สภาอุตฯ พร้อมยกระดับเอสเอ็มอี ก้าวข้ามโลกเดือด

25 เม.ย. 2567 | 08:48 น.

สภาอุตฯ พร้อมยกระดับเอสเอ็มอี ก้าวข้าวโลกเดือด เล็งออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน ลดภาระผู้ประกอบการ ฝั่ง “สมาพันธ์เอสเอ็มอี” แนะปรับผู้ประกอบการ-แรงงานสู่สีเขียว เพิ่มจีดีพีประเทศ ด้านอุตฯ อาหาร ดัน Biomass

ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ คณะทำงาน BCG สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) กล่าวในงานสัมมนา Go Green 2024 : The Ambition of Thailand หัวข้อเสวนาเรื่อง ธุรกิจไทยปรับตัว รับบริบทโลกร้อน ว่า สภาอุตฯ มีผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกอยู่ประมาณ 1.5 หมื่นราย ซึ่งเราตื่นตัวในเรื่องการปรับตัวสู่การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และได้ออกมาตรการหลายโครงการออกมา เพื่อลดผลกระทบทางการค้าระหว่างประเทศ และในเร็วๆ นี้จะมีความชัดเจนเรื่องมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM)

ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ คณะทำงาน BCG สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท)

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นสำคัญในเรื่องไม่กี่ปีข้างหน้าแล้ว ฉะนั้น สีเขียวเป็นเรื่องที่สำคัญ รวมทั้งการค้าระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันสมาคมโลก องค์การสหประชาชาติต่างก็ออกมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ขอให้ทุกคนช่วยกันลดอุณหภูมิโลก ไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส”

สำหรับสภาอุตฯ ก็มีแผนงานขับเคลื่อน โดยเราไม่ได้ดูเฉพาะบริษัทใหญ่ ซึ่งขณะนี้เราคุยกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) ผู้ประกอบการต่างให้ความสำคัญกับแหล่งเงินและตลาด แน่นอนว่าเรื่องการทำ Net Zero เป็นเรื่องที่มีต้นทุนสูงมาก ซึ่งจะต้องมาดูว่าการทำในเรื่องดังกล่าวจะช่วยให้การเข้าถึงต้นทุนทางการเงินที่ต่ำได้อย่างไร และจะต้องมีดัชนีวัดเพื่อเป็นตัวกำหนดเมื่อไปคุยกับสถาบันการเงิน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน การดำเนินการดังกล่าวมีความท้าทาย ยกตัวอย่าง มาตรการ CBAM ซึ่งหากบริษัทไม่ได้ลดการปล่อยคาร์บอนตามสมการที่กำหนด จะต้องจ่ายเงินตามค่าเงินคาร์บอนของยุโรป ซึ่งปัจจุบันนี้ค่าเงินคาร์บอนยุโรปสูงมาก ทั้งนี้ นอกจาก มาตรการ CBAM แล้ว อนาคตจะมีเรื่อง Global Plastics Treaty ที่กำลังจะมา และยังกำลังจะมีแคนนาดา อเมริกาที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นความท้าทายให้กับผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ สภาอุตฯ ยังมีโครงการ BCG Indicator เพื่อเชื่อมโยงมาตรการสีเขียวเข้ากับการยกระดับและขับเคลื่อนเอสเอ็มอี ให้สามารถก้าวข้ามการเปลี่ยนผ่านและสามารถเติบโตได้ในระยะยาว ทั้งยังเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ของไทย เพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจ

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ขณะนี้ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีมีจำนวนมาก แต่ละประเทศมีเอสเอ็มอีกว่า 90% ของสัดส่วนผู้ประกอบการในประเทศ จะเห็นว่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง การประชุมนานาชาติในแต่ละเรื่องมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ความเร่งด่วนของสิ่งแวดล้อมทุกประเทศให้ความสนใจ แม้กระทั่ง SCG หรือการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยทำมาได้ดี เป็นที่ 1 ของอาเซียน เป็นที่ 3 ในเอเชีย

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

อย่างไรก็ตาม Climate action ของไทยถือว่ายังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ที่ผ่านมาผลงานของภาครัฐในการขับเคลื่อน สร้างความตระหนักการเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการค่อนข้างที่จะเข้มข้น โดยคะแนนดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ (CRI) ก่อนปี 2019 ไทยมีความเสี่ยงอยู่ในอันดับที่ 9 แต่ล่าสุด ปี 2024 การจัดอันดับอยู่อันดับที่ 25

“เรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียน ไทยยังมีจำนวนค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับ 66 ประเทศ ไทยอยู่ในอันดับที่ 49 แต่เรื่องการใช้งานไทยอยู่อันดับที่ 15 อย่างไรก็ดี เราเห็นทิศทางหน่วยงานรัฐมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแผนพัฒนาประเทศ ของสภาพัฒน์ ฉบับที่ 13 ที่กำลังจะออกมาก็ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เชื่อว่าทิศทางการจัดอันดับจะดีขึ้นแน่นอนในอนาคต”

ทั้งนี้ เอสเอ็มอีทั่วประเทศไทยมีอยู่ที่ 3.2 ล้านราย โดยจำนวนดังกล่าวเป็นรายย่อยอยู่ 2.7 ล้านคน ถือว่าเยอะมาก คิดเป็น 85% ของรายย่อย  อย่างไรก็ตาม ในทางจีดีพีนั้น เอสเอ็มอีรายย่อยมีผลต่อจีดีพีเพียง 3% จ้างงาน 5.5 ล้านคน โดยเรามองว่าสิ่งที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ประเทศเกิดการยกระดับ ไม่เฉพาะผู้ประกอบการ จะต้องเป็นแรงงานสีเขียวด้วย โดยคุณภาพของแรงงานมีความจำเป็นต้องดูแล

 “คุณภาพขององค์กรอยู่ที่พนักงาน ฉะนั้น แรงงานต่างๆ จำเป็น โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของประเทศไทยมีอยู่ราว 35% ของจีดีพีทั้งประเทศ สะท้อนมุมมองได้ว่า จำนวน 35% ดังกล่าว เป็นคนเกี่ยวกับ 99.5%ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ”

นายธรรศ ทังสมบัติ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ซัพพลายเชนที่สำคัญที่สุดของเรา คือ ภาคการเกษตร ซึ่งบ้านเราเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าเกษตร สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรามีพลังงานชีวมวล (Biomass) จำนวนมาก แต่ที่ผ่านมาภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญ สำหรับ Biomass จะนำไปสู่เรื่องถ่านชีวภาพ หรือไบโอชาร์ (Biochar) ซึ่งเป็นการเผาเพื่อไม่ให้มีการเผา ลด PM 2.5 ซึ่งจะเป็นอิสระในการผลิตพลังงาน ลดต้นทุนตั้งแต่ระดับไร่นา ไปจนถึงอุตสาหกรรม ทั้งนี้ มองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย

นายธรรศ ทังสมบัติ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป