เบื้องลึก “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” ลาออกจาก รมว.ต่างประเทศ

28 เม.ย. 2567 | 10:00 น.

เปิดเบื้องหลัง “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” ลาออก จากตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ แบบฟ้าผ่า หลังจากถูกปรับออกจากตำแหน่งรองนายกฯ ในครม.ชุดใหม่ รัฐบาล "เศรษฐา ทวีสิน"

สั่นสะเทือนไปทั้งรัฐบาล ภายหลังจาก “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งเบอร์หนึ่งบัวแก้วทันที หลังจากได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็น ครม.ชุดใหม่ ภายใต้รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” แค่ไม่กี่ชั่วโมง หลังจากถูกริบตำแหน่ง รองนายกฯ เหลือแค่ รมว.การต่างประเทศ ตำแหน่งเดียวเท่านั้น

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รมว.ต่างประเทศ เปิดเผยว่า เอกสารขอลาออกจากตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ เป็นเรื่องจริง การที่ตนยื่นหนังสือลาออกเพราะต้องการรักษาหลักการให้คงอยู่ ที่ผ่านมาตนมั่นใจว่าตนทำงานในตำแหน่งรองนายกฯและ รมว.ต่างประเทศได้เป็นอย่างดี ประเทศชาติได้ประโยชน์จากงานที่ตนทำ มีผลงานออกมาชัดเจน

ขณะที่แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย เปิดเผยเบื้องลึก-เบื้องหลังกับฐานเศรษฐกิจว่า การลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร ครั้งนี้ เป็นผลมาจากรัฐบาลได้ลดตำแหน่งของนายปานปรีย์ ลงจากรองนายกฯ เหลือแค่เก้าอี้ รมว.การต่างประเทศ เท่านั้น ทำให้นายปานปรีย์ ตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกกับนายกรัฐมนตรี โดยให้มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2567

 

เหตุผลสำคัญอย่างแรก นั่นคือ การถูกปรับตำแหน่งลงจากรองนายกฯ ครั้งนี้ นายปานปรีย์ รู้สึกว่าน้อยใจ และเหมือนถูกลงโทษ เพราะรายชื่อที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ลงมานั้น เป็นการปรับรองนายกฯ ออกเพียงคนเดียว และหวยก็มาออกที่นายปานปรีย์ ทั้งที่ผลงานในช่วงที่ผ่านมาก็มีหลายเรื่องที่ผลักดันออกมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายพิชัย ชุณหวชิร กลับถูกตั้งขึ้นมาเป็นรองนายกฯ คนใหม่แทน โดย นายสุริยะ ให้ควบรองนายกฯ อีกตำแหน่งนอกเหนือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็เป็นหนึ่งในโควตาพรรค 

แต่กรณีการตั้ง นายพิชัย ขึ้นมาเป็นรองนายกฯ นั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้ง ๆ ที่นายพิชัย ก็ไม่ได้มีตำแหน่งอะไรในพรรคเพื่อไทย และยังไม่มีผลงานอะไร แต่กลับได้ตำแหน่งใหญ่ ทั้งรองนายกฯ คุมเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกระทรวงเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งของประเทศ

เหตุผลอีกอย่าง มีความเป็นไปได้ว่า นายปานปรีย์ รู้สึกว่าเป็นการปรับตำแหน่งตนเองออกกะทันหัน โดยที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการพูดคุยกันมาก่อน นั่นเพราะก่อนหน้าจะมีการปรับครม. นายปานปรีย์ เพิ่งจะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนการทำงานในช่วง 6 เดือนที่เหลือของปี 2567 โดยเฉพาะการดึงดูดนักลงทุน และงานด้านการต่างประเทศ ในฐานะรองนายกฯ ที่ดูแลงานด้านการส่งเสริมการลงทุนเป็นหลัก

ส่วนผลงานของนายปานปรีย์ ที่ผ่านมานั้น เมื่อย้อนกลับไปดูแล้ว พบว่า มีผลงานที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น การผลักดันการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ บรรจุใหม่ โดยเฉพาะผู้จบปริญญาตรี จะมีอัตราเงินเดือนแตะ 18,000 บาทต่อเดือน

เช่นเดียวกับการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการสองงวด รวมทั้งการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งการผลักดันประเทศไทย ในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD 

ขณะที่ด้านการต่างประเทศนั้น ผลงานเด่น ๆ ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางเจรจาความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ การค้า และความมั่นคงกับชาติมหาอำนาจหลายประเทศ เพื่อการดึงดูดการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เช่นเดียวกับการเจรจาเรื่องของการให้ฟรีวีซ่า ในประเทศสำคัญของไทย ทั้งจีน และอินเดีย

ประวัติ "ปานปรีย์ พหิทธานุกร"

สำหรับประวัติ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร เกิดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2500 เกิดในครอบครัวข้าราชการ โดยมีพระพหิทธานุกร ซึ่งเป็นปู่ เคยเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นทูตในหลายประเทศ ส่วนพ่อ คือนายปรีชา พหิทธานุกร ซึ่งทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ในช่วงตอนเด็ก ๆ ได้มีโอกาสเดินทางเพื่อติดตามการทำงานในต่างประเทศกับพ่ออยู่โดยตลอด

ส่วนด้านการศึกษานั้น นายปานปรีย์ พหิทธานุกร จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านนิติศาสตร์บัณฑิต ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาระดับปริญญาโท ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และจบระดับปริญญาเอก ด้านการบริหารจัดการภาครัฐ ที่ Claremont Graduate University (CGU) สหรัฐอเมริกา

เส้นทางการทำงาน หลังจบการศึกษา ดร.ปานปรีย์ ตัดสินใจก้าวสู่เส้นทางราชการ สังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยช่วงเวลานี้ ได้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีหลายคน โดยเฉพาะการมีโอกาสได้เข้าไปอยู่ในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ 

ต่อมาในสมัย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ ดร.ปานปรีย์ ก็ถูกดึงไปช่วยงานบนตึกไทยคู่ฟ้า ทำให้ได้เห็นการบริหารประเทศอีกมุม โดยพลเอกชาติชาย นอกจากมีฐานะเป็นเจ้านายในการทำงานแล้ว ยังมีศักดิ์เป็นตาของภรรยาของดร.ปานปรีย์ ด้วย จนกระทั่งเกิดเหตุการทางการเมือง หลังจากพลเอกชาติชายถูกปฏิวัติ ดร.ปานปรีย์ ก็ตัดสินใจลาออกจากราชการ ไปอยู่ที่อังกฤษกับพลเอกชาติชาย ก่อนกลับประเทศไทยมาทำงานในภาคเอกชน

จนมาถึงสมัยรัฐบาล พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ดร.ปานปรีย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ และในปี 2545 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา

จากนั้นในปี 2546 เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างปี 2546-2548 ได้รับมอบหน้าที่ให้เป็นหัวหน้าคณะเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (ประเทศอินเดีย และกลุ่มประเทศ BIMST-EC) และในปี 2547 ต่อมาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม 

ต่อมาในปี 2548 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนการค้าไทย และได้รับมอบให้ทำหน้าที่ประธานกรรมการส่งเสริมการลงทุนและการค้าภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรี ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า

จนเมื่อปี 2551 ได้ขึ้นมาเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อันดับ 1 รับผิดชอบในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และเป็นกรรมการยุทธศาสตร์พรรค จนล่าสุดได้ก้าวขึ้นมาเป็นรองนายกฯ และรมว.การต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน