แขกพิเศษ APEC 2022 : มกุฎราชกุมาร มุฮัมมัด บิน ซัลมานฯ แห่งซาอุดีอาระเบีย

09 พ.ย. 2565 | 04:50 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2565 | 12:05 น.

หนึ่งในแขกพิเศษของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค หรือ APEC Economic Leaders’ Meeting 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. นั้น ก็คือ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรี แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

 

เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรี แห่ง ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ได้รับเชิญมาเป็นแขกพิเศษของการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Meeting 2022) ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.นี้ ในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างทั้งสองฝ่ายกำลังฟื้นฟูอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการค้า-การลงทุนระหว่างไทย-ซาอุฯ ที่กำลังขยายตัวในหลายมิติ 

 

การมาเยือนของพระองค์ในครั้งนี้ ยังจะยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย ผ่านการลงนามเอกสารสำคัญ 3 ฉบับที่ครอบคลุมถึงความร่วมมือด้านการเมือง-ความมั่นคง เศรษฐกิจหลากหลายสาขารวมทั้งพลังงาน วัสดุก่อสร้าง สินค้าอุปโภคบริโภค ค้าปลีก การส่งเสริมการลงทุนโดยตรงระหว่างกัน รวมทั้งการเปิดโอกาสสำหรับแรงงานไทย ฯลฯ 

 

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับมกุฎราชกุมารพระองค์นี้ ผู้นำมาซึ่งความเป็นไปได้และโอกาสใหม่ๆ ภายใต้บรรยากาศแห่งการฟื้นฟูความสัมพันธ์

 

เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด

 

เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด หรือที่สื่อนานาชาติรู้จักพระองค์ในนามอักษรย่อสั้นๆว่า MBS หรือ MbS (มาจากอักษรย่อพระนามในภาษาอังกฤษ Mohammed bin Salman นั่นเอง) ประสูติเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1985 (พ.ศ.2528) พระชนมายุ 37 พรรษา เป็นพระโอรสองค์โตของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด (พระมหากษัตริย์ซาอุดีอาระเบียองค์ปัจจุบัน) พระราชมารดาคือ ฟาห์ดาห์ บินท์ ฟาลาห์ บิน ซัลตาน พระชายาองค์ที่ 3

 

เจ้าชายในฐานะมกุฎราชกุมาร ทรงงานในหลายหน่วยงานของประเทศก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาพิเศษของพระบิดา ที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการกรุงริยาดเมื่อปี 2009

 

เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมานฯ (ซ้าย) กับพระราชบิดา สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ (ขวา)

เส้นทางก้าวสู่อำนาจของพระองค์เริ่มแต่ปี 2013 หนึ่งปีหลังจากที่พระบิดาได้รับการสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมาร เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมานฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าสำนักงานมกุฎราชกุมาร เทียบเท่าตำแหน่งรัฐมนตรี

 

ต่อมาในเดือนมกราคม 2015 กษัตริย์อับดุลลาห์ บิน อาซิซ สิ้นพระชนม์ ส่งผลให้มกุฎราชกุมารซัลมาน (พระบิดาของเจ้าชาย MBS) ขึ้นครองราชย์แทน และทรงแต่งตั้งเจ้าชายดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

 

ผลงานชิ้นแรก ๆ ของพระองค์ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม คือการส่งกำลังทหารเข้าไปในเยเมนร่วมกับชาติอาหรับอื่น ๆ เมื่อเดือนมีนาคม 2015 หลังจากที่กลุ่มกบฏฮูธี ที่ถือว่าเป็นตัวแทนของอิหร่านเข้ายึดเมืองหลวง "ซานา" ของเยเมน และขับไล่ผู้นำประเทศให้หนีไปต่างแดน

 

การสู้รบที่ยืดเยื้อมากว่า 6 ปี ทำให้ชีวิตของพลเรือนชาวเยเมนหลายล้านคนตกอยู่ท่ามกลางอันตรายจากภัยสงคราม และเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารรุนแรงจากการที่ฝ่ายพันธมิตรใช้วิธีการปิดล้อมพื้นที่ยึดครองของกลุ่มกบฏและโจมตีทางอากาศอย่างต่อเนื่อง มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 2.33 แสนคน ซาอุดีอาระเบียในเวลานั้นและชาติพันธมิตรถูกกล่าวหาว่า ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ 

