วิธีไล่เขาออก_อย่างถูกต้อง

01 ม.ค. 2565 | 00:00 น.

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

How to get your employees fired without saying bad things about them! 
 

เวลานี้ฝรั่งมังค่าให้ความสนใจกับสิทธิทางใจของผู้คนในสังคมกันมาก เวลาจะไล่คนออก เขาใช้คำอ้อมๆ มิให้เสียดแทงใจ ว่า“- Let you go.” ปล่อยคุณไป

อันเปนคำน่าฉงนสงสัยว่าอะไรกันหนอ?
 

อันมีบทสนทนาตัวอย่างเช่น ดังนี้

 

“ Good morning, sir.My name is Steven, unfortunately, I have a responsibility of calling you to let you know that we’re going to let you go. ”
 

ไอ่ฝ่ายเรารับโทรศัพท์ฟังแล้วก็ว่า - จะปล่อย(กู) (เรา) (ข้า) ไปไหนกันฟร้ะ!
 

ถามเซ้าซี้เข้า Steven ก็คงจะบอกว่า You are fired!!- แกน่ะถูกไล่ออก!!
 

อันว่าการจ้างงานกับการตกลงรับจ้างงานนั่นเปนเรื่องของความพึงใจ ลูกจ้างพึงใจจะทำ และ นายจ้างพึงใจจะจ่ายค่าแรง ด้วยความตกลงใจกัน ไม่ได้มีใครมาบังคับใคร ดังนั้นยามจะจากกันไปมันไม่ควรจะมีปัญหา หลักการข้อนี้ฝรั่งว่า -Employment is at will-
 

แต่ก่อนนี้เรียนจบไปสมัครงาน นายผู้ดี(นอก)ท่านจบการสัมภาษณ์งานด้วยคำว่าลองพิจารณาดูครับ ‘บริษัทเลือกคน คนก็เลือกบริษัท’ บ่งนิยามความหมาย ตรงกับข้อนิยามหลักการที่ว่านี้ เราลูกจ้างเราก็เลือกเหมือนกัน เขานายจ้างเขาก็เลือกเหมือนกัน เปนสัญญาต่างตอบแทน55
 

อีทีนี้พอทำงานกันไปได้ระยะหนึ่งเมื่องานนั้นมันไม่เดิน หรือ ผลแห่งงานที่เดินนั้นมันไม่แสดงออกมา  สัญญาณการไล่ออกจะเริ่มดังขึ้น แลสัญญานี้จะดังลั่นเลยเทียวละ  ถ้าคนทำงานรู้สึกว่าไม่แฮปปี้ คนจ้างงานก็รู้สึกว่าไม่แฮปปี้ และลามไปถึงว่าคนร่วมงานนั้นก็รู้สึกว่าไม่แฮปปี้ ครบสามฝ่ายดังนี้ ก็เรียกว่า_ได้เวลา จะบอกร่ำลา
 

โดยพอจะเขียนไอ้ความรู้สึกที่ว่าไม่แฮปปี้นั้นเปนสมการได้ว่า
 

PERFORMANCE (เนื้องาน)แย่ = เหตุแห่งการไล่ออก 55
 

แต่ทว่าจะไล่คนออกมันต้องมีหลักฐาน หลักฐานว่างานไม่ดี หลักฐานว่างานไม่ทำ หลักฐานว่าทำเรื่องไม่ดีไว้ หลักฐานเหล่านี้มีหรือไม่ ถ้ามี_เคยบอกให้เขาแก้ไขปรับปรุงไหม? ถ้าไม่_ทำเสีย ทำสักสามครั้งให้เปนหลักเปนฐาน ค่อยคิดไล่เขา/เธอออก
 

อย่างไรก็ดีมันมีบางสถานการณ์ที่ก้ำกึ่ง ถ้าจะต้องเลือกให้ใครบางคนต้องออก อย่าลืมถามคนอื่นในองค์กรว่าเขาเห็นอย่างไร มุมมองคนอื่นนั้นมีค่า เพราะบางครั้งเรามองไม่ทั่วถึง อาจทำให้การตัดสินใจไม่ผิดพลาดได้
 

อนึ่งว่าจังหวะธุรกิจ_Business Cycle นั้นไม่ใช่ เหตุแห่งการไล่ออก, อย่าเป๋, ว่าจังหวะธุรกิจไม่ดี เศรษฐกิจตกต่ำ ผีซ้ำด้ำพลอยจึงต้องไล่เขาออก เขา/เธอควรต้องออกเพราะ PERFORMANCE แย่หนักเท่านั้น 
 

