"เกษตรอัจฉริยะ" แห่งมณฑลฝูเจี้ยน: โอกาสความร่วมมือกับไทย (ตอน1)

29 มิ.ย. 2566 | 17:10 น.

อุตสาหกรรมการเกษตรเป็นหนึ่งในหัวจักรสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน และเป็นกุญแจนำไปสู่การขจัดปัญหาความยากจน การพัฒนา"เกษตรอัจฉริยะ"เกิดขึ้นในหลายมณฑลทั่วประเทศจีน และหนึ่งในต้นแบบน่าจับตามองคือ มณฑลฝูเจี้ยน  

 

ปัจจุบัน หลายประเทศมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา “เกษตรอัจฉริยะ” เพื่อผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรทางการเกษตรที่เหมาะสม จีน เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะที่ล้ำสมัย เพื่อรองรับความต้องการบริโภคผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ แบ่งเป็นการผลิตภายในประเทศร้อยละ 17 และเพื่อการส่งออกร้อยละ 3 กล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมการเกษตรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน และเป็นกุญแจไขความสำเร็จในการขจัดปัญหาความยากจนโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกล

ในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ย้ำถึงความสำคัญของการพาจีนไปสู่ การพัฒนาเกษตรขั้นสูงและชนบทสมัยใหม่ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรแบบครบวงจร การส่งเสริมระบบนิเวศอุตสาหกรรมการเกษตรที่ทันสมัย การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเกษตรอัจฉริยะ และการสร้างสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาทางการเกษตรที่ยั่งยืน เพื่อสร้างจีนให้เป็นประเทศแข็งแกร่งทางการเกษตรชั้นนำของโลก

ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกษตรอัจฉริยะของจีน มีความเติบโตรุดหน้าอย่างมาก ขณะที่มณฑลต่าง ๆ ได้ตอบสนองนโยบายรัฐบาลจีนกลางโดยเร่งการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะอย่างต่อเนื่อง มีการบรรจุเป้าหมายการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ฉบับที่ 14 ของมณฑล และกำหนดจุดเน้นนโยบายการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะที่สำคัญของมณฑลต่าง ๆ ดังนี้

จุดเน้นนโยบายการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะที่สำคัญของมณฑลต่าง ๆ ในจีน

 

นโยบายเกษตรอัจฉริยะแห่งมณฑลฝูเจี้ยน

ที่ผ่านมา รัฐบาล มณฑลฝูเจี้ยน ได้ส่งเสริมการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แผนพัฒนาเกษตรขั้นสูงและชนบทสมัยใหม่ ฉบับที่ 14 (ปี พ.ศ. 2564 – 2568) ของมณฑลฝูเจี้ยน โดยให้ความสำคัญกับมาตรการต่างๆ ดังนี้

  • การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการวางระบบเกษตรดิจิทัล
  • การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี Blockchain IT 5G Big Data IoT  Cloud Computing ระบบดาวเทียม และ AI ในภาคเกษตรกรรม รวมทั้งในพื้นที่ชนบท
  • การก่อสร้างสมาร์ทฟาร์มและฐานการผลิตเกษตรอัจฉริยะมากกว่า 300 แห่งทั่วมณฑล
  • การขยายพื้นที่เพาะปลูกธัญพืชมากกว่า 5.21 ล้านไร่ โดยมีพืชเศรษฐกิจหลัก เช่น ข้าว มันเทศ มันฝรั่ง และข้าวโพด
  • และการเพิ่มปริมาณการผลิตธัญพืชมากกว่า 5 ล้านตันต่อปี

ทั้งนี้ มณฑลฝูเจี้ยนตั้งเป้าจะเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่นำไปใช้ได้จริงของเกษตรกร สูงถึงร้อยละ 8 ต่อปีภายในปี พ.ศ. 2568 โดยมีการออกมาตรการสำคัญๆ ได้แก่

  • การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเกษตรอัจฉริยะ การนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนาสมัยใหม่มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ การจัดการทรัพยากรทาง การเกษตร รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกพืชไร้ดินต่าง ๆ ที่มณฑลฝูเจี้ยนมีศักยภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์เกษตร เช่น การปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics) การปลูกพืชแบบระบบ Nutrient Film Technique – NFT และการปลูกพืชแบบระบบ Dynamic Root Floating Technique – DRFT

นำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาสมัยใหม่ มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ (ภาพข่าวซินหัว)

