ตั้งทีมเจรจาโฮปเวลล์ด่วน “ลุงตู่” ลดค่าเสียหายก้อนโตแน่นอน

12 ส.ค. 2564 | 04:10 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ส.ค. 2564 | 15:29 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา

     13 ก.ค.2564 ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของการพิจารณาข้อขัดแย้งที่เป็นข้อพิพาทของรัฐ-เอกชน จนกลายเป็นภาระที่ต้อง “จ่ายค่าโง่” ก้อนโต 2.5-2.6 หมื่นล้านบาท 

     เมื่อศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำขอของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา ในคดีหมายเลขดำที่ 107/2552 ,2038/2551 ,1397/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 366-368/2557 หรือคดีพิพาทกับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย)จำกัด แม้กระทรวงคมนาคม และ รฟท.จะอ้างว่ามีหลักฐานใหม่เกี่ยวกับการนับอายุความในคดีโฮปเวลล์

     คดีนี้เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและต้องบันทึกไว้ในปฐพี...เพราะเป็นเรื่องค่าโง่ก้อนโต และเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันไปถึงอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ-ศาลปกครอง ที่ “หักกันกลางประเทศ” และเกี่ยวพันว่าด้วยเรื่องการยกคดีเก่านานกว่า 23-24 ปี ขึ้นมารื้อฟื้นเพื่อต่อสู้เป็นคดีใหม่ให้คนไทยได้ตื่นรู้

ตั้งทีมเจรจาโฮปเวลล์ด่วน “ลุงตู่” ลดค่าเสียหายก้อนโตแน่นอน

     คดีนี้กระทรวงคมนาคม เป็นผู้ร้องที่ 1 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้ร้องที่ 2  บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย)จำกัด เป็น ผู้คัดค้าน...ผมสรุปคำสั่งศาลปกครองราว 32 หน้า ที่ “นายทศพร โต๊ะบุรินทร์” ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง “นายสมลักษณ์ นันทโกวัฒน์” เป็นตุลาการศาลปกครองกลาง “นายจิรสวัสดิ์ สุรฤทธิ์ธำรง” เป็นตุลาการศาลปกครองกลาง เป็นผู้วินิจฉัยสั่งการทางปกครอง..คร่าวๆดังนี้ 

     ศาลปกครองกลางเห็นว่า แม้ทางผู้ร้องจะยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2564 ว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 เรื่องปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาฟ้องคดี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาเป็นเหตุผล

     แต่เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญ “ไม่รับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติม” ในส่วนที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดในคดีโฮปเวลล์ เพราะเป็นการกระทำทางตุลาการ ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงไม่มีผลผูกพันต่อศาลในคดีโฮปเวลล์

     นอกจากนี้ เมื่อพิจารณา รัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่ ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ “แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมจะไม่กระทบต่อคำพิพากษาศาลอื่นอันถึงที่สุดแล้ว”

ตั้งทีมเจรจาโฮปเวลล์ด่วน “ลุงตู่” ลดค่าเสียหายก้อนโตแน่นอน

     แม้ว่ากฎหมายที่ศาลอื่นใช้เป็นหลักจะถูกวินิจฉัยในภายหลังว่า ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญก็ตาม 

 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีผลผูกพันเฉพาะคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลอื่นเท่านั้น

     ดังนั้น เมื่อศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 ในคดีโฮปเวลล์ ย่อมถือได้ว่าคดีนี้ ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 5/2564  ออกมา คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่กระทบต่อคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแต่อย่างใด คำสั่งศาลปกครองสูงสุดจึงถึงที่สุดแล้ว....

     นอกจากนี้ ศาลปกครองกลางยังระบุว่า คำร้องขอให้พิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่ ของกระทรวงคมนาคม ผู้ร้องที่ 1 และ รฟท.ผู้ร้องที่ 2 นั้น ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาคดีใหม่ เนื่องจากศาลปกครองไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด หรือมีพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้น เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ตามที่ กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ยกขึ้นมากล่าวอ้าง

     เรียกว่าเป็นคำตัดสินของศาลปกครองกลางที่ “หัก” อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไว้ชัดเจน

