Data Center : สมรภูมิดึงดูดการลงทุน “ไฟฟ้าสีเขียว” อาวุธใหม่ของไทย

04 พ.ค. 2567 | 10:30 น.

ในยุคที่ความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการลงทุน "ค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว" ของไทยกำลังก้าวขึ้นมาเป็นกลยุทธ์ชั้นนำในการดึงดูดนักลงทุนทั่วโลก ด้วยการเสนอพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การแข่งขันดึงดูดการลงทุนในภูมิภาคเอเชียทวีความรุนแรงขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจที่หันมาให้ความสำคัญกับ "ความยั่งยืน" มากขึ้น บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกต่างวางกลยุทธ์การลงทุนในประเทศที่มีการดำเนินธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ "พลังงานสะอาด" ในการขับเคลื่อน "ศูนย์ข้อมูล (Data Center)" และโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่ต้องการปริมาณพลังงานมหาศาล

บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง "ไมโครซอฟท์" ได้ประกาศเป้าหมายที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2573 ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือ การเลือกลงทุนในประเทศที่สามารถจัดหาพลังงานหมุนเวียนได้ ณ จุดที่ตั้งศูนย์ข้อมูลและสำนักงาน

บริษัทชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจ Data Center  อย่าง Amazon Web Services (AWS), Google ต่างต้องการพลังงานสะอาด 100% ที่ไม่ใช่แค่จากบริษัทที่ได้รับการการันตี แต่ต้องยืนยันแหล่งที่มาของพลังงานได้ และต้องเป็นพลังงานใหม่เท่านั้น

 

ในสมรภูมิแห่งการแข่งขันดึงดูดการลงทุนจากบรรษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ "ประเทศไทย" กำลังเตรียมนำเสนอ "ค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว" หรือ Utility Green Tariff ซึ่งจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้พลังงานสะอาดจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ได้

ด้วยศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนที่สูง ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล รวมถึงนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว จึงกลายเป็นอาวุธชิ้นสำคัญที่จะดึงดูดการลงทุนจากบรรษัทเทคโนโลยีที่กำลังมองหาแหล่งพลังงานสะอาด

 

 ไฟฟ้าสีเขียว UGT (Utility Green Tariff) คืออะไร ทำไมสำคัญ 

รัฐบาลวางแผน Utility Green Tariff (UGT) เพื่อจะช่วยดึงดูดการลงทุนด้านพลังงานจากทั้งในและต่างประเทศ  ซึ่งก็คือ อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ ซึ่งจะมีการออกใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (REC Certificate) ร่วมกับการให้บริการพลังงานไฟฟ้า โดยผู้ที่ต้องการใช้บริการไฟฟ้าสีเขียวสามารถเลือกได้ 2 รูปแบบ คือ

ไฟฟ้าสีเขียว (UGT1)

จากโรงไฟฟ้าพลังงานหนุมเวียนเดิมที่รัฐเป็นเจ้าของ ซึ่งจะมีค่าบริการส่วนเพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าตามบิลค่าไฟปกติ พร้อมกับ ค่าใบรับรองการผลิตไฟฟ้าสีเขียว (REC) ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถสมัครขอรับบริการในปริมาณต่ำกว่า 1 REC ได้ (1 REC = 1,000 หน่วย) และมีระยะเวลาการขอรับบริการสั้น (0-1 ปี) เหมาะกับผู้ใช้ไฟฟ้าในปริมาณน้อย

ค่าไฟฟ้าสีเขียวสำหรับ ผู้ซื้อที่ไม่เจาะจงโรงไฟฟ้า (UGT1) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมประกาศรับซื้อ โดยกำลังร่างสัญญาซื้อขายไฟเพื่อส่งสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบให้เรียบร้อยก่อนเปิดรับซื้อ คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือน

ไฟฟ้าสีเขียว (UGT2)

จะเป็นอาวุธใหม่ดึงการลงทุนจากบริษัทชั้นนำ เป็น กลไกที่ระบุผู้ผลิตได้ เป็นแหล่งใหม่ของพลังงานหมุนเวียน กลไกนี้เตรียมการประกาศราคา โดยราคาที่ประชาพิจารณ์อยู่ที่ 4.55 บาทต่อหน่วย ซึ่งเอกชนบอกว่ายังสูงเกินไป ขณะนี้ กกพ.อยู่ระหว่างพิจารณา โดยจะพร้อมใช้ได้ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

ซึ่งจะมีอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากแหล่งที่ผู้ใช้เลือก พร้อมกับค่าใบรับรองการผลิตไฟฟ้าสีเขียว (REC) และค่าบริการระบบไฟฟ้าโดยมีสัญญาการรับบริการนาน (10-25 ปี) และมีการออกแบบโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ เหมาะสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าในปริมาณมาก

แหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียว UGT 2

กลุ่มโรงไฟฟ้าในโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 ส่วนกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ปี 2565 ผู้มีสิทธิ์ซื้อไฟฟ้า คือ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 4 , 5 หรือโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยสัญญาซื้อไฟฟ้ามีอายุ 10 ปี ผู้ซื้อจะได้รับใบรับรอง REC ที่ออกโดยการไฟฟ้าที่ลูกค้าไปซื้อ

ที่มา 

energynewscenter

กรุงเทพธุรกิจ