กะอีแค่จังหวะผิดพลาดหรือเศรษฐกิจไม่ดีอย่างไรถ้าคนมี PERFORMANCE เข้าเสียเเล้ว เขาหาทางพลิกสถานการณ์ได้เองหรอกน่ะ อย่าเอามาปนกัน


 

ขั้นตอนถัดมาก็คือการบอกข่าวร้าย_55
 

อันข่าวร้ายไม่ว่าเรื่องใดๆ ต้องแจ้งให้สั้นและตรงประเด็น อย่าฟื้นฝอย อย่าปล่อยให้ลำเลิกทำทันทีไม่ต้องมีแจ้งล่วงหน้า ถ้ายืดยาวให้เอาหลักฐานข้อ ที่เก็บไว้ย่อหน้าก่อนๆ มาโจมตี โจมตีเสร็จแล้วก็แยกย้าย โดยควรจะดูฤกษ์ดูยามกันสักหน่อยหนึ่ง
 

ก็ 70% ของคนกินเงินเดือนไม่มีเงินเก็บ ต้องเปิดกฎหมายหาอัตราซองขาวชดเชยช่วงที่เขาไปหางานใหม่ อาจต้องให้มากหน่อยเปนค่าตกใจ เพราะสูตรจู่โจมบอกไล่ออกนี้จะไม่บอกให้รู้ล่วงหน้า
 

ส่วนฮวงจุ้ยและฤกษ์ยามวันไล่ออกนั้นก็มีอยู่จริง อันดับแรกเรื่องสถานที่ก่อน ใช้สถานที่ที่เปนกลาง อย่าเรียกเขามาไล่ออกในห้องส่วนตัว ไปใช้ห้องประชุมเสียเถิด แล้วหาคนกลางมาร่วมฟังด้วย คนกลางนี้ท่านว่าให้มีเพศเดียวกันกับคนถูกไล่ออกจะดี เปนหลักการกำลังใจเชิงเปรียบเทียบ และบรรเทาบรรยากาศคุกรุ่นแลอิหลักอิเหลื่ออันบังเกิดขึ้นได้เองในห้องประชุม
 

ส่วนการถือฤกษ์ยามให้เหมาะนั้นก็มีอยู่จริง การณ์จะไล่คนออกนั้นท่าน(ฝรั่ง)ให้ทำวันจันทร์ หรือวันอังคาร  ไม่ตอนเวลาเช้าเริ่มงานก็เย็นก่อนเลิกงาน ด้วยว่ารุ่งขึ้นเขาได้มีอารมณ์หางานใหม่เพราะมันยังเปนวันทำงาน ในวันรุ่งขึ้นที่ว่า
 

ข้อห้ามเด็ดขาดคือห้ามไล่คนออกวันศุกร์ คนถูกไล่ออกจะมีเวลาว่างวันเสาร์_อาทิตย์ เขา/เธอ จะสมองเเล่นเรื่อยเปื่อยด้วยว่าง กระเดี๋ยวก็ไปจ้างทนายมาฟ้องกลับเอาหรอก!
 

แล้วคาถาไล่ออก มีไหม? ตอบว่ามีรจนามาให้แล้วดังนี้ ไม่ต้องอ้อม let you go;
 

“เราใช้เวลากันมาพอสมควรเราว่างานนี้ไม่เหมาะสำหรับคุณ และคุณก็ไม่ลงตัวกับงานนี้ เราเห็นว่า คุณจะแฮปปี้กว่านี้ที่จะได้ทำอย่างอื่นที่คุณชอบและลงตัวมากกว่า
 

ทั้งนี้ อย่าไล่คนให้จนกระดานเสียทีเดียว ควรจะมีFriendly basis มิตรกะจิตมิตรกะใจ เปิดโอกาสให้ผู้ถูกออกรักษาหน้าบ้าง ถามด้วยว่า “อยากให้บอกคนอื่นว่าคุณออกเพราะอะไรไหม”
 

เปนช่องทางสุดท้ายช่วยเขารักษาหน้าตาในตลาดแรงงานด้วยการบิดเบือนความจริงสักเล็กน้อย
 

อ้อ_บอกเขาด้วยว่า เมื่อโอกาสพัดกลับมา เราอาจจะได้กลับมาร่วมงานกันใหม่.


นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 17 ฉบับที่ 3,745 วันที่ 2 - 5 มกราคม พ.ศ. 2565