ความท้าทายในการเกษียณของผู้นำ

04 ม.ค. 2566 | 22:13 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

เป็นที่ทราบกันดีว่าการถ่ายโอนกิจการของธุรกิจครอบครัวมักไม่ใช่กระบวนการที่ราบรื่นนัก และกระบวนการนี้อาจจะเปลี่ยนชีวิตของทั้งครอบครัวและบริษัทให้พลิกผันไปได้ รวมถึงทำให้ผู้นำธุรกิจครอบครัวอยู่ในสถานการณ์ที่อึดอัดและต้องใช้ความพยายามอย่างมาก

 

ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจครอบครัวเห็นว่าการสละอำนาจและตำแหน่งของคนเป็นเจ้าของกิจการไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกรณีของการสืบทอดกิจการของครอบครัวมักมีความท้าทายมากกว่าธุรกิจทั่วไป ซึ่งคนรุ่นก่อนต้องยอมรับที่จะเริ่มกระบวนการค่อยๆ ลดบทบาทการมีส่วนร่วมในธุรกิจ

ความท้าทายในการเกษียณของผู้นำ               

ขณะที่คอยติดตามผู้สืบทอดในการพัฒนาความสามารถเพื่อเป็นผู้นำธุรกิจไปพร้อมกัน ทั้งนี้แผนการถ่ายโอนกิจการใดๆ ควรมาพร้อมกับแผนการเกษียณของคนรุ่นก่อนด้วย เนื่องจากหากไม่มีการวางแผนเอาไว้ก่อน จะทำให้การลดบทบาทในกิจการมีแนวโน้มที่จะยาวนานขึ้นและสร้างความเจ็บปวดทางจิตใจให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมากขึ้น

              

ในบทความวิจัยปีค.ศ. 2016 ผู้นำธุรกิจครอบครัวตั้งคำถามว่า “ฉันจะมีชีวิตต่อไปอย่างมีความสามารถ และมีภาพลักษณ์ในเชิงบวกได้อย่างไร หากฉันลาออกจากบริษัท” และผู้นำธุรกิจครอบครัวจำนวนมากถามคำถามที่คล้ายกันนี้ในการสำรวจเครือข่ายวิสาหกิจครอบครัวทั่วโลกปีค.ศ. 2019 โดย STEP Project Global Consortium ซึ่งผลการสำรวจชี้ว่าผู้นำธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่ต้องการเกษียณหลังอายุ 70 ​​ปี และมีแผนสำหรับอาชีพหลังจากการเกษียณเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย

              

สำหรับสัดส่วนผู้นำธุรกิจครอบครัวทั่วโลกที่ตั้งเป้าจะเกษียณหลังอายุ 70 ​​ปีอยู่ที่ 40% ในอเมริกาเหนือ,60 % ในยุโรปและเอเชียกลาง และ 46% ในเอเชีย แต่เมื่อถูกถามว่า แผนหลังการเกษียณคืออะไร/ คุณมีแผนใหม่สำหรับการเกษียณหลังออกจากธุรกิจครอบครัวหรือไม่ ผลการสำรวจพบว่า 50% ของผู้บริหารในอเมริกาเหนือเปิดเผยว่าตนไม่มีแผนสำหรับการเกษียณ เช่นเดียวกับ 42% ในยุโรปและเอเชียกลาง

 

ขณะผู้ที่มีแผนหลังเกษียณ 37% บอกว่าต้องการใช้เวลากับครอบครัวและท่องเที่ยวให้มากขึ้น บางคนกำลังพิจารณาแนวทางกึ่งเกษียณ ซึ่งหมายความว่าพวกเขายังต้องการมีส่วนร่วมในบริษัทโดยเฉพาะในละตินอเมริกา สำหรับในเอเชียและตะวันออกกลาง ผู้นำธุรกิจครอบครัวจำนวนมากต้องการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการกุศลหลังจากถ่ายโอนธุรกิจของตนไปแล้ว

              

ผู้นำธุรกิจครอบครัวให้ความสำคัญกับการสืบทอดธุรกิจครอบครัวทั้งในด้านเงินทุนและการบริหาร ซึ่งการวางแผนถ่ายโอนกิจการมักทำให้เกิดคำถามและข้อสงสัยมากมายสำหรับทั้งผู้นำและผู้สืบทอด โดยคำถามที่ต้องตอบก่อนถ่ายโอนมักเกี่ยวข้องกับชีวิตหลังการถ่ายโอนกิจการ เช่น ชีวิตหลังเกษียณจะทำอะไรดี/อะไรจะเกิดขึ้นกับฉัน/ บทบาทของฉันจะเป็นอย่างไรในครอบครัวและในชุมชนเมื่อมีการถ่ายโอนกิจการแล้ว เป็นต้น แต่ทั้งนี้ความกลัวเหล่านี้อาจไม่เกิดขึ้นจริงก็ได้

              

โดยการวิจัยชี้ว่าปัญหามักอยู่ที่ผู้นำธุรกิจครอบครัวไม่สามารถคาดการณ์ความท้าทายในการถ่ายโอนธุรกิจได้ ซึ่งยิ่งพวกเขาสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้เร็วเท่าใด ก็จะยิ่งสามารถดำเนินการไปได้ง่ายขึ้นเท่านั้น แต่โชคไม่ดีที่ผู้นำธุรกิจครอบครัวจำนวนมาก แม้จะอยู่ในวัย 60 หรือ 70 ปี ก็ยังลังเลหรือไม่สามารถยอมรับได้ว่าควรแก้ปัญหาในเรื่องนี้ก่อน ส่วนใหญ่ล้มเหลวในการเผชิญหน้ากับความเป็นจริง โดยเลือกที่จะมุ่งโฟกัสไปที่ความท้าทายที่คุ้นเคยในแต่ละวันของบริษัทแทน เช่น การเติบโตหรือการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล เป็นต้น

              

การเผชิญกับการสืบทอดธุรกิจครอบครัวเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ซับซ้อนและหนักหน่วงสำหรับผู้นำธุรกิจครอบครัวอยู่ไม่น้อย แต่สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือการรักษาอนาคตของบริษัทเอาไว้ โชคดีที่ในปัจจุบันผู้นำธุรกิจครอบครัวในกลุ่มอายุ 40-50 ปีขึ้นไป มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้เชื่อว่าลูกหลานของตนจำเป็นต้องเข้ามาเริ่มต้นในบริษัทและเรียนรู้วัฒนธรรมผู้ประกอบการตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อบ่มเพาะความเป็นผู้นำในอนาคตให้มีความสามารถและคุณสมบัติที่เหมาะสมมากที่สุด ซึ่งถือเป็นการเริ่มวางแผนการสืบทอดกิจการไว้ล่วงหน้านั่นเอง

 

 ที่มา: Andrews, L. October 25, 2022. The Challenge Of Succession & Exiting Leaders. Family Business United [On-line]. Available: https://familybusinessunited.com/2022/10/25/the-challenge-of-family-business-leaders-exit/

 

 หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,850 วันที่ 5 - 7 มกราคม พ.ศ. 2566