EXIM BANK เตือนผู้ประกอบการไทยปรับตัว ส่งออกเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

15 ก.พ. 2567 | 09:52 น.

EXIM BANK เตือนผู้ประกอบการไทยปรับตัว ส่งออกเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม หลังไทยยังปล่อยคาร์บอนกว่า 3.78 ตันคาร์บอนต่อคนต่อปี ชี้หากก้าวสู่ ESG กำไรกว่า 2 เท่าตัว

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยในโอกาสครบรอบ 30 ปี ว่า  ปัจจุบันประเทศไทยยังปล่อยคาร์บอนสูงกว่าหลายประเทศในเอเชีย อยู่ในระดับ 3.78 ตันคาร์บอนต่อคนต่อปี สูงกว่าประเทศอื่นในอาเซียน อาทิ อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยมูลค่าส่งออกของไทยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีไม่มากนัก อยู่ในสัดส่วนเพียง 7.6% ของการส่งออกทั้งหมด

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

ทั้งนี้ ทำให้ผู้ส่งออกไทยต้องเร่งปรับตัวรับมือกับมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกที่มีมากถึง 18,000 ฉบับ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกและปรับตัวทางธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตต่อไปได้ โดยหากสามารถปรับตัวสู่การเป็นธุรกิจ ESG ได้  มีการเติบโตของรายได้ และกำไรมากกว่าธุรกิจทั่วไปกว่า 2 เท่าตัว

“ดังนั้น EXIM BANK จึงตั้งเป้าหมายเข้าไปช่วยภาคเอกชนขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ  โดยต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของไทย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเป้าหมายสู่อนาคต ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้า เคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและประมงแปรรูป และธุรกิจบริการ ซอฟท์ พาวเวอร์ ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ควบคู่กับการสร้างผู้ส่งออกไทย”

นายรักษ์ กล่าวว่า ธนาคารยังได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่สินเชื่อเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ เอ็กซิม กรีน โกล ส่งเสริมให้เอสเอ็มอีตั้งเป้าหมาย โดยเติมความรู้สีเขียว เติมโอกาสสีเขียว และเติมเงินทุนสีเขียว พร้อมสิทธิประโยชน์พิเศษ ดอกเบี้ยเริ่มต้น 3.99% ต่อปี เพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันธนาคารตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนให้เป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดภายในปี 71

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลไทยมุ่งสนับสนุนกลไกและนโยบายต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เช่น ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 50% ส่งเสริมการทำเกษตรยั่งยืนและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยการให้ความรู้เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต และหาแนวทางขยายตลาดต่างประเทศ เป็นต้น