*** สถานการณ์โควิด-19 ในไทยวุ่นหนักขึ้นทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันยังคงสูงลิ่วและไม่มีทีท่าลดลง ยอดผู้เสียชีวิตรายวันสูงขึ้น ล่าสุดหนักขึ้นไปอีกเมื่อ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข้อมูลที่น่าสนใจโดยลงไปตรวจในแคมป์คนงานก่อสร้างกทม.มีการติดเชื้อในลักษณะผสม ในตัวคนเดียวมีทั้ง 2 สายพันธุ์ทั้งเดลต้า และอัลฟ่า มีอยู่ประมาณ 7 ราย จากทั้งหมดกว่า 200 ราย บอกสัญญาณถ้ามีการติดเชื้อผสมบ่อยๆ และจำนวนมาก จะเกิดลูกผสมไฮบริดเกิดเป็นไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ขึ้นมาได้ ซึ่งการที่รัฐบาลหยุดการเดินทางและมีมาตรการที่เข้มงวดต่างๆ เพื่อลดโอกาสของการการผสมเชื้อเกิดขึ้นบ่อยลักษณะเกิดในประเทศอื่นๆ ในโลกนี้ด้วย แต่ไม่ได้บอกว่าผสม 2 สายพันธุ์จะทำให้รุนแรงขึ้น แต่ต้องเฝ้าระวังต่อไป
*** ปรับแผนวัคซีน ในที่สุดกระทรวงสาธารณสุขก็อดรนทนไม่ไหว จากข้อมูลที่หลั่งไหลทางวิชาการ โดยเฉพาะในด้านวัคซีนซิโนแวค ที่แม้กระทั่งฉีด 2 เข็มแล้วภูมิยังไม่ขึ้น หรือ ภูมิขึ้นแล้ว และลดลงไปอย่างรวดเร็วภายใน 3 เดือน ก็ไม่สามารถต้านทานอะไรได้แล้ว และที่สำคัญกับสายพันธุ์เดลต้าที่เชื้อดุ และระบาดหนักอยู่ในขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขจำต้องยอมปรับแผนวัคซีนใหม่สลับชนิดกัน โดยเข็มที่ 1 เป็น ซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็น แอสตร้าเซนเนก้า ระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า ให้โรงพยาบาลต่างๆ ดำเนินการได้ทันที เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เสียสละดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
*** เท่านั้นไม่พอ ยอมปรับวัคซีนเข็ม 3 หรือ บูสเตอร์ ที่เขาเรียกกัน อนุมัติมาแล้วให้วัคซีนเข็มที่ 3 ห่างจากเข็ม 2 ในระยะ 3-4 สัปดาห์ขึ้นไป โดยบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม เกิน 4 สัปดาห์แล้ว จึงจะดำเนินการฉีดกระตุ้นบูสเตอร์ โดสทันที เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันสูง และเร็วที่สุดกับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เสี่ยงสัมผัสเชื้อโควิด-19 จากการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย และจากการกลายพันธุ์จากอัลฟ่า มาเป็นเดลต้า จึงยิ่งมีความจำเป็นต้องฉีดกระตุ้น แต่ด้วยการหาวัคซีนอย่างไฟเซอร์ โมเดอร์นา มาไม่ทัน จึงจำต้องใช้เข็ม 3 หรือ บูสเตอร์ โดสด้วยแอสตร้าเซเนก้าเป็นหลัก อิงข้อมูลทางวิชาการวัคซีนกระตุ้นคนละชนิดจะเป็นผลดีต่อการสร้างภูมิคุ้มกันในบุคคล แต่ก็อย่า “ผลีผลาม” ตัดสินใจ ต้องศึกษาข้อมูลให้ครบรอบด้าน
*** ต่อสู้ถกเถียงกันยาวนานตั้งแต่โควิดระลอก 2 ไประลอก 3 และมาถึงระลอก 4 ที่มีคนไข้หนักเต็มโรงพยาบาลขณะนี้ ว่าด้วยเรื่องการใช้ชุดตรวจ “แรพิด แอนติเจน เทสต์” ในสถานพยาบาล ลดการไปรอคิวนานจากการรอตรวจอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) ซึ่งใช้เวลานาน ภาพที่ได้เห็นเมื่อมีคนไปนอนรอตรวจกันจำนวนมาก ตั้งแต่ 2 ทุ่มตอนกลางคืนยันเช้าอีกวัน หรือ บ่ายอีกวัน ยังไม่ได้เข้ารับการตรวจโควิด ซึ่งเป็นสภาพที่อเนจอนาถของผู้พบเห็นอย่างยิ่งว่า จะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นในประเทศนี้ได้อย่างไร เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ทำไมไม่อนุมัติ อนุญาต ชุดตรวจแรพิด แอนติเจน เทสต์เสียที
ในที่สุดก็อ้อมแอ้มอนุญาต โดยที่นำมาใช้ได้ต้องมีการผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ปัจจุบันมีผู้มาขึ้นทะเบียน 24 ราย อนุญาตให้ตรวจมาตรฐานในสถานพยาบาลกว่า 300 แห่ง ส่วนการหาชุดตรวจแบบนี้มาตรวจที่บ้าน ต้องรอต่อไป ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะปลดปล่อยเสียที่ ตรวจก่อน รู้ก่อน แยกแยะคนเข้ารักษา ป่วยไม่หนักให้รักษาอยู่บ้านก็ว่ากันไป ป่วยหนักส่งเข้า รพ. อาการมากกว่าป่วยขึ้นมาหน่อยส่งไปรพ.สนาม มันยากเย็นตรงไหนถึงกระมิดกระเมี้ยนเสียเหลือเกินในการอนุญาตชุดตรวจแบบนี้
*** มาแล้วทิ่มตรงเข้าปลายคาง ย่อให้สั้นๆ เมื่อสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกมาประเมินผลงานกลางเทอมรัฐบาลประยุทธ์ 2: การควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีน แม้การระบาดโควิดและการกลายพันธุ์อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาล แต่ขีดความสามารถและประสิทธิภาพของภาครัฐมีผลอย่างยิ่งต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน น่าเสียดายประเทศไทยเคยประสบความสำเร็จในการควบคุมระลอกก่อนหน้า
แต่เมื่อรัฐบาลดำเนินการผิดพลาดในการควบคุมโรคและการบริหารจัดการวัคซีน ประเทศก็กลับเข้าสู่วิกฤติด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง จนสูญเสียโอกาสในการฟื้นตัวสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็ว และสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันในเวทีโลก ตรงนี้สำคัญต้องขีดเส้นใต้ไว้... กรณีผิดพลาดนี้สมควรต้องมีผู้ที่ต้องรับผิดชอบ และสมควรมีการแสวงหาข้อเท็จจริงและวิเคราะห์ในเชิงลึก โดยคณะกรรมการที่เป็นอิสระคล้ายกับคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) ที่ตั้งขึ้นหลังวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เพื่อถอดบทเรียนและป้องกันความผิดพลาดซ้ำอีกในอนาคต ...เสียววูบวาบขึ้นมาโดยพลัน เมื่อองค์กรนี้ออกมากระทุ้งตรงๆ เช่นนี้ ต้องไม่ลืมว่าในอดีตการริเริ่มออกมาให้ความเห็นประเมินแบบตรงไปตรงมาขององค์กร การส่งสัญญาณเตือนให้แก้ไขหลายเรื่อง ล้วนเป็นบทสรุปของรัฐบาลที่จบไม่สวยทั้งสิ้น ดูอย่างจำนำข้าวปะไร เรื่องนี้ต้องโฟกัสให้ละเอียดเลย โดยเฉพาะเรื่องของการบริหารจัดการวัคซีนและกระจายวัคซีน
*** ปิดท้ายต้องชื่นชม ธนาคารไทยพาณิชย์ เจ้าของแอพโรบินฮู้ด สั่งอาหารในยาม WFH ประกอบอาชีพไม่ได้ นั่งรับประทานอาหารในร้านไม่ได้ ต้องสั่งดิลิเวอรี่ เขาก็กระโดดมาช่วย ลดค่าขนส่งลงไปธนาคารเข้าไปแบกภาระส่วนนี้ไว้เอง ช่วยทั้งพนักงานขับรถส่ง ช่วยทั้งร้านอาหารที่ขายได้ในราคาที่ไม่สูงมากเกินไป ช่วยทั้งผู้บริโภค ฟัง อาทิตย์ นันทวิทยา ซีอีโอใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์สื่อสารกับพนักงาน ธนาคารเป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีบทบาทสำคัญต่อสังคมไทยในยามที่สังคมเดือดร้อน เรามีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องช่วยบรรเทาปัญหาในมุมที่เราสามารถทำได้ นอกจากหน้าที่ของสถาบันการเงิน เป็นแนวคิดที่คนตัวใหญ่ต้องช่วยคนตัวเล็ก โดยเฉพาะช่วงที่คนตัวเล็กได้รับความเดือดร้อน องค์กรใหญ่อื่นๆ ต้องกระโดดเข้ามาแล้วในสถานการณ์นี้