สธ.สร้างเด็กไทยไอคิวเกิน 100 เร่งคัดกรองหากพบพัฒนาการล่าช้า
กระทรวงสาธารณสุข สร้างเด็กไทยไอคิวเกิน 100 ชี้ผลการคัดกรองเด็กปฐมวัย พบร้อยละ 1 พัฒนาการล่าช้าต้องได้รับการดูแลรักษาใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญ กำชับกรมสุขภาพจิต เร่งคัดกรองนำเข้าสู่กระบวนการรักษา พร้อมเน้นหนักงานส่งเสริมและป้องกันสุขภาพจิต
วันนี้(15 ส.ค.59)ที่ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จังหวัดนนทบุรี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะที่ปรึกษา ตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดคำรับรองการปฏิบัติราชการ รอบ 9 เดือน การดำเนินงานตามภารกิจ และให้สัมภาษณ์ว่า กรมสุขภาพจิตเป็นกรมที่สำคัญในการดูแลประชาชนให้มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี โดยเป้าหมายสำคัญของกรมฯคือการดูแลเด็กไทยให้มีพัฒนาการสมวัย ไอคิวเกิน 100 โดยกรมสุขภาพจิต และกรมอนามัย จะไปคัดกรองพัฒนาการ หากพบมีปัญหา จะให้การช่วยเหลือกระตุ้นพัฒนาการ ซึ่งจากการคัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัยพบว่าร้อยละ 1 มีปัญหาที่ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต โดยกรมสุขภาพจิตได้รายงานผลการปฏิบัติงานตามกลุ่มวัย ดังนี้
1.กลุ่มปฐมวัย กรมสุขภาพจิตได้ร่วมกับกรมอนามัยดูแลเด็กปฐมวัย 1.2 ล้านคน คัดกรองพัฒนาการเด็กแล้ว 9 แสนคน พบมีปัญหาด้านพัฒนาการล่าช้าประมาณ 8 หมื่นคน ได้รับการกระตุ้นพัฒนาและตรวจประเมินซ้ำยังพบพัฒนาการล่าช้า ที่ต้องได้รับการกระตุ้นพัฒนาการด้วยเครื่องมือจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้กลับมามีพัฒนาการสมวัย จำนวน 7,238 คน ทั้งนี้ ได้ร่วมกับ 4กระทรวงหลัก ตั้งเป้าจะพัฒนาเด็กปฐมวัย 4-6 ปีเพิ่มเติมเรื่องกระบวนการสร้างการเรียนรู้ก่อนเข้าเรียนให้เด็กมีความพร้อมก่อนเข้าเรียน ป.1 เป้าหมายในเด็กกลุ่มสงสัยบกพร่องด้านพัฒนาการตั้งแต่แรกเกิดและกลุ่มเสี่ยงสูง
2.ในกลุ่มเด็กวัยเรียน โรงพยาบาลชุมชน 590 แห่ง ร่วมกับโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ 1,154แห่ง คัดกรอง พบนักเรียนกลุ่มเสี่ยงปัญหาระดับสติปัญญา การเรียนรู้ ร้อยละ 18 โดยสมาธิสั้นร้อยละ 6เรียนรู้ช้าร้อยละ 8 สติปัญญาล่าช้าร้อยละ 5 ออทิสติกร้อยละ 0.78 ซึ่งการคัดกรองกลุ่มวัยเรียนตั้งแต่ ป.1 สำคัญมากถ้าคัดกรองเร็ว ได้รับการแก้ไขเร็วเรื่องการเรียนรู้จะเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนา 3.กลุ่มวัยรุ่น มีคู่เครือข่ายระบบการช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียน 851 เครือข่าย นักเรียนกลุ่มเสี่ยง 15,778 คน ทั้งปัญหาท้องไม่พร้อม สารเสพติด ความรุนแรง โดยมีความร่วมมือตามโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ สร้างกลไกระบบสารสนเทศ ร่วมกัน ป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำ การคุมกำเนิด รวมทั้งมีเทรนนิ่งออนไลน์แอพพิเคชั่นสำหรับเด็กและพ่อแม่ 4.กลุ่มวัยทำงาน มีโครงการสถานประกอบการกายใจเป็นสุข และ5.กลุ่มผู้สูงอายุ มีการดูแลโรคเรื้อรัง คัดกรองภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
“จากการตรวจตรวจเยี่ยมและรับทราบแผนการทำงานของกรมสุขภาพจิต รู้สึกมั่นใจ โล่งในว่า อนาคตคนไทย ที่ได้รับการดูแลให้มีพัฒนาการสมวัยตั้งแต่ปฐมวัยในวันนี้ จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นผู้สร้างเศรษฐกิจ ความเจริญให้ประเทศ ส่วนผู้สูงอายุให้ดูแลให้คงการมีสุขภาพที่ดี ไม่เป็นภาระของสังคม” ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าว