New Equilibrium: การเดินทางเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ของภาคธุรกิจ

22 ม.ค. 2566 | 20:30 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ม.ค. 2566 | 23:43 น.

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์ นอกขนบ โดย สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ “มูลนิธิ สวค.”

สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงแนวโน้มทางเศรษฐกิจในปี 2023

เศรษฐกิจจีนที่เติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กลายมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองโลก โดยในช่วงแรกของการเติบโตของจีนนั้น ส่งผลดีต่อมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเดิม ในฐานะที่จีนเป็นทั้งแหล่งผลิตชั้นดีราคาถูกและตลาดขนาดใหญ่ที่กำลังซื้อกำลังพุ่งขึ้น ส่งผลให้ความร่วมมือด้านต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว 

แต่การเติบโตอย่างต่อเนื่องและแข่งขันได้แบบจีนนั้นในระยะยาวได้เริ่มส่งผลต่อความมั่นคงจนหวาดระแวงแก่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผลพวงของการแข่งขันทางธุรกิจ การกีดกันทางการค้า และความได้เปรียบทางเทคโนโลยี ระหว่างมหาอำนาจจีน สหรัฐอเมริกา และพันธมิตรอื่นๆ ได้นำมาสู่การกลับด้านนโยบายที่สำคัญของการค้าการลงทุนในโลกปัจจุบันและอนาคต 

จากการเร่งพัฒนาเพื่อสร้างความก้าวหน้าให้ได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งในโลกาภิวัฒน์จะไม่มีที่ยืนให้กับผู้แพ้ อย่างการล่มสลายของบางบริษัทชั้นนำของโลกที่เคยครอบครองส่วนแบ่งตลาดมาก่อน ความหวาดระแวงที่เกิดจากข้อมูลเชิงประจักษ์ถึงการสูญเสียสถานะการเป็นผู้นำ นำมาซึ่งความขัดแย้งในหลายด้าน

โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่มีอัตราการ disrupt ที่สูง การใช้ทรัพยากรการผลิต วัฒนธรรมการบริโภค การเคลื่อนย้ายทุน การค้าและเงินตรา การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน โรคระบาด นำมาซึ่งความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น 
 

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจ/ธุรกิจโลกกำลังเดินทางหาจุดดุลยภาพใหม่ (new equilibrium) อาทิ ดุลยภาพใหม่ด้านพลังงานอาจจะกำลังเปลี่ยนจาก fossil ไปสู่ green อย่างช้าๆ

แต่ระหว่างการเข้าสู่ดุลยภาพใหม่นั้นย่อมมีความขัดแย้งที่เป็นทั้งอุปสรรคและโอกาส ดุลยภาพใหม่ด้านเทคโนโลยีอาจจะมีการแข่งขันที่รุนแรงจนไม่สามารถที่จะทำนายผลลัพธ์สุดท้ายได้อย่างเด็ดขาดว่า ภาคธุรกิจจะเลือกอยู่กับห่วงโซ่อุปทานใดระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา 

ดุลยภาพใหม่ในตลาดเงินและตลาดทุนก็จะเปลี่ยนจากการเพิ่งพาระบบสถาบันการเงินแบบเดิมไปสู่ระบบการเงินแบบใหม่อย่างสิ้นเชิง

ดุลยภาพด้านเมืองและที่อยู่อาศัยตามประวัติศาสตร์ของโลกนั้นเมื่อเกิดความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น ผลที่ตามมาคือการอพยพเคลื่อนย้ายประชาชนซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดเมืองและการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงไปสู่จุดดุลภาพในการจัดการเมืองสำหรับทำงานและอุตสาหกรรม 

จุดดุลยภาพสุดท้ายคือ เงินตราจากยุคเงิน Fiat Standard มาสู่สกุลเงินดิจิทัลอยู่ในช่วงของการคัดสรรและทดสอบ use case ในระยะเปลี่ยนผ่านของสกุลเงินดิจิทัล 

