“ปักกิ่ง” ไม่ใช่ “นครแห่งความหลัง” ตามที่ สด กูรมะโรหิต นักประพันธ์มีชื่อของไทย กล่าวถึงเมื่อกว่า 80 ปีที่แล้ว
แต่วันนี้ของ “ปักกิ่ง” เป็น “มหานครแห่งอนาคต” MEGA CITY ที่มีพลเมืองกว่า 20 ล้านคน
“เมืองแรก” ของโลกที่ได้เป็น “เจ้าภาพ” โอลิมปิกทั้งกีฬาฤดูร้อน (SUMMER OLYMPICS) และกีฬาฤดูหนาว (WINTER OLYMPICS)
SUMMER OLYMPIC GAMES ดูจะเป็นที่นิยมและรู้จักกันมากกว่ากีฬาฤดูหนาว จีนเองได้เป็น “เจ้าภาพ” ในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน เมื่อคศ. 2008 หลังจาก “ความเพียรพยายาม” ขอเป็นตั้งแต่ปี 1993
เดิมที่จีนต้องการเป็น “เจ้าภาพ” การแข่งขันบันลือโลกในปี คศ. 2000 (เพราะเลขสวย) แต่ “กำลังภายใน” ไม่แรงพอ ออสเตรเลียได้ไป
SYDNEY ได้ “สิทธิ” เป็นเมืองจัดการแข่งขันชนะคู่แข่งขันเมืองต่างๆที่เสนอตัวตั้งแต่ ปักกิ่ง เบอร์ลิน อิสตันบูล และแมนเชสเตอร์
ครั้งนั้น จีนเป็น “ตัวเก็ง” และ “หวัง” มาก โดยเฉพาะเสียงโหวตให้จากประเทศไทย ที่จีนถือว่า “ไม่ใช่อื่นไกลพี่น้องกัน”
รัฐบาลจีน คุยกับรัฐบาลไทยเรียบร้อยแล้ว หากคนที่จะโหวตไม่ใช่รัฐบาลไทย ไม่ใช่ข้าราชการ แต่เป็น IOC MEMBER จากประเทศไทย
กรรมการโอลิมปิกสากล มีสิทธิมีเสียงที่จะโหวตอย่างเป็นอิสระ ไม่ได้ตกอยู่ใน “อาณัติ” ของรัฐบาล
กรรมการโอลิมปิกสากลของไทย ขณะนั้นลงคะแนนให้ SYDNEY แทนที่จะเป็น BEIJING ที่รัฐบาลจีน รัฐบาลไทยร้องขอ
เล่นเอารัฐบาลจีน “อกหัก” และเคืองไทยไปพักใหญ่
ปี 2004 SUMMER OLYMPICS เมือง ATHENS กรีก ได้รับสิทธิเป็น “เจ้าภาพ” ชนะเมืองโรม เคปทาวน์ สต็อกโฮล์ม และบัวโนส แอเรส ไม่ปรากฏชื่อ “เมืองปักกิ่ง” เข้ารอบสุดท้าย
จีนมาประสบความสำเร็จได้เป็น “เจ้าภาพ” การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ปีคศ.2008 คราวนี้ “ปักกิ่ง” แข่งกับอีก 4 เมืองดัง TORONTO (CANADA) PARIS (FRANCE) ISTANBUL (TURKEY) และ OSAKA (JAPAN)
ผลการตัดสิน “ประกาศ” ในปีคศ. 2001 (เพื่อให้ประเทศเจ้าภาพได้มีเวลาเตรียมตัว 6-7 ปีขึ้นไป)
ดูใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าภาพ “กีฬาโอลิมปิก” ฝันหวานว่าจะได้ “รายได้” มหาศาล และ “ชื่อเสียง” แผ่ไพศาล
แต่ช้าก่อน อย่าลืมว่า คุณต้องลงทุนมโหฬารเช่นกัน จากการคำนวณคร่าวๆ ในอดีตเริ่มปีคศ. 1900 ตัวเลขอยู่ที่ 5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นมาถึง 40-45 พันล้านเหรียญในปี คศ. 2008
“ปักกิ่ง” ที่เดิมคำนวณว่าจะใช้จ่ายประมาณ 15 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในโอลิมปิก 2008 เอาเข้าจริงใช้จ่ายมากกว่างบที่ตั้งไว้ 3 เท่า
ผลสำเร็จจากการเป็นเจ้าภาพ SUMMER OLYMPIC GAME ปี 2008 ทำให้จีนติดใจขอเป็นเจ้าภาพ WINTER OLYMPICS โดยเริ่มดำเนินการทันทีหลังจบการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน
