สำหรับบทความในตอนนี้จะกล่าวถึงตลาดคาร์บอนเครดิตเพิ่มเติม โดยอาศัยเนื้อหาที่อ้างอิงจาก Wikipedia และจาก www.environnet.in.th เป็นหลัก
1. การค้าขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก
จากบทความเรื่อง การค้าขายแลกเปลียนก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading หรือ Cap and trade) ของ Wikipedia อธิบายว่าเป็นวิธีการประการหนึ่งที่จะให้แรงจูงใจทางการเงิน เพื่อให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้การพัฒนาโครงการคาร์บอนขึ้นมาใช้ลดก๊าซเรือนกระจก และให้การตอบแทนเป็นคาร์บอนเครดิต ซึ่งนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ พิธีสารเกียวโตได้ให้ช่องทางนี้ไว้เพื่อลดคาร์บอนแล้วขาย (Cap and trade) ในกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) รวมทั้งการทำ Joint Implementation (JI) เป็นต้นเพื่อให้มีการยืดหยุ่นในการจัดการกับคาร์บอน
ในการซื้อขายนี้ เริ่มต้นจากผู้มีอำนาจหน้าที่ซึ่งโดยมากจะเป็นรัฐบาล จะกำหนดจุดสูงสุด (Cap) ที่อนุญาตให้ปล่อยคาร์บอนได้ แต่ละองค์กรก็จะได้สิทธิที่จะสามารถปล่อยได้ในจำนวนหนึ่ง องค์กรที่ปล่อยคาร์บอนเกินจุดที่กำหนด จึงต้องไปซื้อสิทธิมาจากองค์กรที่ปล่อยไม่ถึงสิทธิของตนนั้น ถ้าปล่อยเกินโดยไม่ซื้อจะได้รับการลงโทษอย่างรุนแรง ตัวอย่างเช่น โรงงานแห่งหนึ่งก่อนเริ่มโครงการเคยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 100,000 ตันต่อปี เมื่อเข้าโครงการโดยพันธะทางกฎหมายและสมัครใจ จะต้องลดการปล่อยลง 5% คือสามารถปล่อยได้ 95,000 ตันต่อปี ถ้าทำได้สามารถนำส่วนที่ลดได้ไปขายได้แต่ถ้าลดไม่ ได้ต้องเสียเงินไปซื้อส่วนที่เกินไปจากผู้ที่ลดได้
2. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Market / Compliance Market / Regulated Market)
จากบทความเรื่อง ตลาดคาร์บอนของ www.environnet.in.th สรุปไว้ว่า ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ หรือตลาดคาร์บอนตามพันธกรณีระหว่างประเทศ คือ ตลาดคาร์บอนที่จัดตั้งขึ้น สืบเนื่องจากผลบังคับในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมายซึ่งต้องมีรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้ออกกฎหมายและเป็นผู้กำกับดูแลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยที่ผู้เข้าร่วมในตลาดจะต้องมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซ เรือนกระจกที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย (Legally binding target)
ตลาดคาร์บอนภาคบังคับจะใช้การกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในลักษณะ Top-down approach (การกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยภาครัฐ และให้เอกชนเป็นผู้ปฎิบัติตาม) ซึ่งตลาดภาคบังคับจะมีความเกี่ยวข้องกับการซื้อขายคาร์บอนตามพันธกรณีของพิธีสารเกียวโต โดยการค้าคาร์บอนเครดิตที่เกี่ยวกับประเทศไทยคือ การค้า CERs (ซึ่งจะได้อธิบายต่อไป)
ลักษณะกลไกที่ใช้ในตลาดคาร์บอนภาคบังคับได้แก่
• การดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน (Joint Implementation: JI)
เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีพันธกรณีต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างตํ่า(ประเทศในภาคผนวก1*) ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงของโครงการ JI จะเรียกว่า Emission Reduction Units (ERUs) ซึ่งมีค่าเท่ากับ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
• กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM)
กลไก CDM นี้มีลักษณะเดียวกับโครงการแบบ JI เพียงแต่ประเทศที่ทำโครงการต้องเป็นประเทศนอกภาคผนวก 1 และเป็นผู้เสนอว่าโครงการจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เป็นจำนวนเท่าใด CDM เป็นกลไกเพื่อช่วยให้ประเทศอุตสาหกรรมซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มภาคผนวกที่ 1 สามารถบรรลุพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยซื้อคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการทำโครง การ CDM ในประเทศกลุ่มนอกภาคผนวกที่ 1 ซึ่งเรียกว่า Certified Emission Reduction หรือ CERs เพื่อนำไปหักลบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
