*** หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3758 ระหว่างวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ 2565 โดย...กาแฟขม
***สถานการณ์โควิดปัจจุบันรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก อยู่ที่ 412,255,601 ราย เพิ่มขึ้น 1,460,722 ราย ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก สะสมอยู่ที่ 5,833,887 ราย เพิ่มขึ้น 5,433 ราย หายป่วยสะสม 332,569,322 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 1,844,493 ราย วันที่14 ก.พ.ยอดติดเชื้อเพิ่ม 14,900 ราย เสียชีวิต 26 คน หายป่วย 9,810 ราย ในต่างประเทศ ณ 14 ก.พ.65 ติดเชื้อเพิ่ม 1.46 ล้านราย สะสมทะลุ 412 ล้านราย
*** สถิติรายวันติดเชื้อเพิ่มขึ้นก็ว่ากันไป ชีวิตต้องเดินต่อ เรียนรู้อยู่กับโควิด ลุยเดินหน้าไป ฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ เข็ม 3 เข็ม 4 ผลวิจัย นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญชี้ออกมาแล้วว่า อัตราการสูญเสียชีวิตจะลดน้อยลง ถ้าเกิดติดโควิดขึ้นมา แต่ทั้งหมดการป้องกัน การพาตัวเองออกจากพื้นที่เสี่ยง การไม่ติดเชื้อโควิดเป็นดีที่สุด อย่าคิดกลับทิศทางพาตัวเองเข้าไปติดเชื้อ แบบบางคนที่ทำเพื่อหวังเคลมประกัน อันนั้นตำรวจเตือนมาแล้วเป็นความผิดอาญา อย่าหาทำ ไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย
*** เถียงกันอยู่อื้ออึงในช่วงเวลานี้ การที่รัฐบาลจะประกาศให้โรคโควิด ไม่เข้าข่ายโรคติดต่อฉุกเฉิน เรียกง่ายๆ ว่ามันเป็นปกติ ที่ใครเจ็บไข้ได้ป่วยโรคนี้ขึ้นมาเข้าก็ต้องรักษาเอง ด้วยวาทะที่ปรึกษาศูนย์บริหารโควิด ศบค.บางรายบอกว่างบประมาณที่ใช้ในการรักษาบานปลายทำนองรัฐจ่ายไม่ไหว เสียงเซ็งแซ่จึงเกิดขึ้น ทำเช่นนี้ได้หรือ ก่อนกลับมาแก้กันภายหลัง แม้เป็นโรคปกติแล้วก็ตาม แต่สวัสดิการรักษาพยาบาลในประเทศนี้ ทุกคนแทบไม่จ่ายแม้แต่บาทเดียว เมื่อข้าราชการมีสิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้เต็ม ลูกจ้างเข้าใช้สิทธิประกันสังคมได้ ประชาชนทั่วไปใช้สิทธิบัตรทอง ฉนั้นผู้ที่จ่ายเป็นผู้เลือกรักษาในรพ.เอกชน อันนั้นต้องรับผิดชอบเอง
*** ก็ต้องติดตามดู แต่ที่แน่ๆ งบประมาณที่ใช้เกี่ยวกับโควิดและต่อเนื่องจากโควิด รัฐจ่ายไปมากโข แถมยังไปกู้มาจ่ายเพิ่ม งัดสารพัดโครงการมาพยุง ทั้งสาธารณสุขโดยตรงและปัญหาปากท้องอันเนื่องมาจากโควิด จนแทบไม่มีเวลาคิดในการจ่ายเพื่อระยะยาว ส่วนใหญ่ถมเงินลงไปเฉพาะหน้า อันนี้ระยะหลังการฟื้นตัวจากโควิดหรือหลังโควิดซาลงไปแล้ว เศรษฐกิจน่าเป็นห่วงมากที่สุด
*** การฟื้นตัวเศรษฐกิจ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เป็นปัญหาที่ซับซ้อน เมื่อเงินเฟ้อสูง ราคาสินค้าสูงมาพร้อมกับรายได้หด เป็นเรื่องที่นักเศรษฐศาสตร์กุมหัวแก้ยาก แถมยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ที่ใครปรับตัวไม่ได้ก็ม้วนเสื่อ เป็นปัญหาที่รัฐต้องไม่ปล่อยให้ประชาชนเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนผ่านตามลำพัง เหมือนที่เป็นอยู่ในเวลานี้ กลับไปทบทวนดูมีครม.คนไหนประกาศนำคนไทย ช่วยคนไทยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สร้างโอกาส ให้ทั่วถึงกันแบบเสมอภาค ปัญหาจะหมักหมม คนรุ่นต่อรุ่นก้าวไม่ทันกัน เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องเทคโนโลยีที่ไม่เท่าทันแล้ว ประเทศไทยยังเผชิญวิกฤติการเมือง ที่เป็นปัญหาทั้งองคาพยพซ้ำเติมให้ปัญหาขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นมาหลายปีดีดัก เป็นหลุมดำแห่งความขัดแย้งแตกแยก ที่ไม่สามารถก้าวข้ามได้พ้นเสียที