“มะกัน-ยุโรป”แบงก์ล้ม ความเชื่อมั่น“เฟด”อักเสบ

18 มี.ค. 2566 | 00:30 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 13:51 น.

“มะกัน-ยุโรป”แบงก์ล้ม ความเชื่อมั่น“เฟด”อักเสบ บทบรรณาธิการ

ลามแล้วจากสหรัฐอเมริกาไปโผล่ในยุโรป คราวนี้ฝีแตกที่ธนาคารเครดิตสวิส แบงก์เก่าแก่ 167 ปี ใหญ่เป็นอันดับ 2 ด้วยสินทรัพย์ขนาด 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อหุ้นธนาคารทรุดกว่า 30% ในวันเดียว จนธนาคารกลาง    สวิสและหน่วยงานกำกับ ต้องออกโรงอัดฉีดเงินกู้ 5 หมื่นล้านฟรังส์สวิส (ประมาณ 1.85 ล้านล้านบาท) เพื่อสกัดโดมิโนแบงก์ล้ม
     
มูลเหตุจาก Saudi National Bank ซึ่งถือหุ้น 9.9% ของธนาคารเครดิตสวิส ไม่ลงทุนเพิ่มเนื่องจากจะเกิน 10% ที่เข้าเกณฑ์ใหม่ แล้วสื่อไปพาดหัวว่า “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ปฏิเสธลงทุนเพิ่ม” กระตุกนักลงทุนในตลาดให้ตกใจและเทขายหุ้น เนื่องจากช่วงหลังมานี้ธนาคารเครดิตสวิสถูกขุดคุ้ยความเสียหายและเหตุไม่ชอบมาพากลต่อเนื่อง จนตลาดไม่ไว้วางใจ
     
ทั้งยังฝังใจเหตุ “แบงก์รัน” ในสหรัฐอเมริกา เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา จนทางการสั่งปิดไป 3 แห่ง คือ ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (SVB) ธนาคารซิลเวอร์ เกต และธนาคารซิกเนเจอร์ เมื่อผู้ฝากแห่ปิดบัญชีถอนเงินฝากจนแบงก์ขาดสภาพคล่อง และเฟดต้องเข้าแทรกแซง โดยประกาศคุ้มครองบัญชีเงินฝาก “เต็มจำนวน” สำหรับลูกค้าธนาคาร และเปิดโครงการ “Bank Term Funding Program”เพื่อปล่อยเงินกู้ อัดฉีดสภาพคล่องให้สถาบันการเงินดำเนินการต่อไปได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ลามเป็นโดมิโน

ทั้งนี้ ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ เป็นธนาคารสำหรับกลุ่มธุรกิจดิจิทัลและกลุ่มสตาร์ทอัพ มีฐานในซิลิคอน วัลเลย์ เติบโตอย่างรวดเร็วตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมดิจิทัล  ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ และเวนเจอร์ แคป ซึ่งเติบโตอย่างมากช่วงโควิด-19 ที่คนหันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่ม
     
แต่เมื่อโควิด-19 คลี่คลายธุรกิจไอทีและเทคโนโลยีดิจิทัลซบเซาลง จึงต้องหันมาถอนเงินฝากจากแบงก์ไปหมุนธุรกิจพร้อม ๆ กัน ขณะที่แบงก์นำเงินฝากก่อนหน้าไปลงทุนในหลักทรัพย์ปลอดภัย คือ พันธบัตรรัฐบาล แต่พอเฟดหันมาขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แบงก์ต้องขายพันธบัตรก่อนครบวาระในราคาขาดทุนหนัก เพื่อระดมเงินคืนผู้ฝากแต่ก็ไม่พอ จนขาดสภาพคล่องและคนยิ่งแห่ถอนจนล้มดังกล่าว

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นผลจากการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว ของธนาคารกลางยุโรปและอเมริกาที่ผ่านมา จนสถาบันการเงินบริหารความเสี่ยงไม่ทัน ต้องอมความเสียหายไว้จนภูมิคุ้มกันตก และฉุดความเชื่อมั่นของผู้เกี่ยวข้อง 

ทั้งยังมาถึงทางสองแพร่งของการบริหารนโยบายการเงินของมหาอำนาจ หากจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสะกัดเงินเฟ้อต่อไป สถาบันการเงินที่ทนทานต่อต้นทุนดอกเบี้ยที่ทะยานขึ้นไม่ไหว ก็จะทะยอยล้มเขย่าขวัญผู้ฝากกันต่อไป ถ้าชะลอหรือหยุดขึ้นดอกเบี้ยก็ต้องลุ้นว่าเงินเฟ้อจะอ่อนแรงและหมดฤทธิ์ได้หรือไม่
     
แต่ที่เห็นๆ คือ ธนาคารกลางสหรัฐ-ยุโรป บริหารนโยบายดอกเบี้ยพลาดซํ้าอีกแล้ว จากครั้งก่อนที่ลดลงติดฟื้นช่วงโควิด-19 แล้วกลับมาปรับขึ้นช้าไป จนดันเศรษฐกิจฟื้นร้อนแรง พอเงินเฟ้อพุ่งก็ฉีดยาเแรงขึ้นดอกเบี้ยโหดจนแบงก์ล้ม ขณะที่ชาติเล็กอื่นๆ ต้องโต้คลื่นไปทั้งโลก