CERs จึงเป็นปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่โครงการ CDM สามารถลดได้ และได้การรับรองจากคณะกรรมการบริหารโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด(CDM Executive Board หรือ CDM EB)
การซื้อขายก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ (Emission Trading: ET) เป็นกลไกที่เอื้อให้เกิดการซื้อขายก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับจัดสรรระหว่างประเทศในกลุ่มภาคผนวกที่ 1 เนื่องจากประเทศต่างๆ ในกลุ่มนี้มีพันธกรณีในการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศแตกต่างกัน ประเทศที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามพันธกรณี สามารถเข้าสู่กลไก ET เพื่อซื้อ CERs และ ERUs ได้ นอกจากนี้ประเทศหรือกลุ่มของประเทศเหล่านี้ก็สามารถพัฒนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับท้องถิ่นของตนเองได้ เพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นไปตามเป้าหมายของประเทศการซื้อ CERs และ ERUs ผ่านกลไก ET สามารถซื้อเพื่อครอบคลุมปริมาณการปล่อยก๊าซบางส่วนหรือทั้งหมดได้
3. ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Market)
คือตลาดคาร์บอนที่ถูกสร้างขึ้นโดยไม่ได้มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมก๊าซเรือนกระจกมาบังคับ การจัดตั้งตลาดเกิดความร่วมมือกันของผู้ประกอบการในภาคเอกชน ผู้ที่เข้าร่วมซื้อขายในตลาดนั้นจะยินดีเข้าร่วมด้วยความสมัครใจ โดยอาจจะมีการตั้งเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองโดยสมัครใจ (Voluntary Cap-and-trade) แต่จะไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมาย (Non-legally binding target) ซึ่งอาจซื้อขายผ่านกลไกตลาดที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ หรือซื้อขายแบบ Over-the counter market ซึ่งไม่มีระบบการซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ชัดเจนมีเพียงการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขาย ซึ่งทำให้มีต้นทุนในการจัดการตํ่ากว่า และดำเนินการได้ง่ายกว่า
4. Cap and Trade
การเกิดขึ้นของ ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme : ETS) เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ “แรงจูงใจทางการเงิน” ในการส่งเสริมให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเริ่มจาก “เจ้าของระบบ” (ส่วนใหญ่เป็นภาครัฐ) กำหนดระดับเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับปีฐาน (หรือที่เรียกว่า Cap Setting) ให้กับอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง หลังจากนั้นรัฐบาลจะจัดสรรใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือที่เรียกว่า “Allowance Allocation” ให้กับโรงงาน / องค์กรต่างๆ ที่อยู่ในระบบเพื่อจำกัดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละโรงงาน/ องค์กร โดยแต่ละโรงงาน / องค์กร จะไม่สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เกินกว่าระดับ Cap ที่กำหนดไว้ในแต่ละปี และต้องรายงานผลการตรวจวัด ปริมาณการปล่อยที่ผ่านการทวนสอบ (Verification) ให้กับรัฐทุกปี
จากนั้นโรงงาน / องค์กรต่างๆต้อง “คืน” (หรือที่เรียกว่า Surrender) ใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับจัดสรรมาจากรัฐบาลตามปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา (ตามที่รายงานทุกสิ้นปี) ซึ่งหากโรงงาน / องค์กรต่างๆ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า ใบอนุญาตปล่อยก๊าซที่ได้รับจัดสรร ก็ต้องทำการซื้อใบอนุญาตฯ จากโรงงาน / องค์กรอื่นๆ ภายใต้ระบบเดียวกัน หรือมีอีกทางเลือกหนึ่งก็คือ อาจซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตราฐานต่างๆ ที่ระบบ ETS นั้นๆ ยอมรับให้นำมาใช้แทนใบอนุญาตฯเพื่อเป็นการชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ตนเองปล่อยเกินกว่าใบอนุญาตฯที่ตนได้รับจัดสรรมา ในทางกลับกัน หากโรงงาน / องค์กร ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตฯ ก็สามารถเก็บสะสม (Banking) ใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้สำหรับปีถัดไปได้ หรือจะขายให้แก่โรงงาน / องค์กรอื่นก็ได้ ทั้งนี้ราคาซื้อขายใบอนุญาตฯ นี้จะผันแปรขึ้นกับอุปสงค์และอุปทานในขณะนั้น
* ประเทศในภาคผนวก 1 ได้แก่ ประเทศบูลกาเรีย โครเอเทีย สาธารณรัฐเชค เอสโทเนีย ฮังการี แลตเวียลิทูเอเนีย โปแลนด์ รัสเซีย สโลเวเนีย และยูเครน