เหตุค่าไฟฟ้า แพงมากกว่าปกติ

28 เม.ย. 2566 | 00:10 น.

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3882

ถึงฤดูร้อนที่ไร โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ยิ่งปีนี้อุณหภูมิร้อนตับแลบ มีเสียงบ่นจากผู้ใช้ไฟฟ้าหรือประชาชนอย่างเราๆ ว่าทำไมค่าไฟฟ้าถึงได้แพงขึ้นกว่าทุกเดือนมาก ทั้งที่หน่วยการใช้ไฟฟ้า ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

เมื่อมองย้อนกลับไปถึงสาเหตุหลักของค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นมา ต้องดูที่ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟที งวดเดือนมกราคม-เมษายน 23566 ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลค่าไฟฟ้าเฉลี่ยสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยอยู่ที่อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย และค่าไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เช่น ภาคการผลิต ธุรกิจ อยูทที่ 5.33 บาทต่อหน่วย มีปัจจัยหลักมาจากราคาก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจีที่ต้องนำเข้ามาผลิตไฟฟ้าอยู่ในระดับราคาที่สูง และยังต้องจ่ายคืนให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่แบกรับภาระค่าเอฟทีราว 1.5 แสนล้านบาท

ขณะที่หน้าร้อนปีนี้อุณหภูมิสูงขึ้นมาก แต่ละครัวเรือนหันไปพึ่งเครื่องปรับอากาศ ซึ่งอุณหภูมิภายนอกที่สูงมากนี้เอง ทำให้ภาระของเครื่องปรับอากาศทำงานสูงขึ้น จึงกินไฟฟ้ามากขึ้นในการทำความเย็น เหมือนกับกรณีการใช้รถยนต์รุ่นเดียวกันวิ่งระยะทางเท่ากัน 

คันแรกมีผู้โดยสารนั่งไป 4 คน อีกคันมีผู้โดยสาร 1 คน คันแรกบรรทุกหนักมากกว่า ย่อมกินนํ้ามันมากกว่า เมื่ออุณหภูมิภายนอกสูง ทำให้เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น เพราะนํ้ายาแอร์ระบายความร้อนออกทางคอยล์ร้อนยากขึ้น จึงทำให้แอร์กินไฟมากยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับการเปิดแอร์ในระยะเวลาที่เท่ากันแต่ในอุณหภูมิภายนอกที่เย็นกว่า

เมื่อมาพิจารณาค่าไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัย ของบ้านเราเป็นแบบอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้ไฟฟ้ามาก ก็ยิ่งจ่ายมาก เช่น ใช้ไฟฟ้าเดิมอยู่ที่ 250 หน่วย ค่าไฟเฉลี่ยไม่รวมค่าเอฟทีอยู่ที่ 3.73 บาทต่อหน่วย ถ้าใช้เป็น 550 หน่วย ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยไม่รวมค่าเอฟทีอยู่ที่ 3.96 บาทต่อหน่วย และเมื่อบวกค่าเอฟทีเข้าไปจะทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.66 บาทต่อหน่วย และ 4.89 บาทต่อหน่วย ตามลำดับ ซึ่งยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีก เป็นต้น

หากอุณหภูมิความร้อนยังสูงต่อเนื่องไปถึงเดือนพฤษภาคม 2566 การไม่ปรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า ไม่ประหยัด หรือ ยังต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศทำความเย็นต่อไป บอกได้เลยว่า ค่าไฟฟ้าก็ยังสูงต่อเนื่อง เพราะค่าเอฟทีช่วงพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาลดลงมาเพียง 7 สตางค์ต่อหน่วย จากการลดการชำระหนี้ให้กับกฟผ.เฉพาะงวดนี้เหลือ 18,158 ล้านบาท จากงวดละ  2.27 หมื่นล้านบาท

หรือ ค่าเอฟทีจากเดิมจะขยับขึ้น 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ลดลงมาเหลือ 91.19 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าฟ้าเฉลี่ยโดยรวมลดงมาอยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย หรือค่าไฟฟ้าลดลงจากงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 เพียง 2 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น แทบไม่เห็นผลในการลดค่าไฟฟ้า ขณะที่ค่าไฟฟ้าประเภทอื่นๆ ปรับตัวลงมา 63 สตางค์ต่อหน่วย

สรุปหน้าร้อนนี้ ถ้าไม่อยากจ่ายค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ก็ต้องใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด หรือ ใช้เท่าที่จำเป็น โดยเฉพาะการเรียนรู้การใช้เครื่องปรับอากาศอย่างประหยัด ปรับอุณหภูมิที่ 26 องศา ร่วมกับเปิดพัดลม จะช่วยการทำงานของแอร์ลงได้
 
ส่วนค่าไฟฟ้าในระยะต่อไป จะปรับลดลงได้หรือไม่นั้น ถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลใหม่ ว่าจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ เพราะดูแล้วค่อนข้างริบหรี่เสียเหลือเกิน แต่ละนโยบายที่ใช้หาเสียง ล้วนแต่ต้องใช้เงินมาอุดหนุนค่าไฟฟ้า หรือ หากจะต้องยกเลิกค่าเอฟที จะหาเงินจากไหนมาใช้หนี้ให้กับ กฟผ. ที่ยังติดค้างอยู่ หากทำได้ ก็ถือว่าลดความเดือดร้อนของประชาชนที่จะมาช่วยลดค่าครองชีพได้อีกทางหนึ่ง