สำหรับภาคธุรกิจแล้วเมื่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นย่อมเป็นสิ่งท้าทายอย่างยิ่ง ทั้งในการตั้งรับและการเปิดเกมรุกเพื่อไขว่คว้าโอกาสที่จะเกิดขึ้น ซึ่งระหว่างทางการเดินทางเข้าสู่จุดดุลยภาพใหม่ในแต่ละด้านนั้นย่อมความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ (Regulatory Risk) หรือเครื่องมือกีดกันในรูปแบบต่างๆ เพื่อแย่งชิงความได้เปรียบทั้งในเชิงพื้นที่และในเชิงเทคโนโลยี ตัวอย่างจากการสำรวจของ Financial Times ปรับตัวหาจุดดุลยภาพใหม่ทางธุรกิจใน บุคคล และความเสี่ยงใน 5 อุตสาหกรรมดังนี้ ดังนี้ 
 

พลังงาน 

เข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (energy transition) จากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสีเขียว รวมทั้งตลาดน้ำมันมีการแบ่งแยกออกเป็นตลาดตะวันตกและตะวันออก เนื่องจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรรัสเซีย สหภาพยุโรปจึงนำเข้าพลังงานจากสหรัฐอเมริกาแทน ในขณะที่การส่งออกพลังงานของรัสเซียที่เคยไหลไปยังยุโรปเปลี่ยนทิศสู่อินเดียและจีน และการส่งออกพลังงานของตะวันออกกลางอุดช่องว่างในทั้งสองตลาด ซึ่งทำให้ไปสู่การคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้านี้ 

ตัวอย่างบุคคลที่จะมีบทบาทสำคัญ คือ Wael Sawan CEO ใหม่ของ Shell บริษัทผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ของโลก ในการพิจารณากลยุทธ์ใหม่ในการเปลี่ยนผ่านพลังงานซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรมพลังงาน โดยพิจารณาระหว่างการเปลี่ยนธุรกิจไฮโดรคาร์บอน (ฟอสซิล) ไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ หรือการรักษากำลังการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต่อไป 

ความเสี่ยงของธุรกิจพลังงาน คือ มาตรการในสหรัฐและสหภาพยุโรปเคร่งครัดด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ เช่น ในสหรัฐเสนอมาตรการให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนในรายงานประจำปี รวมทั้งจะมีบทลงโทษของส่วนเกินจากการปล่อยก๊าซมีเทน 

 

เทคโนโลยี

ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence: AI) จะก้าวมาเป็นเทคโนโลยีกระแสหลักเนื่องจากมีความสามารถหลากหลายและมีความสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ChatGPT โดย OpenAI ซึ่งเป็น AI รูปแบบใหม่จะเปลี่ยนวิธีที่คนทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์ ตัวอย่างบุคคลที่จะมีบทบาทสำคัญ คือ Elon Musk ในการสนับสนุนการเปลี่ยนยานพาหนะไฟฟ้า (EV) และกระสวยอวกาศให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่สำคัญและด้วยราคาที่ต่ำลง ความเสี่ยงของเทคโนโลยี คือ บริษัทเทคโนโลยีพิจารณาการลดต้นทุนจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงและมีความต้องการต่อสินค้าลดลง ผ่านทั้งการลดการจ้างงาน ลดการลงทุน 

สถาบันการเงิน (Private Capital)

บริษัทด้าน Private Equity ชั้นนำของโลก อาทิ Blackstone CVC และ KKR พิจารณาในการชะลอการลงทุน เนื่องจากดอกเบี้ยมีการปรับเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการซบเซาลงของตลาดหุ้นส่งผลต่อสภาพคล่องของธุรกิจ ตัวอย่างบุคคลที่จะมีบทบาทสำคัญ คือ Orlando Bravo ผู้ร่วมก่อตั้ง Thoma Bravo บริษัท Private Equity ชั้นนำของโลก ที่แสดงศักยภาพในการระดมทุนและลงทุนได้อย่างรวดเร็ว โดยในระยะเวลาเพียง 2 ปี สามารถระดมทุนได้ถึง 55 พันล้านเหรียญสหรัฐและลงทุนในบริษัทพัฒนาซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์มากกว่า 12 แห่ง รวมทั้งซื้อกิจการมหาชน 7 แห่ง