“ปักกิ่ง” เข้ารอบสุดท้ายไปชิงBIDDING กับเมือง ALMATY ของ KAZAKHSTAN ประเทศที่ถือกันว่า “NO NAME”
จุดขายที่ประเทศนี้พยายามขายคณะกรรมการ IOC คือ ให้ VOTE เพื่อ INNOVATION มากกว่าเลือกเมืองดังประสบความสำเร็จอย่าง “ปักกิ่ง” ที่คุณไม่ต้องกังวล กลางคืนหลับสบาย (จากผลสำเร็จที่ “ปักกิ่ง” เคยเป็น “เจ้าภาพ” กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่ทำให้คุณมั่นใจ)
“ข้อดี” ของการเลือก KAZAKHSTAN คือ สนามจัดการแข่งขัน 14 แห่ง มีแล้ว 8 แห่ง กำลังสร้างเพื่อกีฬามหาวิทยาลัยโลกอีก 3 ต้องสร้างใหม่จริงๆ เพียง 3 สนาม
ที่น่าจะเป็นคะแนนบวกมากๆ คือ ความน่ารัก ความจริงใจของ “ผู้คน” ทุกอย่าง “จริงแท้” ไม่ FAKE
“KEEP IT REAL” คำขวัญของ KAZAKH ขายความจริง ว่ากันว่า แม้แต่ “หิมะ” อุปกรณ์การแข่งขันสำคัญยัง “จริง”
เทียบกับ “ปักกิ่ง” ที่ต้องทำ “หิมะเทียม” เนื่องจาก “หิมะจริง” ของประเทศจีน อาจไม่เพียงพอ ด้วยฤดูกาลที่ไม่แน่นอน
อย่างไรก็ดี KAZAKHSTAN มีข้อด้อยอื่นมากมายจนคณะกรรมการต้องตัดสินให้ BEIJING ชนะไป 4 โหวต
ปัญหาสิทธิมนุษยชน ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลเองลังเลที่จะเป็นเจ้าภาพ และแต่งตั้งคนพัวพันกับยาเสพติด เป็น “เอกอัครราชทูต” (ฮา)
“ความตั้งใจ” ของจีนครั้งนี้ นอกจากต้องการสร้างประวัติศาสตร์ “ปักกิ่ง” เป็นเมืองแรกของโลกที่ได้จัดกีฬาโอลิมปิกทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาว ยังต้องการให้กีฬาฤดูหนาว พัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้แข็งแรง สุขภาพดี เป็น “ทรัพยากร” ของประเทศ
ส่งเสริมให้ “การเล่นสกี” กีฬาฤดูหนาว สร้างแหล่งท่องเที่ยว สร้างงาน จากเมืองเล็กๆยากจน เมืองในจางเจียโขว่ เมืองร่วมจัดการแข่งขันร่วมกับ “ปักกิ่ง” กลายเป็นสนามสกี 1 ใน 52 แห่งของโลกที่หนังสือพิมพ์ THE NEW YORK TIMES ยกย่องว่า “ห้ามพลาด” และเศรษฐกิจของเมือง “ฉงลี่” แดนสวรรค์ของนักสกี เติบโตอย่างน่าอัศจรรย์
ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ประกาศ “จีนไม่หวังเหรียญมากมาย ในกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้ ไม่ได้ตั้งเป้าเป็นเจ้าเหรียญทอง”
จากปัญหา “สิทธิมนุษยชน” ในประเทศมังกรจีน ชนกลุ่มน้อยในประเทศและกลุ่มสิทธิมนุษยชนนานาชาติร่วมกัน “ประท้วง” การแข่งขันครั้งนี้ ที่กำลังจะมีขึ้น 4 ก.พ. 2022 หลังตรุษจีน
“ความวุ่นวาย” จะด้อยค่า “เกียรติ” ของการเป็น “เจ้าภาพ” มหกรรมโลกครั้งนี้
“จีนไทยไม่ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”
ก็หวังว่า “เจ้าภาพ” จะ SLALOM ไปจนจบการแข่งขันครั้งนี้ด้วยความสวยงาม
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,754 วันที่ 3 - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565