หุ้นรพ.ถึงรอบทำกำไร

13 ก.ค. 2564 | 23:00 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2564 | 15:48 น.

หุ้นรพ.ถึงรอบทำกำไร : คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3696 หน้า 13 ระหว่างวันที่ 15-17 ก.ค.2564 By…เจ๊เมาธ์

*** ถ้าหากเอาน้ำหนักของปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ที่มีอิทธิพลตลาดหุ้นไทยมาเปรียบเทียบกัน เจ๊เมาธ์ว่า ปัจจัยในประเทศมีโอกาสสร้างแรงกดดันได้ในระยะสั้นเท่านั้น และหากมองไปที่ปัจจัยภายนอกซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่มาจากต่างประเทศ หรือปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ราคาน้ำมันดิบ ราคาทอง ผลตอบแทนพันธบัตร หรือเรื่องค่าเงิน เจ๊เมาธ์ก็เลยเห็นว่าเรื่องพวกนี้ขึ้นอยู่กับว่า เราจะมองหาประโยชน์จากมันได้หรือไม่


บทเรียนเกี่ยวกับโควิดที่เกิดขึ้นในปี 63 สอนให้รู้ว่าถ้าเป็นหุ้นพื้นฐานดีเป็นหุ้นมีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้ตลอดเวลา และกับสถานการณ์แบบนี้เป็นจังหวะที่นักลงทุนควรจะคัดเลือกหุ้น “พื้นฐานที่ดี” มากกว่า “หุ้นที่คาดว่าจะดี” เนื่องจากหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะดีจนถึงตอนนี้ส่วนใหญ่ได้ปรับราคาขึ้นมาจนเต็มมูลค่า หรือ บางตัวก็เกินมูลค่าไปแล้วด้วยซ้ำไปนะคะ


**** หุ้นโรงพยาบาลหลายตัวไม่ว่าจะเป็น BCH CHG VIBHA PR9 หรือ อีกหลายตัวที่ไม่ได้อ้างถึง ราคาหุ้นได้ปรับตัวลงอย่างแรงหลังจากที่ อย.ได้อนุญาตให้ใช้ชุดตรวจโควิดแบบ "Rapid Antigen Test" รวมไปถึงข่าวการลือ...ข่าวลวงที่ว่ารัฐบาลจะเรียกเก็บภาษีวัคซีนโมเดอร์นา ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนได้สั่งเข้าเป็นวัคซีนทางเลือก โดยทั้งสองเรื่องจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของโรงพยาบาลโดยตรง 

อย่างไรก็ตาม...เจ๊เมาธ์เคยเล่าแล้วว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ ได้ระงับการให้บริการตรวจหาเชื้อโควิดไปแล้ว หมายความว่า รายได้หลักที่ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งมีผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวขึ้นมาในช่วง 1-2 ไตรมาสที่ผ่านมาส่วนนี้ก็จะน้อยลง หรือแทบจะไม่มีเลย ซึ่งนั่นก็จะทำให้ในรายได้ของโรงพยาบาลเหล่านี้จะกลับคืนไปสู่ช่วงเวลาก่อนที่จะมีเชื้อโควิดระบาด 
 

ดังนั้นเจ๊เมาธ์จึงมองว่า การที่ราคาหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลปรับลงมาในรอบนี้ เป็นแค่การใช้จังหวะข่าวลวงเพื่อปรับฐานราคาหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล หรือ ถ้าจะบอกว่าเป็นจังหวะ “ออกของ” ก็น่าจะเรียกได้ และจากนี้ไป เจ๊เมาธ์คิดว่าโอกาสที่ราคาหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล จะทรงกับทรุด น่าจะมีมากกว่าโอกาสที่จะปรับราคาขึ้นได้นั่นเองค่ะ


*** ถ้าจะบอกว่าหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากการ “ล็อกดาวน์” มากที่สุดคือ CPALL ก็น่าจะเป็นคำพูดที่ไม่เกินเลยนัก สาเหตุก็มาจากการที่ร้านสะดวกซื้อ 7-11 ที่มีมากกว่า 10,000 สาขาทั่วประเทศ มีจำนวน 44% ที่อยู่ในเขตที่ประกาศล็อกดาวน์ และที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่ากำไรในปี 63 ซึ่งเป็นแรกปีที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ลดลงจากปีก่อนหน้าถึงเกือบ 30% และกำไรไตรมาสที่ 1/64 ลดลงถึง 45%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่อัตราส่วนในการทำกำไรก็ลดลงถึง 30% เช่นกัน


น่าสังเกตว่าราคาหุ้นของ CPALL กลับวิ่งสวนทางกับผลการดำเนินการ โดยในปีก่อนโควิด-19 ระบาด CPALL มีค่า P/E เฉลี่ยอยู่ที่ 27-29 เท่า แต่ปัจจุบันค่า P/E กลับยืนอยู่ที่ระดับ 43 เท่า ซึ่งหากดูตามตัวเลขแล้วจะเห็นได้ว่า มีความเป็นไปได้ที่ราคาหุ้นอาจจะพัก หรือปรับตัวตัวลงไปได้อีก เนื่องจากที่ผ่านมา CPALL คือหุ้นที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนหลายคน “คาดว่าจะดี” แต่เมื่อมันยังไม่ดี ก็คงต้องรอกันต่อไป

*** แน่นอนว่าสำหรับเจ๊เมาธ์ OR ยังถือว่าเป็นลูกรักที่เจ๊เชื่อว่า หากราคาหุ้นหลุดต่ำลงกว่า 30 บาท ถือว่าเป็นจุดสะสมหุ้นตัวนี้ได้ และยิ่งจังหวะนี้ราคาหุ้นของ OR ร่วงลงไปยืนอยู่ที่ระดับราคา 29 บาท เจ๊ก็เห็นว่าเป็นจุดที่น่าสนใจมาก 


อย่างไรก็ตาม การพิจารณาหุ้นแต่ละตัวยังมีบริบทอีกหลายอย่างที่จำเป็นจะต้องเอามาพิจารณาประกอบกัน เช่นในกรณีของ OR ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ทำให้มีโอกาสราคาหุ้นของ OR อาจจะต้องปรับตัวต่ำลงไปอีก แต่สำหรับเจ๊เมาธ์หุ้นตัวนี้ยังถือว่าน่าสนใจมาก และเหมาะสำหรับการสะสมในระยะยาว เพียงแต่อาจจะต้องแบ่งไม้เล่น และถือยาวขึ้นมาบ้างเท่านั้นเองเจ้าค่ะ


*** หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อย่าง DELTA KCE HANA มีคำสั่งซื้อแน่นไปอีกหลายเดือน ถ้ามองในเรื่องของกิจการต้องถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะมีคำสั่งซื้อแน่นจนล้น แต่หากมองเรื่องผลการดำเนินงานซึ่งจะผูกอยู่กับราคาหุ้น เรื่องนี้เจ๊เมาธ์ไม่แน่ใจว่าจะส่งผลดีหรือไม่ เพราะปัจจุบันทั้ง 3 บริษัทได้เดินกำลังการผลิตแบบเต็ม 100% ซึ่งก็หมายความว่า บริษัทไม่สามารถที่จะสร้างรายได้เพิ่มมากกว่านี้ไปอีกแล้ว จะเหลือก็เพียงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเท่านั้น ที่จะสร้างรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นให้กับหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์กลุ่มนี้ ซึ่งค่าเงินเป็นเรื่องที่บริษัทเหล่านี้ ไม่สามารถควบคุมได้...หมายความว่าราคาหุ้นก็จะไปได้อีกไม่ไกลนั่นเองเจ้าค่ะ