“งบลับ”เรื่องห้ามแตะต้อง ใครอย่าจุ้นนะเฟ้ย!

09 ก.ค. 2564 | 22:30 น.

“งบลับ”เรื่องห้ามแตะต้อง ใครอย่าจุ้นนะเฟ้ย! : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3695 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 11-14 ก.ค.2564 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินราชการลับ หรือเงินที่มีลักษณะคล้ายกับเงินราชการ พ.ศ. 2564 ประกาศออกมา เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564  ทำให้เรื่องของ “งบลับ” ร้อนฉ่าขึ้นมาอีกครั้ง จากก่อนหน้าที่มีถล่มและขู่จากนักการเมืองในชั้นกรรมาธิการงบประมาณฯ ว่า จะถลกหนังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ชอบปกปิดซ่อนเร้นการตั้งงบฯในแต่ละปี

 
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบรายละเอียด ในพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 พบว่า มีการตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้ราว 0.04  ของงบทั้งหมด หรือราว 1,200 ล้านบาท

 
เท่าที่ผมสืบสาวราวเรื่องข้อมูลงบลับ พบว่า ซุกซ่อนและตั้งไว้กระจาย ดังนี้...

 
ก้อนใหญ่สุด อยู่ที่ “กระทรวงกลาโหม-สำนักนายกรัฐมนตรี” มีงบราชการลับอยู่ก้อนโตกว่า 1,100 ล้านบาท
 กองทัพบกตั้งงบลับไว้ 290.5 ล้านบาทเศษ 

 
กองทัพเรือ 62 ล้านบาท 
 

กองทัพอากาศ 30 ล้านบาท 

 
สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 32 ล้านบาท 

 
กองบัญชาการกองทัพไทย 55 ล้านบาท เรียกว่า มีการตั้งกันทุกเหล่าทัพฯ

 
สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ภายใต้การกำกับของ “นายกรัฐมนตรี” มีการตั้งงบลับไว้ 558 ล้านบาท
 
 
ผมตามรื้อตามล้างออกมาแล้วพบว่า อยู่ที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 60 ล้านบาท 
 

สำนักข่าวกรองแห่งชาติ 232 ล้านบาท 

 
สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) 50 ล้านบาท
 

กระทรวงต่างประเทศ 8 ล้านบาท 


กระทรวงแรงงาน ก็มีนะครับ มีการตั้งงบลับไว้ที่กรมการจัดหางาน 5 ล้านบาท
 
 
งบที่ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ก้อนนี้แหละครับ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันว่ามีการตั้งงบลับไว้ “ความจำเป็นหรือไม่และทำอย่างไรจึงจะมีการตรวจสอบได้”
 

ด้วยความที่ งบลับไม่ต้องถูกตรวจสอบและที่ผ่านมาดูเสมือนจะมี “ช่องว่างช่องโหว่” ในการใช้เงินอยู่มาก แถมบางคราวบางรัฐบาล ย้ำนะครับว่าบางรัฐบาล...ยังใช้มติคณะรัฐมนตรีกำหนดเงินที่ไม่ใช่เงินราชการลับ ให้นำไปใช้จ่ายในลักษณะปิดบังซ่อนเร้นเสมือนงบลับได้ 
 

การทำแบบนี้ของฝ่ายการเมืองที่มักใช้อำนาจคณะรัฐมนตรี ไปบิดเบือน เพื่อหวังนำเงินไปใช้ในลักษณะของเงินราชการลับ ที่เอาหลังไปพิงกับระเบียบหลักเกณฑ์การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินราชการลับ ที่ระบุว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติเพิ่มเติมให้เป็นเงินราชการลับ หรือเป็นเงินที่ใช้จ่ายในลักษณะปกปิดได้เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกตรวจสอบนี่แหละ ทำให้ทุกคนกังขาและเรียกร้องให้ปฏิรูป...การตรวจสอบ
 ร้ายไปกว่านั้นปกติแล้วในการใช้งบลับนั้นถูกกำหนดว่า   
 

“ถ้าใช้ไม่หมด” ในแต่ละปีต้องส่งคืนกลับไปที่กระทรวงการคลัง....แต่เชื่อหรือไม่ ไม่เคยมีเงินนำส่งคืน เรียกว่ามีประสิทธิภาพมา ใช้กันหมดทุกหน่วยงาน..อะหึ อะหึ! 
 

ผมจำได้ว่า กระทรวงการคลังเคยออกหนังสือ “ลับมาก” แจ้งไปทุกหน่วยงานว่า ในกรณีที่มีการตั้งบลับและในแต่ละปี เมื่อเบิกงบลับไปแล้ว แต่ใช้จ่ายไม่หมด จะต้องนำไปฝากไว้ที่กระทรวงการคลัง หรือ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐ ห้ามนำไปฝากไว้ที่ธนาคารพาณิชย์อื่นใดๆ เพื่อหาประโยชน์ทึ่เกิดขึ้น แต่ประกาศของกระทรวงการคลัง ก็เป็นเพียงหนังสือประกาศเท่านั้น
 

ยังมีหน่วยงานหลายแห่งมอบหมายให้ธนาคารพาณิชย์เข้าไปดูแล “งบลับ” เป็นกรณีพิเศษ เพื่อคนพิเศษ ประโยชน์พิเศษ
 

ทว่า ราชกิจจานุเบกษาที่เผยแพร่ ระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินราชการลับ หรือเงินที่มีลักษณะคล้ายกับเงินราชการ พ.ศ. 2564 ซึ่งน่าจะทำให้งบลับที่ดำมืด กระจ่างชัด กลับจำกัดวงมืดไว้อย่างแน่นหนา เช่นเดิม...
 

