 2 เดือนรัฐบาล ที่โดดเด่น คือ ดิจิทัล 10,000 บาท ที่มุ่งมั่นเดินหน้าต่อไป หากทำได้จริงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนำมาผ่อนค่างวดบ้านหรือ ซื้อวัสดุก่อสร้างจะส่งผลดี แต่ในทางกลับกันมองว่า ยังห่างไกลไม่ใกล้เคียงกับธุรกิจอสังหาฯและยังไม่สรุปเงื่อนไขออกมาที่ชัดเจน ที่เห็นผลชัดคือ วีซ่าฟรี ช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวบริการให้เติบโต ส่วนมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ คาดว่าได้เห็นในปีหน้า รวมถึงการเดินสายโรดโชว์ประเทศต่างๆ ดึงลงทุนในไทย เช่นอีอีซี แลนด์บริดจ์


แนะเร่งกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศ

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เผยว่าการทำงานของรัฐบาลในช่วงเวลากว่า 2 เดือนนี้ ในแง่ของการท่องเที่ยวถือว่าสอบผ่าน เนื่องจากรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยใช้ยาแรง โดยเฉพาะการยกเว้นการตรวจลงตรา (วีซ่าฟรี) เข้าไทย สำหรับนักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน ไต้หวัน อินเดีย ถือว่าดีมาก ๆ

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี

แต่ก็ต้องยอมรับว่าด้วยปัญหาเศรษฐกิจโลก และปัญหาเรื่องคอขวดในเรื่องของสายการบิน ที่ยังไม่สามารถกลับมาเปิดบินได้เท่าเดิม ก็อาจจะทำให้การขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะยังไม่คึกคักอย่างที่เราคาดหวังไว้ แต่ด้วยความที่ช่วงนี้เป็นไฮซีซัน ก็ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยมากขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้านี้

สิ่งที่อยากจะเห็นต่อไปจากรัฐบาลคือ การให้ความสำคัญในการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ที่ยังมีความจำเป็นมาก จึงอยากเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการให้นิติบุคคลหรือคนธรรมดา สามารถนำค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงสิ้นปีนี้มาหักลดหย่อนภาษีได้ เพื่อดึงดูดให้คนไทยเดินทางเที่ยวในประเทศมากขึ้น


ตัดสินใจเร็ว แต่ต้องต่อเนื่อง

นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า ผลงานรัฐบาลด้านท่องเที่ยวในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เบื้องต้นขอชื่นชม ความรวดเร็วในการตัดสินใจ และสร้างโอกาสให้ตลาดการท่องเที่ยว ของจีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน จากการยกเว้นวีซ่า ทำให้ผู้ประกอบการทั้งใน และต่างประเทศ ใน 4 ตลาดกลับมาคึกคัก และเรียกความเชื่อมั่นจากการตัดสินใจและปฏิบัติที่รวดเร็วดังที่ประจักษ์

อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์

ส่วนประเด็นที่ทางภาคเอกชน ต้องการนำเสนอเพิ่มขึ้น คือ เป้าหมาย นักท่องเที่ยวต่างชาติ 35-40 ล้านคนในปี 2567และ 70 ล้านคนในปี 2570 มาตรการรองรับในการทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวกระจายตัว สร้างความยั่งยืนทั้งในด้าน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม จากแผนรองรับนักท่องเที่ยวในภาพใหญ่ของประเทศอย่างเป็นระบบ

หรือ Thailand Tourism Carrier Capacity Blueprint ต้องเร่งดำเนินการ และรัฐบาลต้องบูรณาการทุกภาคส่วนมาร่วมขับเคลื่อนภายใต้แผนใหญ่เพื่อให้การกระจายตัวนักท่องเที่ยว กระจายรายได้ และลดความแออัดของนักท่องเที่ยวในเมืองหลัก รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำของรายได้จากการท่องเที่ยว

รวมทั้งทางสหพันธ์สมาคมการท่องเที่ยวไทยหรือ FETTA ซึ่งเป็น 9 สมาคมหลักของภาคการท่องเที่ยว ได้ทำหนังสือขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อต้องการนำเสนอแนวทางต่างๆ แลกเปลี่ยนข้อมูล และรับฟังนโยบายจากภาครัฐบาลโดยตรง เพื่อร่วมสร้างความเชื่อมั่นและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไปด้วยกัน


2 เดือนยังวัดอะไรไม่ได้มาก

นายปรีชา จำปี กรรมการสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวไทย กล่าวว่า ผลงานรัฐบาลรอบ 2 เดือนในเรื่องที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ยังไม่สามารถวัดอะไรได้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการออกมาตรการด้านวีซ่าฟรีมาแล้ว ทั้งจีน คาซัคสถาน ไต้หวัน และอินเดีย ซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นเรื่องการท่องเที่ยวปลายปีได้บ้าง แต่ก็ยังไม่ได้เต็มที่ โดยเฉพาะการดึงนักท่องเที่ยวจากอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดการท่องเที่ยวที่สำคัญของไทยอีกหนึ่งตลาด และกำลังมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น หากรัฐบาลมีแนวนโยบายที่เข้ามาช่วยสนับสนุนมากขึ้น เช่น การแก้ปัญหาเรื่องเที่ยวบินที่ไม่เพียงพอ การกระตุ้นตลาด การเจาะตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวอินเดียที่มีกำลังซื้อสูง

“ผลงานรัฐบาล 2 เดือนคงวัดได้ยากว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เพราะเป็นเวลาแค่สั้น ๆ อย่างเรื่องการท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนระยะยาว และหาทางสนับสนุนที่ตรงจุด โดยเฉพาะตลาดใหญ่ และตลาดใหม่ที่จะต้องเร่งหาเข้ามาเพิ่มขึ้น และเป็นตลาดที่มีคุณภาพด้วย ซึ่งศักยภาพของรัฐบาลสามารถทำได้ ขณะที่ภาคเอกชนก็พร้อมร่วมมือ และหากใช้เวลานานกว่านี้อีกสักหน่อย เช่น 6 เดือนหรือ 1 ปี ก็อาจจะประเมินผลงานจองรัฐบาลได้ชัดขึ้นว่า สำเร็จหรือไม่”