ลูกอิสานแห่งลุ่มน้ำอิยะวดี 3

24 ม.ค. 2565 | 00:30 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

มีธรรมมะข้อหนึ่งที่ว่าไว้ “อย่าเชื่อในสิ่งที่เห็น จงเห็นในสิ่งที่เชื่อ” คำนี้ย่อมใช้ได้เสมอ เพราะบางครั้งสิ่งที่เราเห็นอาจจะไม่ใช่เป็นจริงอย่างที่เราคิด อย่าด่วนเชื่อโดยเด็ดขาดว่า “ใช่แล้ว” หรือด่วนสรุปตามที่เห็น เพราะบางอย่างอาจจะไม่ใช่อย่างที่เราเข้าใจก็ได้ครับ สิ่งที่คุณศักดิ์คิดไม่ถึงยังมีอีกเยอะแยะในโลกนี้ ซึ่งต่อมาคุณศักดิ์ก็เข้าใจในสัจธรรมดังกล่าวด้วยความล้มเหลวของตนเองครับ
 

หลังจากที่ได้ตัดสินใจที่จะไปแสวงหาความร่ำรวยในประเทศเมียนมา จึงได้ไปเรียนรู้วิธีทำกะปิอย่างดีจากบ้านของญาติเพื่อนสนิทที่ชลบุรี เมื่อคิดว่าตนเองพอจะไปไหวแล้ว ศักดิ์จึงได้ไปลาออกอย่างเป็นทางการกับเจ้านายเก่า และได้บอกลาเพื่อนๆที่ทำงาน เขาเล่าว่า ตอนไปบอกลาน้องๆที่ทำงาน พอเขารู้ว่าศักดิ์จะไปทำมาหากินที่ประเทศเมียนมา ต่างก็พากันเป็นห่วงว่าจะไปไม่รอด คุณศักดิ์ก็ได้แต่บอกว่า ถ้าผมไปไม่รอดจริงๆ ก็ขอให้น้องๆช่วยอุปถัมภ์ส่งเสียลูกเมียพี่ด้วยนะ
 

จากนั้นก็ไม่รอช้า รีบเดินทางเข้าไปพร้อมทั้งเงินทุนที่มีไม่มากมายนัก เมื่อไปถึงย่างกุ้ง ก็ได้ปรึกษาเพื่อนสนิทว่า ควรจะเลือกสถานที่ตั้งโรงงานที่ไหนกันดี ระหว่างทางฝั่งตะวันตกที่รัฐยะไข่ กับทางใต้ที่รัฐตะเหน่งดายี่หรือตระนาวศรี สรุปก็เลือกรัฐยะไข่ เพราะเพื่อนรักก็เคยเดินทางไปที่นี่มาก่อน จึงรู้จักมักคุ้นที่นี่ดี และถ้าหากดูจากแผนที่ประเทศเมียนมา ที่นี่จะอยู่ไม่ไกลจากเมืองย่างกุ้ง ที่ถือว่าเป็นศูนย์กลางทางการค้าสำคัญของประเทศ

 

จากนั้นเพื่อนก็พาคุณศักดิ์เดินทางเข้าสู่รัฐยะไข่ทันที ซึ่งในยุคนั้นการเดินทางไปยังรัฐยะไข่ยังยากลำบากมาก มีทางไปสองทางให้เลือก คือทางเรือ ต้องลงเรือที่ท่าเรือเมืองย่างกุ้ง หน้าวัดโบตะถ่อง หรือวัดเทพทันใจ ซึ่งเรือเป็นเรือขนาดเล็กพอๆกับเรือเอี้ยมจุ้น จะต้องไปลงเรือตอนสองทุ่ม นั่งไปนอนไปจนกระทั่งฟ้าสาง ก็ไปโผล่ถึงเมืองเพียโพน
 

หลังจากหาข้าวเช้าทานกัน ซึ่งในยุคนั้นร้านอาหารที่พอจะดูได้ ก็ไม่ค่อยจะมี ต้องไปทานตามร้านน้ำชาพม่าตามมีตามเกิดเท่านั้น จากนั้นก็ต่อเรือยางยาวไปตามแม่น้ำอีกประมาณ 3 ชั่วโมงจึงถึงจุดหมายปลายทางที่หมู่บ้านชายทะเลเล็กๆ
 

ส่วนอีกช่องทางหนึ่ง ที่สามารถไปถึงได้ ก็คือทางรถยนต์ ซึ่งการเดินทางในยุคนั้นยังไม่มีรถยนต์ประจำทาง จะมีก็เป็นรถเมล์ที่มีสภาพเก่ามากๆ ไม่น่าไว้ใจว่าจะไปไหวมั้ย อีกทั้งดูสภาพของผู้โดยสาร ที่ไม่น่าเป็นเพื่อนร่วมทางเลย เพราะเป็นชาวบ้านพื้นๆ ยิ่งถ้าเป็นฤดูหนาว คุณศักดิ์เล่าว่า กลิ่นตัวไม่น่าพึงปรารถนาเลย ดังนั้นต้องขับรถส่วนตัวไปเอง
 

