เอกชนอาเซียนตื่นตัว เปิดรับแนวคิด EPR ขับเคลื่อนการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

29 มี.ค. 2567 | 10:25 น.

กระแสการปรับตัวของบริษัทผู้ผลิตสินค้า รวมทั้งผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ในระดับโลกเพื่อให้สอดรับกับแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) ที่เน้นย้ำการใช้ทรัพยกรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะพยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตในชุมชนให้น้อยที่สุด ซึ่งเริ่มจากประเทศตะวันตก แผ่ขยายเข้ามาในเอเชียรวมทั้งประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ทำให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องตระหนักและปรับตัวอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2567 บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยเบฟ และพันธมิตรประกอบด้วยซี อาเซียน (C asean) ร่วมกับเครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย (Thailand Supply Chain Network หรือ TSCN) และ ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue หรือ ACSDSD) ซึ่งยึดมั่นในหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน และคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดขึ้นจากบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่กระบวนการออกแบบไปจนถึงการจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค ได้จัดงานเสวนาวิชาการ C asean Forum (CaF) ในหัวข้อ "ASEAN Action Towards Circular Economy: Move Forward with Extended Producer Responsibility" โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลที่จะสร้างแรงบันดาลใจ และไอเดียกลยุทธ์ ที่สามารถดำเนินการเพื่อนำ หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ครอบคลุมตลอดทั้งชีวิตวงจรผลิตภัณฑ์ (EPR) มาใช้ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย 


ขณะเดียวกันยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ที่หลากหลายทั้งในสหภาพยุโรป (อียู) และอาเซียน เพื่อสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาแผนงานผสมผสานหลักการ EPR เข้ากับนโยบายระดับชาติ ตลอดจนแนวปฏิบัติในอุตสาหกรรมและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

การเรียนรู้จากแนวทางปฏิบัติของอียู 

คุณต้องใจ ธนะชานันนท์ กรรมการผู้จัดการ (MD) C Asean หนึ่งในพันธมิตรจัดเสวนาครั้งนี้ เปิดประเด็นว่า ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากร การบริหารจัดการขยะ รวมทั้งผลกระทบจากภาคการผลิตที่มีต่อสิ่งแวดล้อม กลายเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันหาทางออก โลกไม่ได้อยู่ในจุดที่จะเลือกทำ แต่จำเป็นต้องลงมือทำอย่างเร่งด่วน ต้องปรับกระบวนการคิด กระบวนการผลิต รวมไปจนถึงการบริโภค และการเก็บกลับสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์เพื่อนำไปรีไซเคิล ซึ่งประเด็นเหล่านี้ผู้ผลิตมีบทบาทสำคัญ อันนำมาสู่แนวคิด  Extended Producer Responsibility หรือ EPR เป็นการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตครอบคลุมตลอดทั้งชีวิตวงจรของผลิตภัณฑ์


การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับ EPR ในแต่ละประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญ และในแต่ละประเทศก็จะมีนโยบายเกี่ยวกับ EPR แตกต่างกันไปแล้วแต่บริบทของประเทศนั้นๆ ซึ่งการเรียนรู้จากประเทศอื่นๆ เช่นอียู ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ ทั้งในแง่การเตรียมความพร้อมและการรู้เขารู้เรา

มร.ไค ฮอฟแมน ผู้อำนวยการโครงการด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลเยอรมนี กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในหัวข้อแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับภูมิภาคอาเซียน ( Circular Economy for the ASEAN region) ว่า ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคต้องร่วมมือกันลดการทำร้ายสิ่งแวดล้อม ซึ่งในเยอรมนีนั้น ผู้ผลิตสินค้า หรือ Producer ต้องดูแลตั้งแต่การออกแบบสินค้าให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ หรือซ่อมแซมได้เพื่อให้ใช้งานได้ยาวนานมากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องดูแลรับผิดชอบในการกำจัดสินค้าใช้แล้วที่อาจเป็นพิษ เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ ยางรถ น้ำมันเครื่อง และขยะจากวัสดุก่อสร้างต่างๆ แน่นอนว่า กระบวนการบริหารจัดการอาจเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่การไม่ทำอะไรในเรื่องนี้ก็มีต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เช่นการสูญเสียในระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงไป

ดังนั้น กลไกเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงิน กองทุนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการลดหย่อนภาษีและลดค่าธรรมเนียมให้กับบริษัทผู้ผลิตที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน สำหรับเขามองว่า ประเทศในอาเซียน รวมทั้งไทย เวียดนาม ต่างกำลังเดินหน้ามาในทิศทางของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่ทั้งนี้ควรต้องมีการกำหนดเป้าหมายและขั้นตอนต่างๆ อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อที่จะสามารถเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย 

