APEC : เจ้าภาพได้อะไร ... จริง ๆ

17 พ.ย. 2565 | 01:11 น.

ณ นาทีนี้ไม่มีคนไทยคนไหนไม่รู้จัก APEC หรือ ASIA-Pacific Economic Cooperation ที่ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในระหว่างวันที่ 14–19 พฤศจิกายน 2565

ซึ่งผู้นำเขตเศรษฐกิจจะประชุมกันในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งก่อนหน้านั้นก็จะมีการประชุมเตรียมการในระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติ ภาคเอกชน และรัฐมนตรีเพื่อเตรียมงานให้ผู้นำหารือกันในสองวันสุดท้าย ซึ่งจริง ๆ แล้ว งานทั้งหมดเสร็จมานานหลายเดือนแล้วก่อนผู้นำจะเจอกันเสียอีก 

 

APEC มีความหมายตามชื่อว่าเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ในเอเชีย

 

และริมมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเริ่มตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ที่ประเทศออสเตรเลีย โดยมี 12 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วม (เรียกเขตเศรษฐกิจก็เพราะฮ่องกงและไต้หวันที่เข้าร่วม APEC นั้นไม่มีฐานะเป็นประเทศ

 

อย่างน้อยก็ไม่ให้มีปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ) แต่ต่อมาขยายเป็น 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งก็มีวัตถุประสงค์แบบสวย ๆ งาม ๆ คือ เพื่อส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคี สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก ด้วยการลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางด้านการค้า การค้าบริการ

 

และการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก โดยให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์กรการค้าโลก

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเงินและการคลังในการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมาก็มีหลายเรื่องเดินหน้าไปตามความพยายามของประเทศผู้เสนอประเด็นนั้น ๆ ว่าจะมีแรงผลักดันได้มากน้อยขนาดไหน

 

ซึ่งก็ไม่ง่ายนักที่ 21 เขตเศรษฐกิจที่มีศักยภาพและความสนใจที่ต่างกันจะตกลงเป็นเอกฉันท์ได้ จนต้องหาทางลัดโดยการตั้งวงแยก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ CPTPP

 

หากใครพอจำได้ว่า CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) ถูกตั้งขึ้นมาก็เพราะสมาชิก APEC คุยกันเรื่องเปิดการค้าเสรีไม่จบสักที สหรัฐอเมริกาและพรรคพวก 12 ราย ออกมาตั้งวง CPTPP ขึ้นมาคุยเรื่องการเปิดเสรีการค้าใน  APEC บางส่วนก่อน เพื่อหวังจะใช้เป็นตัวเร่งการเปิดการค้าเสรีในเขตเศรษฐกิจ APEC ทั้งหมด

 

APEC : เจ้าภาพได้อะไร

ปรากฏว่า 11 เขตเศรษฐกิจตกลงร่วมกันตั้ง CPTPP ขึ้นมาได้ มีรายเดียวที่คุยกับเขาตอนเริ่มต้นแต่ไม่ยอมร่วมด้วย คือ ประเทศไทย ของเรา และยังไม่เข้าร่วมจนกระทั่งสหรัฐอเมริกาถอนตัวในยุคนายทรัมป์ในปี 2560

 

การเป็นเจ้าภาพ APEC มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หากมองด้วยใจที่เป็นกลางจริง ๆ โดยไม่เอาใจใส่พวกการเมืองที่มีวิธีการวิเคราะห์ผลได้เสียไม่เหมือนคนทั่วไป เพราะการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ใช่ว่าจะเป็นครั้งแรกของเรา เพราะในปี 2535 และ 2546 เราก็เคยเป็นเจ้าภาพ APEC มาแล้ว

 

แต่ประเด็นสำคัญที่เราต้องใช้งบมากมายแต่ละครั้งนั้นเราได้อะไร ซึ่งในครั้งนี้ก็เหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา 

รัฐบาลแต่ละยุคก็จะเสนอธีมสวยงามที่เป็นนโยบายของรัฐบาลยุคนั้นเป็นตัวตั้ง ซึ่งจะได้ตามนั้นหรือไม่ก็พอรู้ว่าเรื่องนั้น ๆ ไปได้ดีหรือไม่ ไม่ใช่เพราะการเป็นเจ้าภาพ APEC แต่เป็นความต่อเนื่องและความยั่งยืนของนโยบาย

