"นายกฯ"ร่วมบูมอีเวนต์ใหญ่ "งานย่าโม" คาดเงินสะพัด 250 ล้าน

22 มี.ค. 2567 | 03:41 น.

โคราชจัดยิ่งใหญ่ วันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี ขณะนายกฯ"เศรษฐา"ร่วมเป็นประธานพิธีห่มสไบย่าโม คาดเงินสะพัด 250 ล้านบาท หนุน Soft Power กางเกงแมว และสินค้า OTOP สร้างรายได้ชุมชน

นายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมจัดงานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี หรือ “งานย่าโม” ประจำปี 2567 โดยทุกภาคส่วนร่วมบูรณาการ ให้เกิดการจัดงานยิ่งใหญ่ รวมทั้งเป็นวาระสำคัญของเมืองนครราชสีมา 556 ปี

สำหรับงานย่าโม  จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 23 มีนาคม ถึง 3 เมษายน 2567  รวม 12 วัน 12 คืน โดยในช่วงเช้าของวันที่ 24 มีนาคม  2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเดินทางไปเป็นประธานประกอบพิธีเปลี่ยนผ้าสไบห่มองค์ท้าวสุรนารี เป็นผ้าสไบถัก/ปัก สีม่วง-ทอง ซึ่งถือเป็นพิธีสำคัญ 
 

การเดินทางมาเป็นประธานประกอบพิธีเปลี่ยนผ้าสไบห่มองค์ท้าวสุรนารี ของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ จะมีคณะร่วมด้วย อาทิ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม , นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้ง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ทั้ง 12 เขต  โดย นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ. นครราชสีมา  ร่วมต้อนรับ 

สำหรับผู้อยู่เบื้องหลังออกแบบและถักสไบห่ม “ย่าโม” คือนางพัชรินทร์ นพคุณางกูล ครูบำนาญโรงเรียนวัดสระแก้ว ที่ทำมาอย่างต่อเนื่องตลอด 8 ปี  เจ้าตัวยืนยันทำด้วยใจศรัทธาโดยไม่คิดเงิน ขอถวายให้ “ย่าโม” โดยใช้เวลาในการปักผ้าสไบนานกว่า 2 เดือนเต็ม ทำจากผ้าไหมที่หนากว่าผ้าไหมธรรมดา 2 เท่าและความยาวประมาณ 2.50 เมตร เนื่องจากวันที่ 23 มีนาคม 2567 ตรงกับวันเสาร์จึงเลือกใช้สีของผ้าประจำวันเป็นสีที่จะเปลี่ยนใหม่ให้องค์ย่าโม ส่วนผ้าผืนเดิมทางกรมศิลปากรจะเก็บไว้เป็นอนุสรณ์

\"นายกฯ\"ร่วมบูมอีเวนต์ใหญ่  \"งานย่าโม\" คาดเงินสะพัด 250 ล้าน

นายสุดที่รัก  พันธ์สายเชื้อ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จากการสำรวจของจังหวัดนครราชสีมาในการจัดงานปีที่ผ่านมา ซึ่งกลับมาจัดเป็นปีแรกหลังการระบาดของโควิด-19 พบว่า ผู้ที่เข้ามาเที่ยวชมงาน ส่วนใหญ่ตั้งใจมาซื้อสินค้าภายในงาน ไม่ว่าจะเป็นสินค้า OTOP อาหาร ของที่ระลึกต่างๆ รองลงมาคือ ต้องการมาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ต้องการมาดูคอนเสิร์ต ต้องการมาดูการแสดงเวทีกลาง ต้องการเล่นเกมส์หรือเครื่องเล่น และอื่น ๆ

หากดูจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2566 โดยประเมินจากการจำหน่ายบัตร ร้านนาวากาชาด และการจำหน่ายสินค้า มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมงานทั้งสิ้น 419,819 คน พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วมีนักท่องเที่ยวมา เที่ยวชมงาน ไม่ต่ำกว่าวันละ 20,000 คน 
 

สำหรับยอดรวมเฉพาะรายได้จากหน่วยงานที่รับผิดชอบในการออกบูธจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ รวมถึงการจำหน่ายสลากกาดชาด  โดยจากเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา และ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครราชสีมา และ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา  มีรายได้รวมทั้งสิ้น 18,763,799 บาท

โดยส่วนใหญ่ เป็นรายได้จากการจำหน่ายอาหารและนวดแผนไทย จำนวน 11,574,914 บาท รองลงมา คือ รายได้จากการจำหน่ายสินค้า OTOP จำนวน 5,798,105 บาท และรายได้ จากการจำหน่ายบัตรนาวากาชาดจำนวน 1,390,780 บาท

"เศรษฐา"ร่วมบูมอีเวนต์ใหญ่  "งานย่าโม" คาดเงินสะพัด 250 ล้าน

การจัดงานปีนี้ คาดว่าจะมีประชาชนเดินทางมาเที่ยวชมงานเป็นจำนวนมากไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา หรืออาจจะถึง 5 แสน คน เพราะปีนี้ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้แล้วว่าโคราชจะมีการจัดงานย่าโม  ฉะนั้นจึงคาดว่ามีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน และประเมินว่า จะมีเงินสะพัดในงานนี้ไม่น้อยกว่า 250 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสดีที่จังหวัดนครราชสีมาจะส่งเสริมเรื่อง Soft  Power  โดยเฉพาะ "กางเกงแมว"ที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก มีการต่อยอดสร้างรายได้ ทำให้เศรษฐกิจเมืองโคราชคึกคัก มีร้านจำหน่ายกางเกงแมวเกิดขึ้นหลายแห่งในโคราชทั้งตามห้างสรรพสินค้า และตามตลาดทั่วไป  มีบางคนยึดอาชีพขายกางเกงแมวเป็นอาชีพหลักก็มี  มีนักท่องเที่ยวหลายคนที่เดินทางมาโคราช พลาดไม่ได้ที่จะซื้อกางเกงแมวไปเป็นของฝาก เหมือนการซื้อหมี่โคราช หรือของฝากต่าง ๆ จากโคราช ในงานย่าโมปีนี้ จะมีการออกบูธจำหน่ายผลิตภัณฑ์นี้เช่นกัน

"ทราบว่าเรายังมีการต่อยอดเรื่องของ Soft Power โคราชเป็นเรื่อง ART Toy  รูปย่าโม เป็นผลงานของนักศึกษา มทร.อีสาน ซึ่งเป็นความคิดของเยาวชนที่สร้างชิ้นงานขึ้นมาจำหน่ายสร้างรายได้   ทำให้เมืองโคราชเป็นที่รู้จักมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ต้องมีการส่งเสริมกันต่อไป"

\"นายกฯ\"ร่วมบูมอีเวนต์ใหญ่  \"งานย่าโม\" คาดเงินสะพัด 250 ล้าน

ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เชื่อมั่นว่า การจัดงานครั้งนี้ จะกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองโคราชให้คึกคักได้อย่างมากในช่วงงานทั้ง 12 วัน 12 คืน เพราะในการจัดอีเวนต์ขนาดใหญ่ระดับจังหวัดนี้ ไม่ได้ส่งผลดีเพียงธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง แต่ยังเป็นการกระจายรายได้ให้กับหลากหลายธุรกิจที่อยู่ภายในงาน ทั้ง โอท็อป  ร้านค้าย่อย  สินค้าเกษตร   ร้านขายของฝาก คนจัดคอนเสิร์ต ศิลปิน และผู้ประกอบการร้านอาหารต่างๆ ที่จะได้รับอานิสงค์จากการจัดงานในครั้งนี้ด้วย 

ขณะที่นายวิศรุต พิศาล หัวหน้างานปฏิบัติการภูมิภาค-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ AIS กล่าวว่า  เพื่อเป็นรองรับการใช้งานของลูกค้าในช่วงงานย่าโม ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา และนักท่องเที่ยวมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทีมวิศวกรของ AIS ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้เตรียมความพร้อมด้านโครงข่ายสื่อสารระบบ 4G/5G โดยมีการติดตั้งสถานีฐานชั่วคราวเพื่อเพิ่มช่องสัญญาณ ครอบคลุมบริเวณพื้นที่จัดงานรอบลานอนุสาวรีย์ท่านท้าวสุรนารี ไปจนถึงศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา

รวมทั้งครอบคลุมพื้นที่โดยรอบพื้นที่จัดงานภายในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา มีการใช้ระบบ AI ในการออกแบบและปรับให้เครือข่ายมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อรองรับการใช้งานที่สูงขึ้น และยังมีการติดตามปริมาณการใช้งานในพื้นที่แบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานระบบสื่อสารและบริการดิจิทัลอย่างราบรื่นและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดตลอดระยะเวลาของการจัดงานเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะท่านท้าวสุรนารี

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3977 วันที่  24 – 27 มีนาคม พ.ศ. 2567