ในยุคที่โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางสื่อสารที่ครอบคลุม สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้คนได้มากมายไม่จำกัดอายุ เพศ การศึกษา และใช้เวลาอันสั้นเท่านั้น แต่แบรนด์มากมายยังประสบปัญหาในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะด้วยเรื่องของเนื้อหาสาระที่ไม่โดนใจ รูปแบบของ เนื้อหาที่ยังไม่มีแรงดึงดูดที่มากพอ หรือเนื้อหาที่แบรนด์นั้นดูจะจัดเต็มจนคนอ่านเริ่มกลัว
หลายๆ ครั้งเราริเริ่มแคมเปญในการสื่อสารที่ fast-paced มากๆ เพื่อที่จะให้เข้าถึงง่าย เกาะกระแสสังคม และผู้คนสามารถจับต้องได้ แต่เอาจริงๆ เนื้อหาเหล่านั้น ไม่สามารถอยู่ได้นาน มีตัวตนอยู่ได้เพียงแค่เทรนด์เท่านั้น หรือบางครั้งได้แค่การรับรู้ที่มาไวไปไว และแทบจะจำไม่ได้หรือเรียกได้ว่าเปิดตัวเช้าวันนี้ ก่อนเที่ยงเรื่องเปลี่ยนแล้วก็ว่าได้
การทำการสื่อสารในช่องทางโซเชียลมีเดีย ณ ปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องที่จริงจังมาก หลายๆ แบรนด์จึงเริ่มให้ค่า และทุ่มงบประมาณที่เรียกว่ามากกว่าช่องทางไหนๆ เสียอีกให้กับช่องทางนี้ เพราะโอกาสที่ ROI จะกลับมานั้นมีมาก แต่ก็ยังมีหลายแคมเปญสื่อสารที่สะท้อนแบรนด์ได้อย่างดีเยี่ยมโดยที่ไม่ได้มีงบเลยสักบาท และก็ยังประสบความสำเร็จอย่างมากเพราะผุ้คนพูดถึงและนำไปต่อยอดเช่นกัน แม้ว่าตัวแปรผันและมาตรวัดอาจจะสิ่งที่จับต้องได้ยาก แต่เราก็ควรที่จะมีเพื่อเป็นการตั้งต้นแนวทางว่าปัจจัยใด และอะไรน่าจะเป็นตัวแปรสู่ความสำเร็จของการสื่อสารในโซเชียลมีเดียในทุกวันนี้ ซึ่งได้สรุปคร่าวๆ ออกมาให้ดังนี้
1. ความเข้าใจในความต้องการในแต่ละแพลตฟอร์ม
การทำการสื่อสารที่ในแพลตฟอร์มเหมือนกัน อาจจะดูง่าย และสะดวกต่อการทำงาน ด้วยระยะเวลาที่มีอาจจะสั้น และไม่ต้องเพิ่มงบให้บานปลาย เตรียมงานก็แสนง่าย แต่อาจจะไม่ตอบโจทย์ ROI ของเม็ดเงินที่คุณลงไป เพราะในแต่ละช่องทางนั้น มีฐานผู้ใช้งานที่ต่างกัน มีแรงดึงดูด ความต้องการ หรือ รูปแบบสื่อที่พวกเขาต้องการจะเห็นหรือคาดหวังเนื้อหา ของเรื่องในแต่ละแพลตฟอร์มนั้นก็มีความต่างเช่นกัน
ความสั้นความยาว ลองคิดภาพถ้าคุณนำเนื้อหาลงแพลตฟอร์มหนึ่งไปลงในแพลตฟอร์มอื่นๆ โดยไม่ปรับเนื้อหาให้เหมาะสม หรือเพิ่มความน่าสนใจด้วยรูปภาพหรือ video ที่สอดคล้องกัน หรือปล่อย เนื้อหาที่แสนยาว นั้นให้อยู่ในแพลตฟอร์มอื่นๆ อาจจะส่งผลให้การรับรู้หรือการเข้าถึงนั้นลดลงทันที
2. ต่อยอดมากกว่าแค่ร่วมเทรนด์