 

ในสภาวะที่รัฐบาลไม่ต่อเนื่องและไม่ยั่งยืน ซึ่งธีมที่ว่า “โลกแห่งความแตกต่าง หุ้นส่วนเพื่ออนาคต” ซึ่งพยายามร่วมมือผลักดันการเจรจาใน WTO หลังจากรอบเจรจาโอฮาของ WTO ล้มเหลว และจนวันนี้ยังไม่ไปไหน จะว่าล้มเหลวก็ไม่ผิด เพราะสหรัฐอเมริกาก็เปลี่ยนไปตามนโยบายผลประโยชน์ของตนเอง

 

ส่วนของไทยนั้นก็ยังไม่ไปไหนและไม่มีนโยบายเชิงรุกใน WTO ที่จริงจังใด ๆ แต่สิ่งที่เราได้วันนั้น คือเราทำให้ทั้งโลกรู้จักไทยในมุมต่าง ๆ มากขึ้นผ่านสื่อที่ตามผู้นำตนเองมาทำข่าวในประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะวัฒนธรรม วิถีชีวิต การท่องเที่ยว ฯลฯ 

 

การประชุมครั้งนี้ประเทศไทยเสนอ BCG Model ซึ่งดูตามหลักการแล้วก็สอดคล้องกับหลักการ SDG: Sustainability Development Growth ของสหประชาชาติ ซึ่งกำลังถูกถอดออกมาเป็นมาตรการในทุกมิติ

 

รวมทั้งมติการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งผลสำเร็จนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติทั้งภาครัฐที่จะกำหนดให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันภาคเอกชนก็ต้องตอบสนองภายใต้แรงจูงใจทางธุรกิจที่เหมาะสมด้วย

 

ซึ่งมีนักวิชาการหลาย ๆ คนก็ออกมามองว่าในการเป็นเจ้าภาพ APEC ครั้งนี้จะช่วยให้โลกรู้จัก ยอมรับ และชื่นชมว่าเราให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน และมีมาตรฐานสากล ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น

 

ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนตามแบบสากล ซึ่งก็ไม่ผิดที่คิดอย่างนั้น แต่ความสำเร็จนั้นยังมีปัจจัยความสำเร็จอีกมากมายที่ต้องทำระหว่างทางและไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่ก็ไม่ผิดที่คิดให้ใหญ่และหวังให้ไกลในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้
แต่หากมองในระยะสั้น สิ่งที่เราสามารถใช้ประโยชน์ในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ได้ คือ 

 

1.โปรโมทประเทศโดยใช้ Soft power ในมิติต่าง ๆ ทั้งของการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ผ่านการนำเสนออาหาร เครื่องดื่ม และผลไม้ ที่ใช้เลี้ยงผู้เข้าร่วมประชุม หรือการแสดง กิจกรรมนำเที่ยว และดูงานของผู้ติดตามต่าง ๆ ซึ่งเรื่องนี้ทุกประเทศเขาก็ทำกัน หลังจากการประชุม APEC ครั้งนี้ผมเชื่อว่าโลกจะได้รู้เรื่องอาหารไทย ผลไม้ไทย เครื่องดื่มไทย วัฒนธรรมไทย ในรูปแบบที่สร้างสรรค์ ที่แม้แต่คนไทยบางคนอาจไม่เคยคิดว่าบ้านเรามีของแบบนี้ด้วยหรือ

 

โดยเฉพาะ “กรานมอนเต้” ไวน์ไทยจากอโศกวัลเลย์ นอกเหนือจากไก่เบตง เนื้อโพนยางคำ ปลากุเลาเค็มตากใบ และข้าวซอยหมี่กรอบล้านนา ที่ดังอยู่แล้ว แถมยังมีของหวาน เช่น ช็อกโกแลตเชียงใหม่ไส้บรั่นดีไทยกระชายดำ ฯลฯ ที่ได้ขึ้นโต๊ะผู้นำ APEC ซึ่งจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมอาหารที่โด่งดังอยู่แล้วให้ไปไกลและหลากมิติมากขึ้น รวมทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการสร้างสรรค์บนฐานวัฒนธรรมของไทยได้อย่างมาก

