ระยะเวลา 2 ปี ที่เกิดการแพร่ระบาดของรัสโรคร้าย ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อโรคต้องล้มหายตายจากร่วม 1.4-1.5 หมื่นคนเท่านั้น หากแต่ยอดหนี้ของผู้คนในประเทศก็พอกพูนทวีขึ้นมา จากปัญหาเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด เป็นการเพิ่มขึ้นมาชนิดที่เรียกได้ว่า “หนี้ท่วมหัว...ไม่รู้จะเอาตัวรอดกันได้แค่ไหน”
ผมไป “สแกนกรรมหนี้ครัวเรือน” ของคนไทย เห็นตัวเลขแล้วเสียวท้องวาบ!
ปี 2562 หนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นมายืนที่ระดับ 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)
พอถึงสิ้นไตรมาส 1/2564 หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงมากถึง 90.5% ของจีดีพี
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศระลอกสามที่ลุกลามยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) คาดการณ์ว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 93.0% ในสิ้นปี 2564 หรือราว 14.13 ล้านล้านบาท
ttb ประเมินว่า ปริมาณหนี้ครัวเรือนของไทยต่อจีดีพี ที่เร่งขึ้นเร็วเกิดจาก
1. ความจำเป็นในการก่อหนี้เพิ่ม เนื่องจากขาดหรือมีสภาพคล่องในครัวเรือนไม่เพียงพอกับรายจ่าย หลังจากที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติในช่วงล็อกดาวน์ การถูกปรับลดเงินเดือนบางส่วนลง การถูกเลิกจ้าง
2. รายได้ประชาชนลดลงมากเมื่อเทียบกับหนี้ที่เพิ่มขึ้นเร็ว สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนไทย ณ ต้นปี 2564 ที่ขยายตัว 4.6% จากระยะเดียวกันกับปี 2563 ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะซบเซา
อย่างไรก็ตาม หลายประเทศก็ประสบปัญหาการปรับเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนเช่นเดียวกัน
ประเทศเกาหลีใต้ หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจาก 93.9% ของจีดีพี เป็น 103.8% ณ ต้นปี 2564 อยู่ในอันดับ 9 ของโลก
ประเทศมาเลเซีย หนี้ครัวเรือนเพิ่มจาก 82.7% เป็น 93.2% ในปัจจุบัน อยู่ในอันดับ 14 ของโลก
ขณะที่ประเทศไทยมีปริมาณหนี้ครัวเรือนอยู่อันดับที่ 17 ของโลก แต่สูงกว่าสิงคโปร์ ที่อยู่อันดับที่ 26
ผลการสำรวจของข้อมูลของเครดิตบูโร (National Credit Bureau :NCB) ซึ่งไม่รวมหนี้นอกระบบ หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ และหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ข้อสรุปว่า ครัวเรือนไทยมีสุขภาพทางการเงินอ่อนแอลง และมีพฤติกรรมการก่อหนี้ใน 4 ลักษณะ
หนึ่ง “เป็นหนี้อายุน้อยลง”
สอง “มียอดหนี้ต่อหัวสูงขึ้น”
สาม “เป็นหนี้นานขึ้น”
สี่ “มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง”
คุณลักษณะ 4 ข้อ ของหนี้ครัวเรือนไทยนี่แหละสะท้อนว่า คนไทยขาดภูมิคุ้มกันทางการเงินเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
แล้วหนี้ครัวเรือนของคนไทยส่วนใหญ่เป็นหนี้ในกลุ่มไหนบ้าง
1) หนี้บ้าน ข้อมูลล่าสุดเมื่อไตรมาส 1 ยอดคงค้างหนี้บ้านเพิ่ม 55,300 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน สอดคล้องกับแคมเปญกระตุ้นยอดขายของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่อาศัยแนวราบราคาประมาณ 1-3 ล้านบาท และ 3-5 ล้านบาท ซึ่งผู้กู้หรือครัวเรือนยังคงเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ รายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง ทำให้ยังคงมีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ได้
2) หนี้เพื่อประกอบอาชีพ ยอดคงค้างหนี้ประกอบอาชีพเพิ่ม 40,100 ล้านบาท จากไตรมาสก่อน แสดงว่า มีการก่อหนี้เพิ่มเพื่อหนุนสภาพคล่อง และใช้เป็นทุนหมุนเวียนประคับประคองกิจการในช่วงที่โควิดยืดเยื้อ ซึ่ง กระทบต่อรายได้และยอดขาย
3) หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคทั่วไป ซึ่งยอดคงค้างหนี้อุปโภคบริโภคทั่วไปเพิ่ม 33,500 ล้านบาท จากไตรมาสก่อน แสดงว่ากลุ่มครัวเรือนมีปัญหารายได้ฝืดเคือง รายได้ไม่สมดุลกับภาระค่าใช้จ่าย จนทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายในชีวิตประวัน
และเมื่อส่องสุ่มลึกลงไปในรายละเอียดพบว่า ประเภทของหนี้ครัวเรือนไทย เป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 47% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด เช่น หนี้บ้านและรถยนต์
ส่วนกลุ่มของหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันมีเพียงแค่ 35% เช่น หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป รวมถึงหนี้เพื่อการศึกษา
หนี้สินที่เหลืออีก 18% เป็นหนี้รายย่อยเพื่อธุรกิจครัวเรือน
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หนี้ครัวเรือนในประเทศเราสูงขึ้นมามาก เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้รายได้ของครัวเรือนลดลงมาก จนกระทบต่อเรื่องปากท้อง ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ใช้ประกอบอาชีพ ค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูครอบครัว ขณะที่กลุ่มแรงงานนอกระบบกลุ่มใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มคนขับรถยนต์รับจ้าง จักรยานยนต์รับจ้าง ที่เป็นคนหาเช้ากินค่ำกลับมีรายได้เฉลี่ยเหลือเพียงร้อยละ 10-40% เท่านั้น ถือว่าหนักหน่วงมาก
ธปท.เคยทำการสำรวจเมื่อต้นปี กลุ่มลูกหนี้รายย่อยของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธุรกิจบัตรเครดิต และธุรกิจเช่าซื้อ รวมเกือบ 15 ล้านคน พบว่า ถ้าจะช่วยให้ลูกหนี้ที่มีหนี้สินเกินตัวทั้งหมดให้สามารถเดินหน้าไปต่อได้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องปรับโครงสร้างหนี้กันทั้งหมด ผ่านวิธีการลดดอกเบี้ย ลดเงินต้น และต้องเร่งการปรับโครงสร้างหนี้แบบจริงจังให้มากขึ้นและเร็วขึ้นและต้อง “ลงมือทำทันที”
มาตรการเร่งด่วนเฉพาะหน้า ที่รัฐบาลต้องทำทันทีคือ การเยียวยาครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบให้พวกเขาอยู่รอดได้ไม่ต้องก่อหนี้เพิ่ม
ข้อมูลที่ นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย บอกว่าสมาคมธนาคารได้เร่งดำเนินการเต็มที่แล้ว มีลูกค้าขอรับความช่วยเหลือกว่า 6 ล้านบัญชี วงเงิน 4.25 ล้านล้านบาท เป็นวงเงินสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 800,000 ล้านบาท ลูกค้าเอสเอ็มอี 1.8 ล้านล้านบาท ลูกค้ารายย่อย 1.6 ล้านล้านบาท
ล่าสุด ยังมีลูกค้าที่ต้องการความช่วยเหลืออีก 1.89 ล้านบัญชี วงเงิน 2 ล้านล้านบาท เป็น ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ 560,000 ล้านบาท ลูกค้าเอสเอ็มอี 820,000 ล้านบาท ลูกค้ารายย่อย 620,000 ล้านบาท ...น่าจะเป็นฐานในการตัดสินใจดำเนินการแก้ปัญหาหนี้แบบลากยาวไปอีก 1-2 ปี เพื่อชุบชีวิตให้คนไทยได้มีลมหายใจ
สถานการณ์ตอนนี้รัฐบาลต้องกล้าที่จะประกาศ “เติมเงินใส่มือประชาชน” ต้องให้สถาบันการเงินจัดการเรื่องการลดดอกเบี้ย แก้หนี้สินให้ประชาชนแบบ “ปูพรม” เพราะตอนนี้ประชาชนหนี้ท่วมหัวกันทุกคน ไม่เว้นจน รวย
มีแต่บรรดาสมาชิกสถภาผู้แทนราษฎร เท่านั้นที่รวยและมีเงินก้อนโตจากการ “รับกล้วย” ในการทำหน้าที่นำอำนาจอธิปไตยจากปวงชนชาวไทยที่ลงคะแนนเลือกพวกเขา ไปทำหน้าที่ในสภาตามระบอบประชาธิปไตยที่ชวนไฝ่ฝัน
ทว่าพวกสภา 500 กลับไม่รู้จักเกียรติยศศักดิ์ศรีของตัวเอง กลับไปรับกล้วยจากการทำหน้าที่ จนราคากล้วยในท้องตลาดถีบตัวไปสูงลิ่วชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน “มือละ 5-8 หวี”
แม้วิกฤติทางการเมืองในรัฐสภา และการโหวตลงมติไม่ไว้วางใจจะผ่านพ้นไปกว่า 20 วันแล้ว แต่จนบัดป่านนี้กล้วยที่ราคาสูงลิ่วยังแจกกันไม่หมด และออกมาหล่นเพ่นพ่านใส่มือบรรดาผู้ทรงเกียรติร่วม 300 หวี...
รับกันไม่หวาดไม่หวั่น กล้วยหวีละล้าน! ใครได้บ้างไปสอบถามผู้ทรงเกียรติกันเองนะครับ!