หลักจากนี้ต้องติดตามว่ากิจการที่ซื้อมาเหล่านั้นมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่ จากการที่ดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นและมีผลกระทบต่อบริษัทเทคโนโลยี ความเสี่ยงของ Private Capital คือ การบังคับใช้กฎหมายผูกขาดจะส่งผลให้การเจรจราควบรวมกิจการต้องกลับมาทบทวนมากยิ่งขี้น เนื่องจากมีความเสี่ยงในเชิงกฎหมายและป้องกันการผูกขาด (Regulatory risk) มากขึ้น

อสังหาริมทรัพย์

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2023 คาดการณ์ว่ายังคงซบเซาและอาจแย่ลงไปอีกก่อนเข้าจุดสมดุล ตลาดยังไม่สามารถระบุได้ว่าการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้เช่าอย่างไรเมื่อได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ตลาดกำลังปรับตัวอีกครั้งจากยุคที่ต้นทุนทางการเงินราคาถูก ซึ่งเคยดึงดูดนักลงทุนรายใหม่จำนวนมากเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงภาวะเงินเฟ้อและความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย 

ส่งผลให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์อาจจำเป็นต้องการขายทรัพย์สินออกไป ตัวอย่างบุคคลที่จะมีบทบาทสำคัญ คือ Sandeep Mathrani ผู้บริหารใหม่ของ WeWork บริษัทผู้ให้เช่าพื้นที่ ที่มีเป้าหมายให้บริษัทกลับมาสามารถทำกำไรได้อีกครั้ง 

หากดำเนินการสำเร็จจะแสดงให้เห็นว่าบริษัทที่มีหนี้สินจำนวนมากสามารถอยู่รอดได้แม้ในภาวะที่ต้นทุนทางการเงินมีราคาสูงขึ้น ความเสี่ยงของอสังหาริมทรัพย์ คือ Stranded Assets และ Zombie Offices ซึ่งหมายถึงอาคารสำนักงานที่สร้างแล้วเสร็จแต่ยังไม่ผู้เช่าพื้นที่เนื่องจากรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการปรับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เจ้าของอาคารสำนักงานจำเป็นต้องลงทุนปรับปรุงอาคารเพื่อสอดคล้องกับกฎใหม่และดึงดูดผู้เช่า

สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)

หลังจากการล้มครั้งใหญ่ของตลาดสกุลเงินดิจิทัล ราคาของเหรียญต่าง ๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้สะท้อนถึงประเด็นการกระจายศูนย์ (decentralization) ซึ่งเป็นพื้นฐานและจุดแข็งที่สำคัญ 

อย่างไรก็ตาม บริษัทหลายแห่งในโลกคริปโตยังคงเป็นรูปแบบของการรวมศูนย์ (centralization) ตัวอย่างบุคคลที่จะมีบทบาทสำคัญ คือ Cathie Wood จาก Ark Investment บริษัทจัดการการลงทุนที่สูญเสียความเชื่อมั่นจากตลาด อย่างไรก็ตาม หากที่คาดการณ์ว่าเหรียญบิทคอยจะมีราคากลับมาสูง 1 ล้านเหรียญภายในปี 2030 จะทำให้ความเชื่อมั่นกลับคืนมา ความเสี่ยงด้านคริปโตเคอร์เรนซี คือ หลังจากการล่มสลายของ FTX และ LUNA ส่งผลให้ตลาดตั้งคำถามต่อความมั่นคงของบริษัทที่เหลืออยู่ในอุตสาหกรรม

ผลกระทบต่อไทย/ภูมิภาค

การเคลื่อนย้ายทุนระหว่างประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ (Regulatory Risk) ในมิติต่างๆ ระหว่างประเทศมหาอำนาจที่ทำให้เกิดการแยกวงของห่วงโซ่อุปทานระดับโลก (Decoupling) ทำให้เกิดปรากฏการณ์ย้ายโรงงานกลับบ้านหรือไปสู่พื้นที่ที่ไม่ขัดแย้ง 