เพราะในราชกิจจานุเบกษาที่ให้อำนาจการตรวจสอบของผู้ตรวจการแผ่นดิน พ..ศ2564 สาระสำคัญมีดังนี้
 

1.“เงินราชการลับ หรือเงินที่มีลักษณะคล้ายกับเงินราชการลับ” หมายความว่า เงินงบประมาณ รายจ่ายประจําปีที่กําหนดให้เป็นเงินราชการลับหรือเงินที่ได้รับอนุมัติเพิ่มเติมให้เป็นเงินราชการลับ  
 

2. การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินราชการลับ หรือเงินที่มีลักษณะคล้ายกับเงินราชการลับ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ตามระเบียบนี้ ทั้งนี้ ต้องไม่มีลักษณะที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของ การใช้จ่ายเงินราชการลับ

3. ให้ผู้ว่าการ ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินราชการลับ หรือเงินที่มีลักษณะคล้ายกับ “เงินราชการลับ” ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
 

4. ในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินราชการลับ หรือเงินที่มีลักษณะคล้ายกับเงินราชการลับนั้น ผู้ว่าการและบุคคลที่ผู้ว่าการแต่งตั้งตามวรรคสอง ต้องกระทําเป็นเรื่อง “ลับ”
 

5.ผู้ว่าการอาจแต่งตั้งคณะทํางานหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นข้าราชการสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อช่วยในการตรวจสอบก็ได้ แต่ต้องมีจํานวนน้อยที่สุดเท่าที่จําเป็น..
 

6.กรณีผู้ว่าการพ้นจากตําแหน่ง  หรือต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ให้รองผู้ว่าการ ตรวจเงินแผ่นดินซึ่งมีอาวุโสสูงสุดปฏิบัติหน้าที่
 

7.ก่อนการประชุม “ปิดตรวจสอบการใช้งบลับ” ต้องเปิดโอกาสให้หน่วยรับตรวจได้ชี้แจงเหตุผล หรือความจําเป็นในการดําเนินการประกอบการพิจารณาแจ้งผลการตรวจสอบด้วย
 

8.ข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่ได้มาจากการตรวจสอบตามระเบียบนี้ รวมถึง รายงานการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินราชการลับ หรือเงินที่มีลักษณะคล้ายกับเงินราชการลับ ไม่ว่าจะได้ จัดทําไว้ในรูปแบบใด ให้ถือเป็นข้อมูลข่าวสารลับ และให้นําระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาใช้บังคับ
 

9. ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการ คณะทํางาน หรือเจ้าหน้าที่ที่ผู้ว่าการแต่งตั้งเพื่อช่วยในการตรวจสอบ “ผู้ใดเปิดเผยข้อมูลที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติ หน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินราชการลับ หรือเงินที่มีลักษณะคล้ายกับเงินราชการลับ ตามระเบียบนี้ และมิใช่เป็นการ กระทําตามหน้าที่ราชการ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําความผิดวินัยอย่างร้ายแรง” และอาจต้องรับโทษตามมาตรา 104 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 และให้ถือว่า “เป็นการกระทําผิดทางจริยธรรมด้วย”
 

เพราะอะไรรู้มั่ยครับ เพราะงบลับนั้น เป็นเงินที่ใช้จ่ายที่ดำเนินงานในลักษณะปกปิด  “การเบิกจ่ายงบลับ” จึงไม่สามารถทำได้ตามระเบียบปกติ เพราะเป็นงบ“ชั้นความลับ” 
 

อีกทั้ง ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ว่าด้วยการใช้งบประมาณเงินราชการลับ พ.ศ.2547 ระบุว่า “การสั่งจ่ายงบประมาณเงินราชการลับ ให้มีคณะกรรมการประกอบด้วยข้าราชการในราชการนั้นอย่างน้อย 4 คน โดยหัวหน้าส่วนราชการเป็นประธาน รับผิดชอบการใช้จ่ายงบราชการลับให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติงาน โดยให้มีการจัดทำบัญชีการรับ - จ่ายเงิน และหลักฐานการจ่ายไว้ตรวจสอบด้วย
 

และ“ให้หัวหน้าส่วนราชการ รับผิดชอบในการรายงานผลการใช้จ่ายต่อนายกรัฐมนตรี เป็นประจำทุก 3 เดือน”
 

เห็นมั้ยละว่า “งบลับ” ย่อมต้องทำกันแบบลับ ไม่ใช่หน้าไหนจะทำกันได้ง่ายๆ ใครห้ามจุ้นนะโว้ะ!