การร่วมเทรนด์นั้นแสนจะง่าย และถือว่าใครทำได้ไวก็ได้ซีนไปง่ายๆ แต่มันจะดีกว่าไหมหากคุณนำเทรนด์ที่มีมากต่อยอดสร้างอีกหนึ่งเทรนด์เสริมความแข็งแกร่งให้ตัวเอง และบุกเบิกมากกว่าที่จะทำตาม ลองเพิ่มขั้นตอนในการทำงานที่ตามเทรนด์พร้อมต่อยอดของที่มีอยู่คุณอาจจะเป็นผู้สร้างเทรนด์เองก็เป็นได้ ข้อนี้อาจจะไม่ได้ง่ายแต่ถ้าคุณทำได้ก็จะทำให้เทรนด์มาอยู่ที่คุณได้นานมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการสร้างเทรนด์ที่สามารถให้ผู้ใช้งานหรือเป้าหมายของการสื่อสารสามารถร่วมสนุกได้ก็ถือว่าเป็นอีกขึ้นข้อที่ควรเสริมเข้าไป เพราะนอกจากจะสามารถสร้างกระแสได้แล้วยังจะกระจายการรับรู้สู่ผู้รับสารในวงอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
3. การลดความเป็นแบรนด์ให้น้อยลง
เนื้อหาที่ไปได้สวยมักจะเป็นเนื้อหาที่เข้าถึงง่าย สอดคล้องกับผู้รับสาร และไม่ค่อยจะเป็นเรื่องของการขายของหรือขายแบรนด์สักเท่าไหร่ เมื่อคุณนำแบรนด์เข้ามาในการสื่อการหรือชูเรื่องการขายเรื่องของคุณเองมากจนเกินไป การรับรู้ก็จะน้อยลง ฐานผู้ใช้งาน ณ ปัจจุบันมีความต้องการข้อมูลที่ไม่เน้นขายของมากสักเท่าไหร่ แต่เน้นประโยชน์ที่ได้แก่ผู้อ่านมากขึ้น แต่ถ้าคุณสามารถนำแบรนด์ของคุณไปใส่ในเนื้อหาโดยเน้นยํ้าถึงความที่แบรนด์ของคุณเข้าขากับชีวิตของผู้อ่านได้อย่างดี ผู้อ่านจะเปิดใจมากยิ่งขึ้นในการรับสารของคุณ และอาจจะเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อแบรนด์ของคุณ และนำไปสู่การเสาะหามาครอบครองในที่สุด
3 ข้อทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นตัวแปรย่อยในหลายสิบข้อที่คุณจะต้องเจอเมื่อทำการสื่อสาร แต่ในปัจจุบันมีบริษัทมากมายที่มีองค์ความรู้ในด้านนี้ตั้งแต่การนำข้อมูลลูกค้าของคุณมาวิเคราะห์ จัดกลุ่มผุ้ที่ต้องการจะสื่อสาร เสริมด้วยกลยุทธ์ในช่องทางต่างๆ จัดทำเนื้อหาที่ผสมผสานเทคโนโลยีและสิ่งที่ผู้คนสนใจ บนงบประมาณที่คุณต้องการได้ ท้ายนี้การทำเนื้อหาที่ดี
การนำเสนอที่โดนเด่นแต่ขาดความเชี่ยวชาญในการนำเข้าสู่ในแพลตฟอร์มที่คุณต้องการอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เนื้อหาของคุณไปไม่สู่ฝั่งฝันเลยก็เป็นได้ ดังนั้นการเลือกมีเดียพาร์ทเนอร์ที่เข้าใจแบรนด์และความเป็นเอกลักษณ์ของแพลตฟอร์มถือว่าเป็นการชี้ชะตาให้การสื่อสารของเกิดความสำเร็จมากยิ่งขึ้น หากสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ [email protected]
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,828 วันที่ 20 - 22 ตุลาคม พ.ศ. 2565