 

ณ เวลานั้น พระองค์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่อายุน้อยที่สุดในโลก ต่อมาในเดือนเมษายน 2015 เจ้าชายได้รับการแต่งตั้งเป็นรองมกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีลำดับ 2 และประธานสภาเศรษฐกิจและการพัฒนา

 

ในปีต่อมา (2016) พระองค์ประกาศแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ของซาอุดีอาระเบีย เรียกว่า "วิสัยทัศน์ 2030" (Vision 2030) มุ่งหมายให้ประเทศซาอุฯ ยุติ "การเสพติด"น้ำมัน โดยทรงตั้งเป้ารายได้ของประเทศที่ไม่ได้มาจากน้ำมันให้เพิ่มขึ้นหลายสิบเท่าภายในช่วง 15 ปี รวมทั้งปรับหลักสูตรการศึกษา เพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีในภาคแรงงานที่มีชายเป็นหลัก และลงทุนในธุรกิจบันเทิงเพื่อสร้างงานให้คนหนุ่มสาว

 

บทบาทหน้าที่และการทรงงานของพระองค์ ทำให้มีผู้กล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นอำนาจเบื้องหลังราชบัลลังก์ของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานพระราชบิดาอย่างแท้จริง

 

มกุฎราชกุมารกับ 'วิสัยทัศน์'และ 'ทิศทางเศรษฐกิจใหม่' 

เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด ได้รับแต่งตั้งเป็นมกุฎราชกุมารในเดือนมิถุนายน 2017 หลังพระบิดาทรงตัดสินพระทัยถอด 'มุฮัมมัด บิน นาเยฟ' หลานชายของพระองค์ที่เคยดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมาร ออกจากทุกตำแหน่ง ทำให้เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมานฯ ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นรัชทายาทโดยชอบธรรม ต่อมาปลายเดือนกันยายนปีนี้ (2022) เจ้าชายทรงได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี (จากก่อนหน้านี้ที่ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 และรัฐมนตรีกลาโหม

 

หลังจากที่พระองค์ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารนั้น ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลายระลอกในราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เช่น งานรื่นเริงต่างๆ ที่เคยถูกห้ามไม่ให้ประชาชนจัดอย่างเด็ดขาดตามกฎหมายจารีตของอิสลามก็ได้รับอนุญาตให้จัดได้ โรงภาพยนตร์ที่ไม่เคยมีมา ก็ผุดขึ้นเกือบ 400 แห่งอย่างรวดเร็ว รวมถึงการให้สิทธิมากขึ้นแก่สตรี เช่น หน่วยงานของรัฐที่ไม่เคยเปิดรับสตรีเข้าเป็นข้าราชการก็เปิดรับมากขึ้น สตรีมีสิทธิในการเลือกตั้งรัฐบาลท้องถิ่น และมีสิทธิในการทำใบขับขี่ เป็นต้น

 

ห้างร้านและบริษัทต่างๆ จดทะเบียนตั้งขึ้นเป็นทวีคูณ สนามแข่งรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้น มีกิจกรรมการแข่งรถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างคึกคัก และได้รับความสนับสนุนจากสมาชิกราชวงศ์

 

มกุฎราชกุมาร MBS ทรงส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยวในราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ และการมาเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ พระองค์ก็ทรงนำโอกาสและความร่วมมือใหม่ๆ ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนของทั้งสองประเทศมามอบให้เพื่อเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองราชอาณาจักรเข้าสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง

 

ในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปีนี้ (25 ม.ค.) ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมานฯ ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางในการส่งเสริมและเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองราชอาณาจักร โดยการแสวงหาโอกาสในด้านการลงทุนและอื่นๆ ในบริบทของวิสัยทัศน์ ค.ศ 2030 ของซาอุดีอาระเบีย และวาระการพัฒนาแห่งชาติของไทย

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบกับมกุฎราชกุมาร เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน เมื่อครั้งเยือนซาอุดีอาระเบียในเดือนม.ค.2565

 

กล่าวคือ นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio–Circular–Green Economy) อันเป็นประเด็นหัวใจสำคัญของเอเปค 2022 ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะแสวงหาความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ อาทิ พลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนา และความมั่นคงทางไซเบอร์ด้วย