ความเคลื่อนไหวของไทยกับพ.ร.บ.บรรจุภัณฑ์ฯ

ผศ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อประเทศไทยปลอดขยะ (Circular Economy for Waste-free Thailand – CEWT) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เดินหน้าสานต่อในประเด็นการส่งเสริมแนวคิด EPR ในภูมิภาคอาเซียนว่า ประเทศไทยเองเรียนรู้เกี่ยวกับ EPR มาราว 20 ปีแล้ว สอดคล้องกับกระแสความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในอียู ซึ่งส่งผลให้มีแรงกดดันมาถึง ทำให้ไทยเองก็ต้องขยับตัวเช่นกัน 


ปัจจุบันไทยกำลังอยู่ในขั้นตอนของการยกร่าง พ.ร.บ. การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ภายใต้หลักการ EPR ที่ต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมรับผิดชอบจัดการบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นทาง คือ การออกแบบ การกระจายสินค้า การใช้งาน และช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐในการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว จากเดิมที่ตกอยู่กับระบบจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และปัจจุบันก็ยังไม่มีทรัพยากรในด้านต่างๆ เพียงพอที่จะเก็บรวบรวม และคัดแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเพื่อจัดการอย่างยั่งยืน ทั้งในการนำไปรีไซเคิล หรือทำเป็นพลังงานเชื้อเพลิง


“เราต้องติดกระดุมให้ถูกตั้งแต่เม็ดแรก การเข้ามามีบทบาทของผู้ผลิตต้องเริ่มตั้งแต่เรื่องของการออกแบบบรรจุภัณฑ์เลย ไม่ใช่มาเน้นที่การเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ไปรีไซเคิล ซึ่งเป็นปลายทางแล้ว เอกชนต้องเข้ามามีบทบาททันที ไม่ต้องรอให้รัฐนำหรือรอเงินอุดหนุนจากภาครัฐ จะช้าไป ไม่ทันการณ์”

เวิลด์แบงก์พร้อมให้ความสนับสนุนทางการเงิน

ในช่วงหนึ่งของการเสวนา คุณเรโกะ คูโบตะ วิศวกรอาวุโสด้านสิ่งแวดล้อม จากธนาคารโลก กล่าวในเรื่องกลไกสนับสนุนทางการเงินว่า ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์เอง พิจารณาให้ความสนับสนุนผู้ประกอบการหรือโครงการที่มุ่งคำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเรื่องการลดผลกระทบจากผลิตภัณฑ์พลาสติก ไทยสามารถเรียนรู้บทเรียนจากหลายๆประเทศ และธนาคารโลกเองก็พร้อมให้ความสนับสนุนทั้งด้านความรู้ การให้คำแนะนำโครงการ และความสนับสนุนด้านเงินลงทุน เช่น Blue Loan ที่ให้เงินกู้สนับสนุนโครงการที่ต้องการจะลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเล รวมทั้งให้ความช่วยเหลือในการออก Blue Bond สำหรับการระดมทุน เป็นต้น ตัวแทนจากเวิลด์แบงก์กล่าวว่า อยากให้บริษัทผู้ผลิตมองว่า การดำเนินการตามแนวคิด EPR ไม่ใช่ว่าจะสร้างภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแต่เพียงอย่างเดียว แต่ EPR ยังสามารถทำให้ผู้ผลิตมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย  


คุณปฏิญญา ศิลสุภดล รองเลขาธิการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) กล่าวเสริมเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในเรื่อง EPR ของไทยว่า เป็นเรื่องจำเป็นเนื่องจากมีแรงกดดันมาจากต่างประเทศ ยกตัวอย่างหากไทยส่งสินค้าไปยังอียูแล้วถูกตรวจพบว่าบรรจุภัณฑ์เข้าข่ายสินค้าสีแดง (ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) ก็อาจถูกปรับ หรือต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในราคาแพง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไทยได้เริ่มยกร่างพ.ร.บ.การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนแล้ว ถือเป็นการขับเคลื่อนของภาครัฐ ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนเองก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมออกแบบบทบาทและความรับผิดชอบของตนเอง ถือเป็นพลวัตที่ดี “ผมคิดว่าก่อนที่จะมาถึงภาคบังคับ (หลังมีพ.ร.บ.มาบังคับใช้) เราก็ควรมีการดำเนินการภาคสมัครใจก่อน เหมือนเป็นการทดลองระบบ” 


ด้านคุณปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เรื่องของ EPR เอกชนมีบทบาทนำ แต่รัฐก็พร้อมส่งเสริม-สนับสนุน ยกตัวอย่างเช่น ได้มีการคุยกับกระทรวงการคลัง ให้ในการจัดซื้อจัดจ้าง ช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น หากเป็นหน่วยงานของรัฐบาล ก็อยากให้สนับสนุนการจัดซื้อรถอีวี (ยานยนต์ไฟฟ้า) เป็นต้น หรือสนับสนุนการปลูกป่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น เพราะไทยเองนั้น มีความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต