วันเวลาที่เหลือของชายชรา

11 ธ.ค. 2564 | 01:40 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

มีเพื่อนที่เป็นชาวไต้หวันส่งไลน์เรื่องคนสูงวัยชาวญี่ปุ่น ในการเตรียมจัดการเรื่องของบั้นปลายชีวิตที่เหลืออยู่ ได้อย่างน่าสนใจมากทีเดียว ซึ่งก็ใกล้เคียงกับวิถีชีวิตของเราชาวพุทธที่ต้องรู้จักตัวตนของตนเอง และที่ต้องเตือนใจตนเองเสมอว่า อย่าได้ประมาทกับสิ่งที่พร้อมที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเสมอครับ
           

เขาบรรยายมาว่า เมื่อคนเราเข้าสู่สังคมที่สูงวัย คนส่วนใหญ่จะเริ่มต้องเตรียมพร้อมตนเอง เพื่อรับมือกับการจัดการชีวิตไว้เสมอ กล่าวคือ เมื่อเข้าสู่วัยในช่วง 40 ปี ต้องจัดการสิ่งของที่ไม่จำเป็นสำหรับชีวิต ถ้ามีก็ให้โยนทิ้งไป อย่าได้เสียดาย

พอเข้าสู่วัย 50 ปี สิ่งของที่ไม่จำเป็น เช่น อุปกรณ์กีฬาและเครื่องมือต่างๆ ที่สมัยที่ตนเองยังเป็นเด็กอยู่ อาจจะชื่นชอบแต่พออายุมากแล้ว แต่ไม่สามารถได้ใช้มันอีกต่อไปแล้ว เช่น เฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ได้ใช้ในบ้านแล้ว หนังสือที่เราอ่านจนไม่สามารถจะนำมาอ่านได้อีก โมเดลรถแข่ง ตุ๊กตาบาร์บี้ ของเล่นที่ไม่ได้ใช้ อุปกรณ์ปีนเขาหรืออุปกรณ์เดินป่า แคมป์ปิ้ง ฯลฯ  


สิ่งเหล่านี้แม้ใจเราอยากจะทำ แต่สภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวยแล้ว ควรจะจัดการให้หมดไป อย่าเอามาเป็นภาระสำหรับตัวเราอีกต่อไป

พออายุเข้าสู่วัย 60 ปี บ้านช่องหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ควรจะรีบจัดการให้เรียบร้อยเสีย ขายได้ก็ขาย ส่งต่อเป็นมรดกได้ก็ควรจัดการส่งต่อไป แล้วก็เอาเงินที่ได้จากการขาย ไปเช่าบ้านเล็กๆ อาศัยอยู่ ขอเพียงสะดวกต่อการเดินทาง สะดวกต่อการทำความสะอาด ก็เพียงพอแล้ว 


บัญชีในธนาคาร หลักทรัพย์ต่างๆ ที่มีอยู่ในมือ บัญชีของบัตรเครดิต หุ้นทั้งในตลาดและหุ้นนอกตลาด ควรจะต้องจัดการให้เรียบร้อยทั้งหมด สุดท้ายให้เหลือบัตรเครดิตแค่ใบเดียวก็เพียงพอ จะได้ไม่เป็นภาระให้ลูกหลานต่อไป 


พออายุเข้าสู่วัย 70-80 ปี หากยังมีชีวิตอยู่  รถยนต์ไม่จำเป็นก็ไม่ควรมี ให้อาศัยพึ่งพาการเดินทางโดยรถยนต์สาธารณะทั้งหมด งานศิลป์และของเก่าที่เคยลุ่มหลงกับมัน ควรจะต้องจัดการให้หมดไป งานอดิเรกที่เคยทำ ก็ควรจะต้องเลิกทำเสีย เพื่อลดละความสลับซับซ้อนของชีวิต 


รูปภาพเก่าๆ ของตนเอง ก็ให้รีบประมวลให้อยู่ในไฟล์คอมพิวเตอร์เสียให้หมด เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะอยู่อีกนานแค่ไหน? หลังจากนั้น หากพระเจ้ายังไม่เอาเรากลับไป ก็ควรจะค่อยๆ ยกเลิกการเข้าร่วมในกลุ่มโซเชียลต่างๆ อินเทอร์เน็ตก็ควรจะต้องห่างไกลไว้ อย่ารับรู้เรื่องของโลกภายนอกให้ชีวิตยุ่งเหยิงเกินไป ให้เหลือเพียงการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพียงรายการเดียวก็พอ 


ขั้นท้ายเราต้องมอบความไว้วางใจให้กับบุคคลหรือบริษัทที่รับดูแลเรา ด้วยการไปหาที่พักในบ้านพักคนวัยเกษียณที่ดีๆ สักแห่ง แล้วใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ ให้มีความสุขที่สุด นี่คือแนวคิดหรือปรัชญาการใช้ชีวิตบั้นปลายของคนชราชาวญี่ปุ่นที่เขาชอบทำกันครับ
      

ในส่วนของคนไทยเราเอง บางท่านอาจจะมุ่งเน้นไปใช้ชีวิต ด้วยการเสาะแสวงหาสถานที่อันสงบ ปราศจากการรบกวนจากวัตถุนิยมจากภายนอก หรือบางท่านอาจจะใช้ชีวิตด้วยการเข้าถึงรสพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่เราคนไทยต้องยอมรับว่า ด้านวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี เราอาจจะช้ากว่าชาวญี่ปุ่นนิดหน่อย 


เพราะผู้สูงอายุอย่างวัยของพวกเรานั้น อาจจะมีคนเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยนี้อย่างอินเทอร์เน็ต ยังมีบ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะบางคนก็ยังไม่ยอมปรับตัวเข้าหาชีวิตสมัยใหม่อยู่ ดังนั้นเรายังคงใช้ชีวิตแบบพื้นฐานกันไปครับ 
      

อีกประการหนึ่ง ในประเทศญี่ปุ่นบ้านพักคนวัยเกษียณ เขาได้พัฒนาไปไกลมากแล้ว ในขณะที่ประเทศไทยเรา ยังไม่ได้มีการพัฒนาไปสู่ความเป็นสากลเหมือนอย่างที่ประเทศญี่ปุ่นเขา 


การที่จะหาบริษัทที่จะจัดการเรื่องบ้านพักคนวัยเกษียณ ยังไม่ค่อยเยอะเท่าที่ควร การเข้าถึงสถานที่แบบนั้น จึงค่อนข้างจะยากนิดหนึ่ง ปัจจุบันนี้ บ้านพักคนชราในประเทศไทยเราที่เห็นมา มักจะมุ่งเน้นไปที่เป็นที่พักของคนสูงวัยที่อยู่ในสภาพผู้ป่วยติดเตียง หรือไม่ก็รอถึงวาระสุดท้ายเกือบทั้งนั้น 


การที่จะหาที่พักของคนสูงวัยที่ยังคงมีสภาพร่างกาย ที่ยังสามารถช่วยเหลือตนเองได้ จึงหายากมาก บ้านพักคนวัยเกษียณดังกล่าวแม้ปัจจุบันนี้ จะมีอยู่น้อยมากๆ แต่ผมเชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ธุรกิจนี้จะต้องเป็นเทรนที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนครับ
         

ปัจจุบันนี้ แม้บ้านพักผู้สูงวัยหรือคนชรา จะเป็นการให้ที่พักพิงคนที่ต้องการยึดอายุตนเอง ที่อาจจะเป็นความต้องการของลูกหลานโดยส่วนใหญ่ ดังนั้นผู้ชราภาพที่สภาพร่างกายพร้อมที่จะเดินทางไปพบกับสวรรค์แล้ว แม้ตนเองอยากจะไป ลูกหลานก็ไม่อยากให้ไป แต่ลูกหลานเองก็ไม่มีปัญญาที่จะดูแลได้ อาจจะด้วยภาระของหน้าที่การงาน ภาระของทางครอบครัว สภาพของครัวเรือน ฯลฯ 

 

จึงจำเป็นต้องส่งให้ผู้สูงวัยไปพักอาศัยที่บ้านพักคนชราดังกล่าว สังเกตดูแล้ว โดยทั่วไปการเข้าพักยังบ้านพักผู้สูงวัย จะมีเพียงดูแลหรือรักษาสภาพร่างกายเท่านั้น ต้องพูดว่าสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลอีกประการหนึ่ง คือสภาพจิตใจ ยังไม่ได้มีการตอบสนองความต้องการให้แก่ผู้สูงวัยเท่าที่ควร 


ผมจึงคิดว่า อนาคตอันใกล้นี้ จะต้องมีสถานที่ที่เหมาะสม ที่สามารถให้ความสงบ ความรักและความอบอุ่น แก่ผู้สูงวัยดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศไทยแน่นอน สถานที่ดังกล่าวนี้ จะเป็นที่สำหรับส่งวันเวลาที่เหลืออยู่ของผู้สูงวัย ในวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างมีความสุขครับ