  • การจัดตั้งศูนย์ระบบข้อมูลสารสนเทศระดับมณฑล โดยศูนย์เกษตรดิจิทัล สถาบันวิทยาศาสตร์ และการเกษตรมณฑลฝูเจี้ยน เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลสารสนเทศทางการเกษตรที่มีมาตรฐานและสามารถจัดการปัญหาผลผลิตทางการเกษตรอย่างครอบคลุมทุกมิติโดยการให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อเกษตรกรรม เช่น โรคระบาดในสัตว์และพืชสภาพแวดล้อม ปริมาณผลผลิตทางการเกษตร และข้อมูลด้านความปลอดภัยและคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร และมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลจากศูนย์ฯ ไปยังฐานการปลูกและและฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรแบบ real-time
  • การส่งเสริมเกษตรสีเขียวอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมเปลี่ยนแปลงเป็นระบบดิจิทัลของโรงเรือนเพาะปลูกพืช พื้นที่เพาะปลูกธัญพืช ฟาร์มปศุสัตว์การใช้เครื่องจักรการเกษตรอัจฉริยะ หุ่นยนต์ AI และ โดรนในการกำหนดปริมาณการให้ปุ๋ย น้ำและยาฆ่าแมลงซึ่งทำให้เกษตรกรสามารถควบคุมระดับความชื้นในพื นที่เพาะปลูกได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และช่วยลดการใช้ปริมาณปุ๋ยและยาฆ่าแมลงซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหนึ่งในการสร้างก๊าซเรือนกระจก 
  • การก่อสร้างหมู่บ้านดิจิทัลและเกษตรดิจิทัล การสร้างฐานข้อมูลการเกษตรภายใต้ชื่อ “Agriculture Cloud  131” ซึ่งมีการเผยแพร่ข้อมูลทางการเกษตรโดยผู้เชี่ยวชาญผ่านระบบออนไลน์แก่เกษตรกรกว่า 15,000 แห่งทั่วมณฑล รวมทั้งโครงการเกษตรอัจฉริยะกว่า 100 แห่งเพื่อใช้เป็นฐานการประยุกต์ใช้ IoT เพื่อการเกษตร เช่น โครงการดอกฝ้าย อัจฉริยะซึ่งใช้เครื่องมือไฮเทคต่าง ๆ อย่างดาวเทียม โดรนและเซ็นเซอร์ ในการผลิตฝ้ายตลอดทั้งกระบวนการและสามารถคำนวณค่าอุณหภูมิความชื้นสภาพความเป็นกรดด่าง และความอุดมสมบูรณ์ของดิน และตรวจสอบข้อมูลการเพาะปลูกและพัฒนาการย้อนหลังได้ เพื่อควบคุมคุณภาพ ความปลอดภัย และเพิ่มผลผลิต นอกจากนี้ ยังมี “โครงการโรงเลี้ยงไก่อัจฉริยะ Sunner” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนผู้ผลิตและแปรรูปไก่พันธุ์ White Leghorn ที่ใหญ่ที่สุดของจีน และใหญ่เป็นอันดับ 7  ของโลก โดยการใช้หุ่นยนต์และระบบดิจิทัลเพื่อเก็บข้อมูลทั้งระบบตั้งแต่กระบวนการเลี้ยง เช่น การตรวจสอบจำนวนไก่ จำนวนไข่ที่ดีและไข่แตก การคำนวณอัตราการผลิตไข่ในฟาร์มทุกวัน ระบบแจ้งเตือนความผิดปกติของสภาพแวดล้อม ภายในฟาร์ม เช่น การแพร่ระบาดของโรคในปศุสัตว์ รวมถึงการจำหน่าย ซึ่งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เฉลี่ยปีละ  3,000 หยวนต่อครัวเรือน

เกษตรกรนำโดรนมาใช้ประโยชน์ในไร่นาอย่างกว้างขวาง (ภาพข่าวซินหัว)

  • การพัฒนาขีดความสามารถของวิสาหกิจ เพื่อให้วิสาหกิจ SMEs สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิต การแปรรูปสินค้า และการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร และส่งเสริมการทำระบบฟาร์มอัจฉริยะ ผ่านการดำเนินการบ่มเพาะวิสาหกิจ และการให้เงินอุดหนุนสำหรับผู้ประกอบการที่สร้างรายได้มากกว่า  1 ล้านหยวน 5 ล้านหยวน หรือ 10 ล้านหยวนขึ้นไป

ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายการพัฒนา “คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการเกษตร” ที่มีเอกลักษณะของมณฑลฝูเจี้ยนมากกว่า 20 สาขา ได้แก่ ชา ผลไม้ปศุสัตว์และสัตว์ปีก ผัก เห็ด และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ภายในปี 2568

ในตอนหน้า เราจะได้ทำความรู้จักกับเมืองที่มีศักยภาพในมณฑลฝูเจี้ยน รวมถึงแนวทางการดำเนินงานซึ่งเป็นการร่วมมือกันกับต่างประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาในด้านการเกษตรของไทยต่อไป โปรดติดตาม

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต เป็นความร่วมมือระหว่างฐานเศรษฐกิจกับ ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ globthailand.com กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ / ข้อมูลจากสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน