ชีวิตยังมี สร้างความดีไว้เถิด

09 ก.ค. 2564 | 22:30 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ค. 2564 | 23:17 น.

ชีวิตยังมี สร้างความดีไว้เถิด : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย... ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3695 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 11-14 ก.ค.2564 

ผมมี ข่าวลือ มาเล่า ได้โปรด สวมแว่นตากันฝุ่น และ ใส่อุปกรณ์กรองหูฟัง เรื่องของเรื่องที่ลือเลื่อง เมื่ออ่านแล้วก็รู้สึกว่า มันไม่ใช่เรื่อง จึงรีบเอามาเล่าให้ท่านรู้ตัวว่า เขาลือกันว่า


Google         งอน              Microsoft
Microsoft      ง้อ                Apple
Google         กอด              Apple
Apple            เมิน               Sumsung
Apple           ซื้อของจาก    Sumsung
Sumsung      งอน               Apple
Sumsung     ขายของให้     Apple

 

บอกกันตรงๆ ว่าผมไม่เชื่อ แต่ก็เอาเถอะ สมมุติกันว่า ถ้ามันเป็นเรื่องจริง ผมคงจะต้องฝืนอกฝืนใจแอบไปกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ย่องเบาเอาเนื้อเพลงยอดฮิตมาแปลงกันสักนิดนะ ท่านค่ายเพลง นะ

Google แคว้นหนึ่ง Microsoft เมืองหนึ่ง Apple อาณาจักรหนึ่ง ขำกลิ้งกันทั้งสามฝ่าย Sumsung บิ๊กฮับ ขอบอก Apple เคยแวะมาหยอก เข้าทางตรอกแล้วออกทางประตู (ฮา!)

                              ชีวิตยังมี สร้างความดีไว้เถิด

รู้แล้วจะทึ่งว่า พระพุทธองค์ ทรงมีพระวิสัยทัศน์ชัดเจนเรื่องดนตรี ตรัสไว้เป็นอนุสติว่า ดนตรีดีควรจะมี … คุณลักษณะ ได้แก่ ไพเราะ เพลิดเพลิน เร้าใจ ดื่มด่ำ และ ให้ความสบายใจ ผมนึกถึง เพลงปล่อย ทันที ไม่รู้เหมือนกันว่าบรรดาฮ่องเต้ Google Microsoft Apple Sumsung Apple ท่านเคยได้ฟังเพลงปล่อย ที่ อ้น ธวัชชัย ชูเหมือน เอามากล่อมโลก กันบ้างหรือเปล่า เนื้อหา และ ทำนอง ช่างสอดคล้องกับ คติ กติกา มารยาท แบบ จับวาง!

 

ใครจะชิง ใครจะชัง มันก็ช่างหัวเขา แค่ตัวเรารู้เรา ช่างเค้าประไร ใครจะชัก ใครจะแช่ง ใครจะแกล้ง ใครจะหยัน ก็ให้ช่างหัวมัน ก็ให้ปล่อยเค้าไป ใครจะชม ใครจะเชิด ว่าประเสริฐเลิศหรู ตัวเรารู้เราอยู่ ปล่อยเค้าชมไป ใครจะรัก ใครจะเกลียด ใครจะเสียด ใครจะสี ก็เรารู้ตัวดี ปล่อยเค้าทำไป

 

เกิดเป็นมนุษย์ สิ้นสุดแค่ตาย เอาอะไรมากมาย ในความอนัตตา โลภไปทำไม ช่วงชิงแข่งขัน สุดท้ายเหมือนกัน ต้องไปป่าช้า จะเอาอะไร แค่รักโลภโกรธหลง ไม่มีความมั่นคง บนกิเลสตัณหา เกิดแก่เจ็บตาย ใยจะไปยึดมั่น สรรพสังขาร ล้วนอนิจจา ปล่อยวางมันเสีย ทุกโขติณณา

 

ใครจะเมิน ใครจะมอง ใยจะต้องไหวหวั่น ใครจะใส่ร้ายกัน ใยจะต้องสนใจ ใครจะดี ใครจะเลว มันก็เรื่องของเขา ใครจะนินทาเรา ใยจะต้องทุกข์ใจ ใครจะล้อ ใครจะด่า ใยจะต้องว่าตอบ ใครไม่สน ใครไม่ชอบ ใยจะต้องใส่ใจ ใครจะคิดใส่ความ ใยจะต้องวุ่นจิต หากตัวเราไม่ผิด จะไปคิดทำไม

 

เกิดเป็นมนุษย์ สิ้นสุดแค่ตาย ประดุจดังต้นไม้ ล้มทับโลกา หมดลมเมื่อไร หาประโยชน์ใดเล่า ล้วนต้องถูกเผา หามไปป่าช้า ชีวิตยังมี สร้างความดีไว้เถิด ได้ไม่เสียชาติเกิด ได้ไม่ต้องอายหมา อันว่าความตายคือ สัจธรรมความเที่ยง สิ้นสรรพสำเนียงเน่าเหม็นขึ้นมา จะเอาอะไร…..

 

ผมเคยคุยกับ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ (ราชบัณฑิต) ในสมัยที่ท่านเคยดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คราวนั้นเราคุยกันถึงเรื่องที่ว่า ปรัชญา คือ วิชาย่อความ อันเป็นหนึ่งในพื้นฐานของการสร้างสรรค์วาทกรรม 

 

ท่านเล่าให้ผมฟังว่า อาจารย์สมัยก่อนสอนให้ศึกษาย่อความด้วยการให้อ่านพงศาวดาร สามก๊ก แล้วให้ย่อเนื้อหาของเรื่องเหลือเพียง 1 หน้า A4 จากนั้นให้ย่อเหลือแค่ครึ่งหน้า ลำดับถัดมาให้ย่อเหลือเพียง 4 คำ 

 

ท่านบอกว่าคิดกันจนสมองปลิ้น กว่าจะถอดรหัสได้ว่า ใจความที่ทำให้คนแบ่งก๊วนแบ่งโซนเพื่อคิดกบถฝันจะตั้งประเทศไทยใหม่ [ฮา] ต่างฝ่ายต่างคิดอุบายมาฟาดฟันกันแบบ เอาเป็นเอาตาย ด้วยมูลเหตุคือเหตุอันเป็นมูลเพียง 4 คำ คือ แก่งแย่งชิงดี

 

แบบชีวิตที่สมบูรณ์มีแน่ แต่ที่มีบ้างไม่มีบ้าง ก็คือชีวิตที่สมบูรณ์แบบ ถ้าไม่อยากอกหักในห้วงโควิด กับชีวิตสมบูรณ์แบบ เราควรเขียนแบบชีวิตให้สอดคล้องกับปัจจัยที่ยังไม่สมบูรณ์แล้วทำไปตามนั้น จนกว่าเราจะมี ความดีสมบูรณ์แบบ แล้วค่อยเปลี่ยนแบบ