ดับฝัน"ค่าไฟ" 4.25 บาท กฟผ.ยันทำตามข้อเรียกร้องเอกชนไม่ได้

04 ส.ค. 2566 | 00:58 น.

ดับฝัน"ค่าไฟ" 4.25 บาท กฟผ.ยันทำตามข้อเรียกร้องเอกชนไม่ได้ ระบุการยืดหนี้ 110,000 ล้านบาท ออกไปจาก 5 งวดไปเป็น 6 งวด จะกระทบต่อกระแสเงินสดหรือสภาพคล่องของ กฟผ.และกระทบต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ข้อเรียกร้องของภาคเอกชนที่ต้องการให้ค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค.66 อยู่ที่ระดับ 4.25 บาทต่อหน่วยนั้น คงเป็นไม่ได้ ด้วยแนวทางสำคัญคือการยืดหนี้ กฟผ.110,000 ล้านบาท ออกไปจาก 5 งวดไปเป็น 6 งวด หรือสิ้นสุดภายในเม.ย. 2568 เนื่องจากจะกระทบต่อกระแสเงินสดหรือสภาพคล่องของกฟผ.และกระทบต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิต เรทติ้ง) ของกฟผ.ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการลงทุนในอนาคตสูงขึ้น

ทั้งนี้ ล่าสุดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที (Ft) งวดก.ย.-ธ.ค. 2566 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เห็นชอบเรียกเก็บจำนวน 66.89 สตางค์ต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับลดลงจากงวดปัจจุบัน (พ.ค.- ส.ค.2566) จาก 4.70 บาทต่อหน่วย เหลืออยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย 

ปัจจุบัน กฟผ.ได้บริหารกระแสเงินสดและสภาพคล่องทางการเงินดังกล่าว ประกอบด้วย  

  • ใช้เงินกู้เพื่อบริหารสภาพคล่อง รวม 110,000 ล้านบาทแบ่งเป็น เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง เดือนพฤษภาคม 2565จำนวน 25,000 ล้านบาทและ เงินกู้เพื่อบริหารภาระค่า Ft(กระทรวงการคลังค้ำประกัน) จำนวน 85,000 ล้านบาท
  • ใช้วงเงินกู้ระยะสั้น (Credit Line) สูงสุด จำนวน30,000 ล้านบาท 
  • เลื่อนจ่ายเงินนำส่งรัฐ โดยกฟผ.มีภาระในการคืนเงินต้นเงินกู้เสริมสภาพคล่องซึ่งจะเริ่มมีการชำระยอดแรกในปี 2567 แต่ปัจจุบัน กฟผ. ได้เริ่มชำระดอกเบี้ยแล้ว ดังนั้น หาก กฟผ. ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ที่ครบกำหนดจนต้องมีการขยายเวลาชำระหนี้ออกไปจะส่งผลกระทบต่อดอกเบี้ย ต้นทุนทางการเงิน และอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิต เรทติ้ง) ของ กฟผ.

กฟผ.เองได้แบกภาระค่าเชื้อเพลิงแทนประชาชนเพื่อลดภาระค่าครองชีพในช่วงที่ผ่านมาต่อเนื่องเพราะค่าเชื้อเพลิงที่มีราคาสูงจากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทำให้กฟผ.ต้องแบกภาระรวมราว 1.5 แสนล้านบาทในช่วงปลายปี 2565 แต่ได้แบ่งการชำระหนี้คืนออกเป็น 6 งวด (2 ปี) แต่ต่อมารัฐได้ขอให้ขยายเวลาเป็น 7 งวดเพื่อช่วยประชาชน 

ดับฝันค่าไw 4.25 บาท กฟผ.ยันทำตามข้อเรียกร้องเอกชนไม่ได้ และขณะนี้ได้ทยอยใช้หนี้ไปแล้ว 2 งวดจึงเหลือ 5 งวด เพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายในเดือนเมษายน 2568 จึงต้องขอให้เป็นไปตามนี้ หากขยายไปเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสด เรทติ้งที่ไม่ดีทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้สูงส่งผลให้การลงทุนขยายระบบส่งโรงไฟฟ้าของกฟผ.ที่มีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นและอาจกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาวได้

ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองต่างๆ ได้หาเสียงถึงแนวทางการลดค่าไฟฟ้าซึ่งอาจกระทบต่อแนวทางการชำระคืนหนี้กฟผ.หรือไม่นั้น โดยค่าไฟฟ้าจำเป็นต้องสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงและยังต้องคำนึงถึงการชำระคืนหนี้ค้างจ่ายกฟผ.ควบคู่ไปด้วย ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงค่าไฟฟ้าโดยไม่มีการนำรายได้มาชำระหนี้คืนกฟผ.ก็จะได้รับผลกระทบดังที่กล่าวข้างต้น ดังนั้นเรื่องนี้จำเป็นต้องหารือในรายละเอียด

นอกจากนี้ ปัจจุบันทั่วโลกต่างมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) โดยมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เพื่อลดโลกร้อนทำให้พลังงานกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่เป็นพลังงานสะอาดมากขึ้นซึ่งไทยที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการสนับสนุนในช่วงแรกทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และลม จนเริ่มมีต้นทุนที่ต่ำสู้กับฟอสซิลได้โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์
 

อย่างไรก็ดีขณะนี้รัฐบาลได้มีโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่จะรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบ 2.20 บาทต่อหน่วย และมีการเรียกร้องให้ใช้มาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป (Net Metering) ระบบหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติจากไฟฟ้าที่ผลิตใช้เองจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาซึ่งจะมีราคาเท่าราคาขายปลีกปัจจุบันทำให้ต้นทุนค่าไฟรวมสูงขึ้นไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค

“คนที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปไฟเหลือใช้รัฐให้ขายเข้าระบบตามศักยภาพสายส่งได้ 2.20 บาทต่อหน่วย แต่จะขายเพิ่มและเพิ่มราคาขายไฟให้เท่ากับราคาขายปลีกที่ถึงมือประชาชนที่เฉลี่ยขณะนี้ราว 4.45 บาทต่อหน่วย ซึ่งกลางวันคนกลุ่มนี้ใช้ไฟถูกแต่กลางคืนไม่มีแสงแดดไปใช้ไฟในระบบที่กฟผ.ต้องลงทุนสายส่งซื้อไฟจากเชื้อเพลิงอื่นที่ต้นทุนแพงมาสำรองให้จึงไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ไม่ติดโซลาร์โดยเฉพาะคนจนที่ต้องมาร่วมแบกรับค่าไฟแพง และโครงสร้างเหล่านี้ที่ลงทุนก็ใช้ไม่คุ้มค่าซึ่งหากมีการรับซื้อไฟตามช่วงเวลาของวัน หรือ Net Billing จึงมีความเป็นไปได้มากกว่า”