เปิดแนวทางคุม"ค่าไฟ"เร่งด่วนปี 67 ไม่เกิน 3.60 บาท

16 ม.ค. 2567 | 01:22 น.

เปิดแนวทางคุม"ค่าไฟ"เร่งด่วนปี 67 ไม่เกิน 3.60 บาท หลังส.อ.ท.เตรียมยื่นหนังสือแก้ปัญหา 5 แนวทาง ชี้ระยะกลางและระยะยาวเป้าหมายค่าไฟเฉลี่ยไม่เกิน 3 บาท เน้นเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้จัดทำแนวทางเพื่อเป็นข้อเสนอให้กับภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ 2 แนวทางหลักเกี่ยวกับการดูแลราคาพลังงาน ได้แก่ 1.เร่งแก้ไขระยะเร่งด่วนเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft)เพื่อให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปี 2567 ไม่เกิน 3.60 บาท/หน่วย และ 2.การแก้ไขปัญหาระยะกลางและยาว เพื่อค่าไฟฟ้าเฉลี่ยไม่เกิน 3 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ แนวทางระยะเร่งด่วนนั้นประกอบด้วย 5 แนวทางสำคัญ ประกอบด้วย

  • การขับเคลื่อนเชิงรุก ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องวางแนวทางบริหารเชิงรุกโดยยึดประโยชน์ ค่าครองชีพของภาคประชาชน และ ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ฯลฯ ขณะที่กกพ. การพิจารณาค่า Ft ขาดการปรับปรุงข้อมูลค่าพลังงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การเปิดรับฟังความเห็นเนื้อหาเข้าใจยาก ขาดการมีส่วนร่วม จึงต้องพิจารณมให้เกิดความถูกต้อง เปิดเผยและตรวจสอบได้ เป็นต้น
  • บทบาทรัฐวิสาหกิจ ควรสร้างความเข้มแข็ง ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในทุกมิติ ช่วยดูแลด้านสภาพคล่อง เช่น ชะลอส่งเงินเข้ากระทรวงการคลัง ฯลฯ ให้กฟผ.ดูแลหน่วยงาน System Operator (S.O.) เช่นเดิม การสรรหาผู้ว่ากฟผ.ควรปราศจากการแทรกแซง ดูการสรรหาผู้ว่ากฟผ.ควรปราศจากการแทรกแซง

เปิดแนวทางคุม"ค่าไฟ"เร่งด่วนปี 67 ไม่เกิน 3.60 บาท

  • ควรแก้ไขด้านปริมาณ(Supply)ไฟฟ้าที่มากกว่าความต้องการ (Demand) ค่าความพร้อมจ่าย (AP) ควรลดมาร์จินและยืดเวลาโดยสัญญาใหม่ควรลดผลตอบแทนลง (Low risk, Low return ) ไม่เร่งปริมาณไฟฟ้าโดยทบทวนแผนพลังงานแห่งชาติ เพิ่มการใช้ไฟโดยสนับสนุนรถขนาดใหญ่ทั้งรถบันและรถบรรทุกใช้ไฟฟ้าโดยจัดทำมาตรการส่งเสริมการผลิตและการใช้
  • ส่งเสริม และปลดล็อคพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ให้สะดวกและเป็นธรรม โดยควรสนับสนุนทั้งภาคครัวเรือนและธุรกิจในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป โดยครัวเรือนควรผลักดันมาตรการทางการเงินละคลังสนับสนุน ภาคธุรกิจควรยกเว้นขอใบอนุญาตรง.4 โดยพิจารณาเฉพาะความปลอดภัยและโครงสร้างอาคาร และทั้ง 2 ส่วนควรสนับสนุนการทำ Net Billing ในราคาที่สมเหตุผล
  • ปรับโครงสร้างก๊าซธรรมชาติ(NG)เพื่อลดมาร์จิน ของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก(SPP / ลดค่าผ่านท่อก๊าซฯให้เป็นธรรม และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดหาทั้งNG และLNG(ก๊าซธรรมชาติเหลว) ทบทวนค่าผ่านท่อโดยเฉพาะท่อที่คุ้มทุนแล้ว กำหนดราคาขายก๊าซผู้ผลิตไฟฟ้าทุกประเภท (IPP SPP IPS) ให้เป็นราคาเดียวกันกับ IPP นำเข้า LNG จากประเทศที่มีราคาถูกและเพิ่มการนำเข้า NG จากพม่าให้มากที่สุด เป็นต้น

ส่วนแนวทางแก้ไขระยะกลางและยาวเพื่อค่าไฟฟ้า ไม่เกิน 3 บาทต่อหน่วย ประกอบด้วย 2 แนวทางหลักได้แก่ 

  • เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา (OCA) โดยยึดหลักความมั่นคงทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความมั่นคงเรื่องเขตแดน 
  • เร่งเปิดระบบตลาดเสรีทั้งไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติและลดผูกขาดใด ๆสำหรับการเปิดตลาดเสรีรัฐ ต้องมีระบบ Smart Grid & Smart Meter โดยเปิดให้มีการขายไฟฟ้าแบบระหว่างบุคคล( P2P) และ Net Metering เปิดให้มีการใช้โครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฯ ให้บุคคลที่สาม (TPA) ในอัตรา Wheeling Charge ที่เหมาะสมและเป็นธรรม และTPAท่อส่งปัจจุบันเหมาะกับผู้ใช้รายใหญ่ทำให้ผู้ใช้รายย่อยขาดโอกาส ฯลฯ