เมื่อประกอบกันเข้ากลายเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ แทบขยับอะไรกันไม่ได้เลย
*** ปะหน้า เศรษฐา ทวีสิน ซีอีโอคนดังแห่งแสนสิริ วันก่อน ให้ข้อคิด ข้อเตือนใจหลายเรื่อง เรื่องใหญ่สุดต้องลงมือทำ ใครทำหน้าที่ไหน ใครมีกำลังให้ลงมือทำและทำทันที เศรษฐาห่วงมากเรื่องโอกาสและความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา แน่นอนผู้คนที่อาศัยในเมืองถกเถียงกัน เรื่องส่งบุตร-หลานเรียนโรงเรียนอินเตอร์ จะดีจะร้ายย่อมหมายถึงเขามีโอกาสเลือก มีทางเลือก แต่ในท้องถิ่นแทบไม่มีโอกาสถกเถียง ไม่มีทางเลือก ไม่มีให้เลือก จะส่งลูกไปเรียนที่ไหน ที่ให้ความรู้ได้ดีและวินัยดี
*** ว่าแล้วเศรษฐา ก็เจียดเงิน 100 ล้าน ด้วยการออกหุ้นกู้มาจำหน่าย บริษัทรับภาระทุกอย่าง ทั้งดอกเบี้ย ครบกำหนดไถ่ถอนได้เงินต้นคืนครบ อะไรๆ ค่าโน่น ค่านี่ รับเอาไว้เองทั้งหมด ใช้เงินก้อนนี้ทำโครงการนำร่องสร้างโอกาสเข้าถึงการศึกษาในท้องถิ่น เลือกพื้นที่ จ.ราชบุรี ไม่มีโครงการแสนสิริในพื้นที่ ประเดี๋ยวจะหาว่าผลประโยชน์ทับซ้อน สร้างคะแนนนิยมหวังขายโครงการ อันนี้ เศรษฐา ยืนยัน นั่งยัน นอนยัน ไม่มีอยู่ในหัวเรื่องผลประโยชน์ใดๆ ทั้งการเมือง และธุรกิจ ทำเพราะมีโอกาสมากกว่าคนอื่น และต้องการหยิบยื่นและแบ่งปันให้สังคมบ้างก็เท่านั้น ไม่เฉพาะการทำแบบนี้ เดี๋ยวนี้ แต่ เศรษฐา ทำมาตลอดในการบริจาคให้ยูนิเซฟ ช่วยเหลือเด็กก็ทำมาต่อเนื่องเป็นประจำ ทำเพราะคิดว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองแต่อย่างใด
*** ค้านควบรวมทรู-ดีแทค โดย สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. ในนามประธานอนุกรรมการด้านสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภคยื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ขอให้ชะลอพิจารณาลงมติ ควบรวมกิจการทรู-ดีแทค โดยเหตุผลหากควบรวมผ่านบริษัทที่ควบรวมจะมีส่วนแบ่งตลาดเกินครึ่งอยู่ที่ 52 %ค่าดัชนีวัดระดับความมีประสิทธิภาพของการแซ่งในตลาดเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการแข่งขัน และอาจมีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญและผู้บริโภคมีตัวเลือกน้อยลง อาจจะก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัล เกิดการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึก และส่งผลต่อราคาค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายด้วย
*** ไม่ลืมแล้ว ...ถ้าสำรวจตรวจสอบชั่วโมงนี้รัฐมนตรีโลกลืม หนีไม่พ้น สินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ ด้วยเหตุกลัวคนลืมเลยลุกมาทำโครงการ ใช้ “ธุรกิจแฟรนไชส์” สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ อันเนื่องมาจากโควิด คนตกงาน ถูกเลิกจ้าง รายรับไม่พอกับรายจ่าย สะเทือนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ต้องใช้ “ธุรกิจแฟรนไชส์” เป็นโมเดลแก้ปัญหา ต้องเดินหน้าใช้ธุรกิจแฟรนไชส์ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้ประชาชนที่ต้องการมีอาชีพหรือเป็นเจ้าของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นการพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ อบรมให้ความรู้ การสร้างธุรกิจรายใหม่เข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ (Franchise B2B) และ การพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์สู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ สร้างสัมพันธภาพสร้างเครือข่ายธุรกิจ ปีนี้จะสร้างอาชีพให้ประชาชนผ่านระบบแฟรนไชส์ไม่น้อยกว่า 10,000 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 4,600 ล้านบาท