ข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่า หลังจากที่มีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนในสมัยประธานาธิบดี Donald Trump แล้วนั้น ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกมาตรการอุดหนุนให้บริษัทญี่ปุ่นในจีนย้ายฐานการผลิตออกจากจีน โดยแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 

กลุ่มที่หนึ่งจำนวน 57 บริษัทจะให้ย้ายกลับไปญี่ปุ่น และกลุ่มที่ 2 จำนวน 30 บริษัทจะให้ย้ายมายังอาเซียน รวม 87 บริษัท โดยสาเหตุของความจำเป็นนี้คาดว่าประกอบด้วย 2 สาเหตุ ได้แก่ 

ประการที่ 1 คือ ผลของการระบาดโควิด-19ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของสินค้าที่ผลิตในจีนแย่ลงในมุมของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น กล่าวอีกนัยหนึ่ง การผลิตที่มุ่งความปลอดภัยด้านสาธารณสุขมีความสำคัญอย่างยิ่งในภาวะที่โลกเผชิญวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ รวมทั้งการเดินทางระหว่างประเทศยังเป็นสิ่งที่ไม่ปลอดภัยในระยะเวลาอันสั้นที่มองไปข้างหน้านี้  

ประการที่ 2 คือ ผลของความตรึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีน ประเด็นนี้ผลพวงของการแข่งขันของขั้นอำนาจทั้งสอง ซึ่งจีนมิได้ประกาศตนเป็นคู่แข่ง แต่หนีไม่พ้นที่จะถูกสหรัฐฯมองว่าการผงาดทางเศรษฐกิจของจีนเป็นภัยต่อความมั่นคงสหรัฐ กล่าวอีกนัยหนึ่ง สภาพความขัดแย้งของสงครามการค้าระหว่างชาติทั้งสองยังไม่มีท่าทีจะดีขึ้น ซ้ำร้ายดูจะแย่ลงไปเพราะแนวโน้มของทั้งพรรคเดโมเครตและพรรครีพับริกันล้วนออกมาแสดงจุดยืนต่อการมองจีนเป็นภัยต่อความมั่นคงสหรัฐอเมริกา

สงครามการค้าเริ่มส่งผลให้ในอนาคตจีนอาจสูญเสียบทบาทการเป็นฐานการผลิตของโลกจากการที่บริษัทต่าง ๆ เริ่มย้ายออกจากจีน อาทิ Dell ซึ่งเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์สหรัฐใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก มีการวางแผนย้ายฐานการผลิต ซึ่งคาดว่าอาจย้ายไปเวียดนามแทน เพื่อให้มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์รวมทั้งจะหยุดใช้ชิปและส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ผลิตจากจีนภายในปี 2024 

นอกจากนี้ HP เริ่มมีการสำรวจซับพลายเออร์เพื่อเตรียมการย้ายออกจากจีนเช่นกัน รวมทั้ง Apple ที่ได้เริ่มย้ายฐานการผลิตออกไปยังอินเดียและเวียดนามแล้ว 

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติ กำลังใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศในเวียดนามและภูมิภาคอาเซียนมีข้อตกลงเรื่อง TFA และการเคลื่อนย้ายแรงงานบางประเภท โดยแรงงานทักษะ ทั้งนี้ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้มีการขยายการลงทุนเพื่อรองรับการลงทุนดังกล่าว

เมื่อพิจารณาการลงทุนระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มสูงที่ประเทศเวียดนามและภูมิภาคอาเซียนจะเป็นจุดดุลยภาพใหม่ของการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ สิทธิประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและอ้อม 

การเติบโตของเวียดนามและภูมิภาค ทำให้มีแรงดึงดูดต่อการปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ด้านอื่นๆ ด้วย ทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านอสังหาริมทรัพย์ ด้านสถาบันการเงิน และด้านสกุลเงินดิจิทัล พื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นพื้นที่แห่งโอกาสที่ประเทศไทย จะอาศัยความได้เปรียบในแง่ของการเป็นเครื่องมือและกลไกของรัฐที่จะสร้างความร่วมมือได้กับทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ โดยการลงทุนที่ต้องพิจารณาคือ การลงทุนทางการเงินผ่าน Private Capital และ/หรือการลงทุนทางตรง