 

2.จัดเวทีการประชุม ABAC ให้เกิดประโยชน์ในการจับคู่ธุรกิจ การสร้างสายสัมพันธ์ธุรกิจให้กับภาคเอกชนจากประเทศต่าง ๆ ที่มาประชุมในครั้งนี้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เราจะต้องไม่ให้ปล่อยมีแค่การแสดงวิสัยทัศน์ ความรู้ มุมมองธุรกิจ ของเอกชนยักษ์ใหญ่ประเทศต่าง ๆ เท่านั้น แต่ต้องให้มีกิจกรรมเจรจาธุรกิจระหว่างเอกชนเพื่อให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยหรือสร้างธุรกิจสัมพันธ์ระหว่างกันให้มากที่สุด โดยเฉพาะในสาขาที่เป็นเป้าหมายของเรา ไม่ว่าจะเป็น S-Curve หรือ BCG ตามที่เราต้องการ เพราะจะมีโอกาสน้อยมากที่นักธุรกิจ นักลงทุนระหว่างประเทศระดับเป้ง ๆ มารวมตัวกันในคราวเดียวกัน และในการประชุม APEC และ ABAC ครั้งนี้จะมีผู้นำธุรกิจใหญ่ได้รับเชิญจากผู้นำของตนเองมาร่วมประชุมด้วยคราวนี้หลายพันคน 

 

3.ผลักดันเปิดเวทีการเจรจาใหม่ของกรอบการค้าเสรี เอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP แทน CPTPP เพราะการที่ประเทศไทยตกขบวน CPTPP ที่ผ่านมานั้น ทำให้เห็นได้ว่าประเทศไทยมีต้นทุนช่วงโอกาสสูง เช่น การลงทุนต่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศ ของเรานั้นถูกแทนที่โดยประเทศเพื่อนบ้านใกล้ ๆ กับเรา ซึ่งตอนนี้แซงหน้าเราไปไกลมากแล้ว และแม้ว่าเราอยากเข้าร่วม CPTPP ตอนนี้ จะพบว่าต้นทุนสูงมาก เพราะประเทศสมาชิกเดิมจะมีข้อเรียกร้องต่าง ๆ จากเรามาก แต่หากเรามาเริ่มเจรจาในกรอบ FTAAP ใหม่ นั้น ต้นทุนในฐานะผู้เริ่มก่อตั้งก็จะมีน้อยและสามารถเจรจาต่อรอง ตั้งเงื่อนไข หรือมีข้อยกเว้นได้พอสมควร และการเข้าร่วมเจรจาในครั้งนี้ เราต้องมีวิสัยทัศน์ที่ไกล พร้อมความตระหนักจากบทเรียน

 

ในอดีตของ CPTPP ว่าที่เราพลาดคราวนั้น เราเสียโอกาสไปมากขนาดไหนแล้ว ผมว่าเรื่องนี้ข้าราชการประจำ ผู้ปฏิบัติงาน ภาคเอกชน และนักวิชาการรู้ดีว่าประเทศไทยจะได้เสียอะไร และต้องเตรียมการในการผ่อนหนักผ่อนเบาอย่างไรให้กับผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งผมว่าจะเหลือแต่นักการเมืองเท่านั้นที่ต้องใช้ความกล้าหาญในการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาวมากกว่าผลประโยชน์ทางการเมืองในระยะสั้นเท่านั้น 

 

ผมว่ายังมีผลประโยชน์อื่น ๆ ในการเป็นเจ้าภาพเอเปคครั้งนี้ ไม่ว่ารายได้เข้าประเทศ เงินทองเดินสะพัดจากผู้เข้าร่วมประชุม การจัดงานและบริการอื่น ๆ รองรับการประชุม ซึ่งเป็นเรื่องที่เราถนัด แต่ผลประโยชน์เหล่านี้ก็เป็นเพียงชั่วคราว พอเขากลับประเทศหลังประชุมก็จบ แต่สิ่งที่เราควรทำคือ การใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้วางเป็นฐานในการสร้างโอกาสและผลประโยชน์ระยะยาวอย่างไรต่างหากที่สำคัญ และที่ผ่านมาดูเหมือนเป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยถนัดนัก