“ชะลอม” แรงบันดาลใจสู่โลโก้เอเปค 2022 จากการออกแบบของนายชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากภาชนะจักสานไม้ไผ่ ที่สะท้อนถึงความเป็นไทย ตัวตนของเอเปค ทั้งยังสื่อถึงหัวข้อหลักของการประชุมครั้งนี้ คือ
OPEN เป็นภาชนะปลายเปิด สื่อถึงการค้าที่เปิดกว้าง CONNECT ชะลอมใช้ใส่สินค้าข้าวของเดินทางสื่อถึงความเชื่อมโยง และ BALANCE ทำจากวัสดุธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy-BCG)
จึงออกแบบให้เส้นตอกไม้ไผ่สานกันเป็นชะลอม 21 ช่อง สื่อถึง 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิก
เอเปค สีเส้นตอก 3 สี ได้แก่ สีน้ำเงิน สื่อถึงการเปิดกว้าง สีชมพู สื่อถึงการสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง และสีเขียว สื่อความสมดุลระหว่างกัน
“อาหารไทย”บนจานผู้นำ
อีกหนึ่งไฮไลต์เอเปค 2022 คือ งานเลี้ยง “กาลาดินเนอร์”ค่ำวันที่ 18 พ.ย.นี้ เพื่อต้อนรับผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจพิเศษ ณ หอประชุมกองทัพเรือ ซึ่งเมนูหลักจะนำเสนอ “อาหารไทย” ไฟน์ ไดนิ่ง ซึ่งรังสรรค์โดย “เชฟชุมพล” หรือ “ชุมพล แจ้งไพร” เซฟระดับมิชลิน ที่จะมาในธีมอาหาร “Sustainable Thai Gastronomy”
เชฟชุมพล เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมนูที่จะเสิร์ฟผู้นำเอเปค จะประกอบไปด้วย อะมูสบุช กระทงทองคาร์เวียร์ โครงการหลวงดอยอินทนนท์, แอพเพอไทเซอร์ อาหารไทย 4 ภาค พอดีคำบนแผนที่ประเทศไทย,สลัดยำใหญ่ผักออร์แกนิคไก่บ้าน กุ้งมังกรภูเก็ตเจ็ดสี
เมนคอร์ส ข้าวหอมมะลิใหม่ทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวไรซ์เบอรี่ มัสมั่นเนื้อโคราชวากิว ปลาเก๋ามุก ต้มข่าเอสพูม่า สตูว์ผัก แพลนท์เบส ของหวาน ผลไม้ไทย, ชาเฟลอดูนอร์ท ยอดกาแฟเมืองน่านเปติโฟร์,ขนมหม้อแกงเผือกภูเขาหอมมิลเฟย กับ ไอศครีมเชอร์เบทเสาวรสน้ำผึ้งดอกลำไย รวมไวน์แพร์ริ่งจาก กราน มอนเต้ เขาใหญ่,วิลเลจฟาร์ม วังน้ำเขียว และ PB valleys เขาใหญ่ ทุกอย่างเป็นผลผลิตในประเทศไทยทั้งหมด
โดยเชฟชุมพลจะรับผิดชอบดูแลอาหารสำหรับผู้นำ 50 คน ขณะที่ “นายเลิศ ปาร์ค” จะรับผิดชอบคณะรัฐมนตรี และวีไอพี อีกราว 300 คน รวมใช้เชฟราว 100 คน ทีมเซอร์วิสราว 150 คน และ ทีมงานอื่นๆ อีกราว 50 คน
ด้านนายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด เผยว่า ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่ มีความพร้อมทุกๆ ด้านสำหรับรองรับการประชุมเอเปค 2022 ทั้งในด้านพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวก ที่เพียบพร้อมครบครัน สามารถรองรับการจัดงานระดับโลก ด้วยพื้นที่ 300,000 ตารางเมตร และเทคโนโลยีทันสมัย ตอบโจทย์ทุกรูปแบบการจัดงานอย่างยั่งยืน ด้านการบริการที่ครบวงจรด้วยมาตรฐานสากล ทั้งความปลอดภัย สุขอนามัยและโภชนาการ ด้วยบุคลากรที่มีความเป็นมืออาชีพ มากด้วยประสบการณ์ในการจัดงานระดับโลก
ของที่ระลึก 7 ชิ้น
ขณะที่การจัดเตรียมของที่ระลึกผู้นำเอเปค จะมีทั้งหมด 7 ชิ้น ได้แก่ 1.ภาพดุนโลหะ จากชุมชนวัดศรีสุพรรณ หรือวัดวัวลาย จ.เชียงใหม่ 2,กล่องใส่เครื่องประดับเป็นภาพดุนโลหะเหมือนกันและจากที่เดียวกัน สำหรับคู่สมรส ทั้งนี้ โลหะเป็นวัสดุรีไซเคิล
3.ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมทอมือย้อมสีธรรมชาติจาก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา พิมพ์ลายตราสัญลักษณ์ชะลอม อาทิ เนคไท ผ้าคลุมไหล่ ผ้าเช็ดหน้าและ หน้ากากผ้า
4.-5.ของขวัญที่ระลึกจากหน่วยงานคณะอนุกรรมการด้านพิธีการ อีกสองรายการ คือ สมุดรายนามผู้ผลิตผ้าไหม และผู้ประกอบการทั่วประเทศ ฉบับพิเศษ โดยสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ
6.เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ที่จัดทำโดยกรมธนารักษ์
นายภควัต ตันสกุล อธิบดีกรมพิธีการทูต กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะพระราชทานกรอบรูปถมเงิน ในนั้นจะใส่รูปผู้นำครั้งเข้าเฝ้าฯ ซึ่งจะมอบให้ภายหลัง อีกทั้งจะพระราชทานกล่องลิเภาเลี่ยมขอบเงิน
