วันพรุ่งนี้ “มนัญญา” เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ APEC

10 พ.ค. 2565 | 11:55 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ต.ค. 2565 | 13:35 น.

“มนัญญา ไทยเศรษฐ์” เตรียม เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ APEC วันพรุ่งนี้ เดินหน้าตามนโยบายนายกรัฐมนตรีขับเคลื่อนเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ

วันนี้ (10 พฤษภาคม 2565) เวลา 13.30 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานในหลาย ๆ ด้าน เป็นสัญญาณที่ดีว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการเดินหน้าประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ มีสถานการณ์ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

 ทำให้เริ่มเปิดประเทศ เปิดกิจการ จัดงาน จัดกิจกรรมต่าง ๆ ไปสู่ความปกติใหม่ ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ตามแนวทาง “ล้มแล้วลุกไว” ที่รัฐบาลได้เตรียมการไว้ ซึ่งได้มีการติดตามนโยบายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และเตรียมมาตรการเพื่อรองรับการเปิดประเทศ เช่น การสานต่อความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การบริหารจัดการน้ำ เทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การขับเคลื่อนนโยบาย BCG การช่วยเหลือผู้ประกอบการ สินค้าชุมชน ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 50 ล้านบาท และอื่น ๆ

 

เพื่อเชื่อมต่อนโยบายรัฐบาล “กรมวิชาการเกษตร”  จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ APEC ร่วมกับ USDA และ AFSI ชุดโครงการ เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เรื่อง พันธุวิศวกรรมและการปรับแต่งจีโนมด้านการเกษตร การประยุกต์ใช้ และความท้าทาย ติดตามความก้าวหน้า การประยุกต์ใช้ และความท้าทายที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เน้นแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ความก้าวหน้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ทางการเกษตร เพื่อประโยชน์ด้านการวิจัยพัฒนา และโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ ในพรุ่งนี้ ตรงกับวันที่ 11 พ.ค. 65

 

มนัญญา ไทยเศรษฐ์

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ จะ เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ APEC ภายใต้กรอบการหารือระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร กล่าวถึงการที่ไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคในปี 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบจัดประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

อาทิ หุ้นส่วนเชิงนโยบายความมั่นคงอาหาร ความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตร โดยวิชาการเกษตรมีกำหนดจัดหารือระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรในเดือนสิงหาคมนี้ ในการที่รัฐบาลไทยมีนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูง ลดการสูญเสีย ใช้เทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์พืชสกุลกัญชา กัญชง และกระท่อม ให้มีสารสำคัญที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์สูง ทั้งนี้จากสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารของโลก มีความจำเป็นเร่งด่วนให้ทุกภาคส่วนร่วมจัดการความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ในภาคการเกษตร นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาปฏิรูปภาคการเกษตร สร้างเสถียรภาพทางอาหารอย่างปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืน

 

ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์

 

ในการนี้นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร บรรยายพิเศษ เรื่องมุมมองเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรต่อโมเดลเศรษฐกิจ BCG  ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนนำนโยบาย 3-S ความปลอดภัย (Safety) มั่นคง (Security) และ ความยั่งยืน (Sustainability) มาปฏิรูปการเกษตรและระบบอาหาร ซึ่งกรมวิชาการเกษตรให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยีชีวภาพและการเกษตรขั้นสูง

โดยมีงานวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจและสมุนไพรของไทยมากมายที่สอดคล้องกับ BCG model อาทิ การปรับปรุงพันธุ์พืชสกุลกัญชา กัญชง และกระท่อม ให้ได้สารสำคัญสูงเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรม ทั้งนี้ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเชิญชวนให้สมาชิกเขตเศรษฐกิจ APEC มาลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตร ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และภาคเอกชน ตามนโยบายเกษตรอัจฉริยะ เพื่อให้มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรครบวงจรแบบเป็นรูปธรรมตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

อย่างไรก็ตามขอเชิญชวนให้มาลงทุนที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของผลผลิตทางด้านการเกษตรโดยเฉพาะผลไม้ที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายชนิด รวมถึงการเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลผลิตทางด้านการเกษตร โดยมี BOI (Board of Investment) หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นหน่วยงานที่ช่วยส่งเสริมการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ แบบครบวงจร

 

ตั้งแต่เกษตรต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อช่วยผลักดันด้านการค้าและการลงทุน ในยุคสังคมดิจิทัล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และความมั่นคงด้านอาหาร เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตรสมัยใหม่เพื่อระบบอาหารที่ปลอดภัย มั่นคง ยืดหยุ่นและยั่งยืน