แต่ในยุคนั้นรถยนต์ที่ประเทศเมียนมาแพงมากๆ รถเก๋งโตโยต้าเก่าๆราคาที่เขาขายกัน สามารถซื้อรถเมอร์เซเดส เบนซ์ใหม่ๆในประเทศไทยเราได้เลย ถนนหนทางก็ยังเป็นถนนเมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ไม่ได้มีการซ่อมบำรุงมานานมากแล้ว รถยนต์ขับไปด้วยความเร็วไม่เกิน 20-40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เรียกว่านั่งไปบ่นไปไม่ถึงเสียที เมื่อไปถึงเมืองเพียโพน ก็ต้องหาที่ฝากรถไว้ ที่บ้านรับฝากรถ ยิ่งถ้าเป็นคนที่รักรถ เขาจะไม่ไว้ใจนำรถไปฝากแน่นอนครับ ต่อจากนั้นก็ยังต้องนั่งเรือยางยาวไปอยู่ดีครับ สรุปการเดินทางกันตลอดทั้งวันทั้งคืน ดังนั้นการเลือกนั่งเรือจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดครับ
 

หลังจากที่ไปถึงที่หมายแล้ว สิ่งแรกที่จะต้องทำ คือการหาซื้อที่ดิน เพื่อจะได้เริ่มดำเนินการตั้ง “โรงงาน” ในยุคนั้นที่ดินที่ต่างเมืองโดยเฉพาะหมู่บ้านเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีคนเดินทางไปถึงนั้นราคาถูกมากๆ เอเคอร์ละไม่ถึงหมื่นบาท เหมาะสำหรับคนเบี้ยน้อยหอยน้อยมาก คุณศักดิ์ได้เริ่มทำการก่อสร้างโรงงานเลย ด้วยการหาช่างมานั่งคุยกัน การสร้างโรงเรือนเล็กๆ ที่เรียกว่าโรงงานก็คือ “กระต๊อบหลังคามุงจาก” นั่นเองครับ ซึ่งก็พอกันแดดกันฝนได้อย่างดี พื้นก็ไม่ต้องยุ่งยาก ใช้วิธีทุบดินให้แน่น ทำความสะอาดให้ดีก็เพียงพอแล้วครับ
 

ส่วนที่พักก็ไม่ยุ่งยากเช่นกัน แค่มีที่กั้นห้อง เตียงนอนไม้ที่หาซื้อได้ง่ายๆ ราคาก็ถูกแสนถูกครับ สิ่งที่จำเป็นสำหรับคนไทยอย่างเช่นคุณศักดิ์มากที่สุดคือ “ห้องน้ำห้องส้วม”เท่านั้นครับ เพราะชาวบ้านที่นั่น เขาไม่นิยมสร้างส้วมซึม เขาจะสร้างเป็นส้วมที่ยื่นออกไปที่แม่น้ำ ส้วมจะเจาะรูไม้กระดาน เพื่อให้สิ่งปฎิกูลต่างๆลอดช่องกระดานไหลลงไปในแม่น้ำ ซึ่งน้ำในแม่น้ำนั้นจะถูกนำมาใช้ในครัวเรือนทุกอย่าง ตั้งแต่การดื่มกิน หรืออาบ ล้างทุกอย่าง การผลิตกะปิและปลาร้าในเวลาต่อมาก็ใช้น้ำนั้นนั่นแหละ ทำให้คุณศักดิ์จะไม่กล้าทานกระปิและปลาร้าเมียนมาในเวลาต่อมาครับ
 

หลังจากทุกอย่างลงตัว ด้วยการใช้เวลาหลายเดือน ทุกอย่างเริ่มต้นที่จะต้องทำการผลิตกะปิดังที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้น แม้ในช่วงระหว่างที่ต้องรอให้การก่อสร้างแล้วเสร็จอยู่นั้น คุณศักดิ์ก็ได้เริ่มต้นสำรวจตลาด เพื่อหาซื้อกุ้งหรือเคยที่จะเป็นวัตถุดิบในการผลิตกะปิ ซึ่งลึกๆแล้วเขาก็มีความกังวลใจถึงสภาพของวัตถุดิบ ที่ไม่เหมือนกับที่เคยเห็นในประเทศไทยเลย แต่เขาก็คิดแต่เพียงว่า ถ้าโรงงานและที่พักสร้างเสร็จ ค่อยหาทางลงเรือหาปลา เพื่อออกไปหาสิ่งที่ต้องการมาผลิตกะปิ น่าจะเป็นไปได้อย่างแน่นอนครับ
 

อาทิตย์หน้าผมจะเล่าถึงความจริงที่ปรากฎต่อหน้าศักดิ์ ที่ทำให้เขาต้องคิดใหม่ทำใหม่ครับ