หยุดราชการ-ปิดถนน
เพื่อลดปัญหาจราจร และอำนวยความสะดวกการเดินทาง เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัย ครม.มีมติให้ 16-18 พ.ย. 2565 เป็นวันหยุดราชการพิเศษ เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ พร้อมทั้งปิดการจราจรเส้นทางรอบศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยให้งดใช้เส้นทาง (ชั่วคราว) ถ.รัชดาภิเษก หน้าศูนย์ประชุมฯ ตั้งแต่แยกอโศกมนตรี-แยกพระราม 4 และถนนดวงพิทักษ์ ตลอดสาย ตลอด 24 ชม ผู้พักอาศัย-ผู้ประกอบการถนนรัชดาฯ ที่จะนำยานพาหนะเข้าออกต้องทำบัตรผ่านฯเท่านั้น งดใช้สวนเบญจกิติ
รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) งดจอดสถานีศูนย์การประชุมฯ จนกว่าการประชุมเสร็จสิ้น จัดรถบริการรับส่ง (shuttle bus) 6 คัน ไว้รองรับ ส่วนช่วงค่ำ 18 พ.ย.2565 มีงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์ ที่หอประชุมกองทัพเรือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีการเดินทางผู้นำหลายเส้นทาง ขอความร่วมมืองดใช้รถใช้ถนนเส้นทางที่เกี่ยวข้อง ปิดการจราจรทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา
-ตำรวจ2หมื่นนาย"ผิดพลาดเป็นศูนย์"
จากที่จะมีผู้นำถึง 23 ประเทศ รวมถึงผู้นำองค์กรต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมเอเปค 2022 จึงเป็นเวทีระดับโลก รัฐบาลสั่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด มอบหมายพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อน
รับผิดชอบหลักด้านการรักษาความปลอดภัย ทั้งบุคคล สถานที่พัก สถานที่ประชุม งานเลี้ยงรับรอง และเส้นทางการเดินทาง การจัดขบวนรถผู้นำเขตเศรษฐกิจ และพิธีการคนเข้าเมือง ตลอดจนการสืบสวน ติดตามสถานการณ์ด้านข่าว
ยังมีการตั้งจุดตรวจจุดสกัด การบริหารจัดการชุมนุมสาธารณะ การต่อต้านการก่อการร้าย การตรวจหาวัตถุต้องสงสัย การรักษาความปลอดภัยสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ การเตรียมความพร้อมของชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด(อีโอดี) การเตรียมความพร้อมชุดปฏิบัติการพิเศษทางยุทธวิธี กรณีเผชิญเหตุกรณีเหตุฉุกเฉินและเหตุการณ์วิกฤตต่าง ๆ ตามแผนรักษาความสงบของ ตร.
จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความปลอดภัยอาคารสถานที่ รอบบริเวณพื้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และบริเวณโรงแรมที่พักจำนวน 19 โรงแรม ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งการปฏิบัติของชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด หรือ EOD การตรวจวัตถุต้องสงสัยของสุนัขตำรวจหน่วย K-9
และปฏิบัติการต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ ของชุด Anti-Drone โดยระหว่าง 16-21 พ.ย.2565 กำหนดพื้นที่กทม. เป็นเขตห้ามบินอากาศยาน (No fly zone) โดยเฉพาะอากาศยานไร้คนขับ และอากาศยานที่ไม่ได้รับอนุญาตให้บิน โดยชุดแอนตี้โดรน จะเข้าดำเนินการทันทีที่พบ
รวมถึงจัดตั้งกองอำนวยการร่วม อำนวยการ ควบคุม สั่งการการปฏิบัติตลอดภารกิจ โดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 20,000 นาย พร้อมหน่วยสนับสนุนอีก กว่า 30 หน่วย ควบคู่กันสั่งตำรวจทั่วประเทศ ระดมกวาดล้างปราบปรามความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน ยาเสพติด หมายจับค้างเก่า” ตรวจตราด่านพรมแดนและช่องทางธรรมชาติ ระดมงานข่าว เพื่อสร้างความเชื่อมั่น
นับเป็นการเป็นการระดมสรรพกำลัง อุปกรณ์ เครื่องมือเทคโนโลยีที่ทันสมัยทั้งภาคพื้นดิน อากาศ ไซเบอร์ ถูกนำมาใช้เพื่อปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้เป้าหมาย"ความผิดพลาดเป็นศูนย์"
หน้า1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,835 วันที่ 13-16 พฤศจิกายน พ.ศ.2565