     แม้ว่าในหลักการจะตรงกันกับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้ยืนยันว่า การกระทำทางตุลาการไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 47 (4) หลังจากผู้ร้องได้ยื่นคำร้องโต้แย้งการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการนับระยะเวลาการรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี ที่ผู้ร้องอ้างว่า เป็นการพิจารณาพิพากษาคดีโดยใช้ระเบียบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอาศัยมติที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครอง ซึ่งผู้ร้องเห็นว่า เป็นระเบียบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง ซึ่งในตอนท้ายนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้ยืนยันว่า เป็นการกระทำทางตุลาการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถรับคำร้องส่วนนี้ไว้ได้

ตั้งทีมเจรจาโฮปเวลล์ด่วน “ลุงตู่” ลดค่าเสียหายก้อนโตแน่นอน

     แต่คำวินิจฉัยนี้จะส่งผลกระทบต่อคดีในศาลปกครองในอนาคตหรือไม่ ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า การนับระยะเวลาดังกล่าวมีเนื้อหาเป็นระเบียบซึ่งเป็นระเบียบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ตอนนี้คำพิพากษาของศาลปกครองยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ในคดีนี้...ผมขอบันทึกไว้ที่นี่

     อย่างไรก็ตามประเด็นที่ต้องพิจารณาติดตาม คือถึงตอนนี้คดีโฮปเวลล์นั้นจะไปต่ออย่างไร 

     ก่อนหน้านี้ วันที่ 9 เม.ย.2564  ศาลปกครองกลางมีคำสั่ง “ยกคำของดหรือทุเลาการบังคับคดี” ในคดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223 หรือ คดีโฮปเวลล์ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาไปแล้ว เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2562 ให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยจ่ายค่าชดเชย 11,888  ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด 

     ศาลปกครองกลางให้เหตุผลว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223 โดยให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น แม้ว่าต่อมากระทรวงคมนาคม และ รฟท. อ้างว่า อยู่ระหว่างดำเนินการทางศาล โดยกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินว่า มติที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาลปกครองสุงสุดครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 ขัดต่อรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 หรือไม่ และ รฟท. ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด อีกทั้งกระทรวงคมนาคมและ รฟท. ได้ดำเนินการสอบสวนเพื่อหาผู้รับผิดชอบทางแพ่งและทางวินัยจากการกระทำผิดในโครงการระบบขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพ (โฮปเวลล์)

ตั้งทีมเจรจาโฮปเวลล์ด่วน “ลุงตู่” ลดค่าเสียหายก้อนโตแน่นอน

     ศาลปกครองกลางเห็นว่า กรณีดังกล่าว ไม่เป็นเหตุที่จะเข้าเงื่อนไขในการงดการบังคับคดี ตามระเบียบข้อ 131 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543

     การร้องขอทุเลาการบังคับคดีนั้น ไม่มีกฎหมายให้อำนาจศาลในการทุเลาการบังคับคดี  

     ประกอบกับคดีนี้ ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วตามมาตรา 73 วรรคสี่ แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ.2542 ศาลปกครองกลางจึงไม่อาจมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคดีได้เช่นกัน

     การจ่ายค่าชดเชย 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ให้กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ล่าสุดมีรายงานออกมาว่าตัวเลขเงินต้นและดอกเบี้ยได้เพิ่มเป็นกว่า 2.5-2.6 หมื่นล้านบาท เข้าไปแล้วจะเอาอย่างไร

     ยื้อคดีสู้ต่อไปต้องจ่ายดอกเบี้ยวันละ 2.4 ล้านบาท ช่องไหนที่จะลดความเสียหายของรัฐมากที่สุด นักกฎหมายผู้ลองพิจารณาดู

     แต่สำหรับผมขอเสนอให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทรฺโอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งทีมเจรจากับเอกชนเพื่อหาทางลดความเสียหายในการจ่ายเงินชดเชยไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ แต่อย่าใช้ทีม “กระทรวงคมนาคม-การรถไฟ” เด็ดขาด เพราะเป็นคู่กรณีที่ต่อสู้กันมายาวนาน

     ไม่แน่ว่า อาจสามารถลดภาระการจ่ายเงินในส่วนที่เป็นดอกเบี้ยได้อย่างน้อย 5,000-7,000 ล้านบาท ก็ช่อยประเทศไทยได้สบายๆ หากรัฐบาลเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ ไม่เชื่อลองทำดูสิครับ!