เก็บกู้น้ำมันรั่วแล้ว ต้องกอบกู้“ความเชื่อมั่น”

05 ก.พ. 2565 | 02:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ

เพียง 7 วันนับแต่เกิดเหตุน้ำมัน บมจ.SPRC รั่วที่ทุ่นน้ำลึกขนถ่ายน้ำมันกลางทะเลมาบตาพุด จังหวัดระยอง ตั้งแต่กลางดึกคืนวันที่ 25 ม.ค. 2565 แม้ทีมตอบโต้เหตุฉุกเฉินเร่งกำจัดคราบน้ำมันในทะเล แต่ท้ายที่สุดมีบางส่วนถูกพัดขึ้นหาดแม่รำพึง จนต้องตั้งศูนย์ปฎิบัติการระดมเก็บกู้ จนหาดและทะเลระยองคืนสภาพปกติแล้ว
 

มีการปิดศูนย์ปฎิบัติการเก็บกู้ฯหาดแม่รำพึง และส่งมอบภารกิจในจังหวัดระยองรับไม้ดูแลต่อ หลังตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล ชายหาด ตลอดจนอาหารทะเลในพื้นที่ พบว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มีความปลอดภัย และเปิดให้คนพื้นที่กลับบ้าน และนักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยวได้แล้ว
 

แต่งานยังไม่จบ เพราะยังมีภารกิจฟื้นฟูและเยียว ที่ต้องให้ บมจ.SPRC ผู้ก่อมลพิษ ชดใช้ความเสียหายต่อมลภาวะและสิ่งแวดล้อม ค่าใช้จ่ายในการเก็บกู้ที่เกิดขึ้น ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในระยะยาว ตลอดจนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม
 

นายพิธพร สมะลาภา ประธานหอการค้าจังหวัดระยอง ย้ำว่า ชายหาดจังหวัดระยองมีรวมกันนับร้อยกิโลเมตร และจุดที่โดนคราบน้ำมันเพียงไม่กี่จุด ซึ่งได้เก็บกู้ทำความสะอาดจนกลับมาปลอดภัยแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้มีความเชื่อมั่นและกลับมาท่องเที่ยวระยองได้ตามปกติ
 

ส่วนการเก็บกู้นั้นคร้้งนี้ถือว่าทำได้เร็ว แต่ควรทำได้ดีกว่านี้ เพราะมีข้อจำกัดและทำไม่ครบขั้นตอน โดยทันทีที่เกิดเหตุรั่วไหลต้องรีบใช้บูมปิดล้อมพื้นที่เพื่อกักคราบน้ำมันทันที จากนั้นใช้ปั๊มดูดขึ้นถังเก็บเพื่อไปแยกน้ำทะเลกับน้ำมันกลับมาใช้ประโยชน์ต่อไปได้ แต่ปรากฏว่ามีบูมไม่ครบตามเกณฑ์ ทำให้ไม่พอและใช้เวลารวบรวม จนคราบน้ำมันกระจายออกไปแล้ว ต้องข้ามขั้นตอนไปใช้สารเคมีถึง 80,000 ลิตร ฉีดสลายคราบ ให้ตกตะกอนลงก้นทะเล จนเกิดความวิตกจะมีสารปนเปื้อนระยะยาวหรือไม่
 

ด้านนางสุวรรณา โดตี้ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดระยอง สะท้อนว่า ผลกระทบน้ำมันรั่วทำให้โรงแรมระยองถูกบอกเลิกบุกกิ้งไปกว่า 70% ทั้งที่กำลังคึกคักจากเทศกาลตรุษจีน และการเริ่มมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน และกระทบต่อเนื่องเกือบทุกอาชีพในพื้นที่ อาทิ เรือประมงทะเลระยอง ไปจนถึงร้านอาหารทะเล ร้านอาหาร-ร้านค้าขายชายหาด หาบเร่-รถเร่ เตียงผ้าใบ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไปถึงพนักงานรับซักรีด

จนถึงตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่า บมจ.SPRC จะมีแนวทางการเยียวยาอย่างไร โดยเฉพาะกลุ่มรายเล็กรายน้อย เช่น เรือประมงพื้นบ้านแจวหาปลาริมฝั่งหรือตามลำคลอง ที่ไม่มีหรือไม่ได้ต่อทะเบียน ผู้ทำการค้ารายเล็กรายน้อยริมหาด ที่ไม่มีสังกัดหรือไม่มีทะเบียนเช่นกัน และเป็นกลุ่มที่มีรายได้วันต่อวัน ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อยู่แล้ว มาเจอน้ำมันรั่วซ้ำอีก กลุ่มนี้ควรต้องรีบเยียวยาทันทีไปก่อน ส่วนระยะยาวต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวให้กลับมาโดยเร็ว
 

เหตุน้ำมันรั่วครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก การเกิดเหตุอีกทำให้วิตกว่าจะเกิดซ้ำทุก 9-10 ปี ทั้งที่ระยองเป็นพื้นที่ฐานการผลิตหลัก เป็นเขตอุตสาหกรรมหนักสร้างรายได้ของประเทศ ถูกตั้งข้อสังเกตถึงมลพิษต่าง ๆ อยู่แล้ว และจนบัดนี้ก็ไม่ชัดเจนว่า ปริมาณน้ำมันรั่วไหลมีเท่าไหร่กันแน่
 

หลังเก็บกู้คราบน้ำมันเสร็จ รัฐต้องเร่งกอบกู้ความเชื่อมั่น ว่ามีกลไกรับมือภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินอย่างเพียงพอ และมีประสิทธิภาพทันท่วงที ไม่เช่นนั้นอย่าหวังว่าจะเปิดพื้นที่การลงทุนใหญ่แห่งใหม่ในที่ใดได้อีก

 

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 2755 ระหว่างวันที่ 6-9 ม.ค.2565