คกก.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เผย ปชช.แห่หารือ กม. PDPA แล้ว 4,884 เรื่อง

30 เม.ย. 2567 | 08:20 น.

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เปิดสถิติประชาชนหารือกฎหมาย PDPA แล้ว 4,884 เรื่องตอบข้อหารือแล้ว 4,540 เรื่องจาก ย้ำชัดประชาชนสามารถเข้าหารือได้ทุกเวลาใน 3 ช่องทาง ยื่นหนังสือ, อีเมล, โทรศัพท์และ Walk-in พร้อมเผยหน่วยงานเร่งยกระดับกระบวนการตอบข้อหารือ

พันตำรวจเอก ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  หรือ สคส. เปิดเผยว่า การบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือกฎหมาย PDPA ถือเป็นเรื่องใหม่และมีรายละเอียดที่ค่อนข้างมากสำหรับสังคมไทย

คกก.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เผย ปชช.แห่หารือ กม. PDPA แล้ว 4,884 เรื่อง

ไม่ว่าจะกับผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงประชาชนผู้เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเอง ที่อาจเกิดประเด็นข้อสงสัย ไปจนถึงความต้องการเรื่องคำปรึกษาเพื่อสร้างความชัดเจนในการดำเนินการ ตลอดจนการปฏิบัติที่ถูกต้องและสอดคล้องกับกฎหมายนั้น จึงทำให้กฎหมาย PDPA ได้กำหนดให้สามารถมีการขอคำแนะนำหรือคำปรึกษาด้านตัวกฎหมายจาก ‘PDPC หรือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.)’ ได้ตามมาตรา 44 (6) รวมถึงขอให้คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้ความเห็น ตีความหรือวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายได้ตามาตรา 16 (9) และ (10)

"การหารือด้านการใช้กฎหมาย PDPA จะเกิดขึ้นเมื่อสำนักกฎหมาย ภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้รับข้อหารือเข้ามา จาก 3 ช่องทาง ที่ประกอบด้วย รูปแบบหนังสือ, ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีเมล, ทางโทรศัพท์และ Walk-in โดยจะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติกรทำหน้ากลั่นกรองข้อมูลและความสลับซับซ้อนก่อนเป็นอย่างแรก ก่อนวิเคราะห์ข้อเท็จจริงที่ปรากฏ, นำข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาประกอบ พร้อมสรุปความเห็นเบื้องต้นที่เกี่ยวกับแนวทางการตอบ"

ทั้งนี้ สำนักงานกฎหมายจะแบ่งกระบวนการตอบข้อหารือออกเป็น 2 ระดับ ระดับที่หนึ่ง เป็นเรื่องข้อหารือที่ไม่ยุ่งยากหรือมีการวางแนววินิจฉัยไว้แล้ว เราสามารถตอบข้อหารือตามกระบวนการได้เลย ทั้ง ให้บุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญตอบทางโทรศัพท์ หรือให้คณะทำงานที่ปรึกษาตอบทางอีเมล์ เป็นต้น ส่วนในระดับที่สอง เป็นเรื่องข้อหารือที่มีความสลับซับซ้อนหรือยังไม่เคยวินิจฉัยมาก่อน ข้อหารือนั้นจะต้องนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ หรือเสนอต่อคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อดำเนินการประชุมอย่างเป็นทางการ และวินิจฉัยคำตอบที่ชัดเจนออกมา 

โดยตั้งแต่เริ่มต้น มาจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2567 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีสถิติตอบข้อหารือและให้คำปรึกษาแยกตามช่องทางที่มีการเข้ามาหารือ ดังนี้

·       รูปแบบหนังสือ หารือเข้ามาจำนวน 136 เรื่อง แล้วเสร็จ 57 เรื่อง

·       ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีเมล หารือเข้ามาจำนวน 388 เรื่อง แล้วเสร็จ 123 เรื่อง

·       ทางโทรศัพท์ หารือเข้ามาจำนวน 4,280 เรื่อง แล้วเสร็จทั้งหมด และ Walk-in หารือเข้ามาจำนวน 80 เรื่อง แล้วเสร็จทั้งหมด

ซึ่งข้อหารือที่พบมากในระยะเวลาที่ผ่านมา เช่น กรณีโดนบุคคลถ่ายรูปหรือถ่ายวิดีโอคลิป ที่เป็นข้อมูลทำให้ระบุตัวบุคคลนั้นได้โดยไม่มีการขอความยินยอมก่อน ไม่ถือว่ามีความผิดตาม PDPA หากพิจารณาได้ว่าการโดนถ่ายรูปหรือถ่ายวิดีโอคลิปดังกล่าว ‘เป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน’ แต่หากรูปหรือคลิปนั้นทำให้เกิดความเสียหายหรือละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว ผู้กระทำก็อาจมีความผิดตามกฎหมายอื่น เช่น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ได้เช่นกัน / กรณีการติดตั้งกล้องวงจรปิด สามารถแยกได้เป็น ประชาชนทั่วไปติดตั้งที่บ้านของตน หากเป็นการรวบรวมเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวของบุคคลนั้น จะได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับของ PDPA ต่างจากกรณีร้านค้า องค์กร หรือหน่วยงานที่ติดตั้งกล้องวงจรปิดในพื้นที่ ที่ต้องนำ PDPA มาใช้บังคับ เช่น ต้องแจ้งวัตถุประสงค์ของการเก็บรวบรวมข้อมูลนั้นประกาศเป็น Privacy Notice เป็นต้น

พันตำรวจเอก ดร.ศิริพล เสริมต่อว่า ในบางข้อหารือที่มีความยุ่งยากหรือมีความผูกพันกับกฎหมายหรือหน่วยงานอื่น ๆ เช่น กฎหมายข้อมูลข่าวสารทางราชการ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน หรือเรื่องกฎหมายสุขภาพแห่งชาติที่เป็นข้อมูลอ่อนไหว ที่ทาง PDPC จำเป็นต้องเชิญหน่วยงานนั้นเข้ามาร่วมประชุม เพื่อถกเถียงทางข้อทฤษฎี ร่วมค้นคว้าอ้างอิง และใช้ความรอบคอบในการพิจารณาข้อหารือให้มากที่สุด เพราะผลของคำตอบที่ได้จะนำไปสู่การรับรู้ การสร้างความเข้าใจ และลดความเสี่ยงในการทำผิดกฎหมาย PDPA แก่ประชาชนได้ในวงกว้าง

“เราสามารถคิดได้ว่าการตอบข้อหารือนี้ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เป้าหมายของการใช้กฎหมาย PDPA ประสบความสำเร็จ นั่นคือการทำให้ผู้คนตระหนักรู้ว่าข้อมูลของตนเองนั้นเป็นสิ่งสำคัญ และรู้ถึงสิทธิของตนเอง หากข้อมูลนั้นเกิดการถูกละเมิด ขณะเดียวกัน PDPC เอง ก็จะมุ่งพัฒนากระบวนการตอบข้อหารือไม่ให้มีความล่าช้า พร้อมมุ่งเน้นที่ขั้นตอนต่อ ๆ ไปควบคู่ไปด้วย เพื่อให้มั่นใจว่ากฎหมายจะได้รับการบังคับใช้อย่างจริงจัง รวดเร็ว สุภาพอ่อนโยน เสมอภาคเท่าเทียม ถูกต้องตามหลักการที่ควรจะเป็น”