ปัญหาเนื้อหมูราคาแพงทะลุเพดานถึงกิโลกรัมละ 250 บาท มรอมร่อจะขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 300 บาท ใกล้เคียงกับค่าแรงขั้นต่ำ กลายเป็นผลใหญ่ที่กระทบกับคนส่วนใหญ่ในประเทศในเรื่องค่าครองชีพจนเกิดวาทกรรม “ของแพงทั้งแผ่นดิน” กลายเป็นคมหอกปลายดาบพุ่งเข้าใส่ยอดอก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อย่างหนักหน่วงตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา
วิกฤติราคาเนื้อหมูแพงนั้นต้องยอมรับกันก่อนว่า เกิดจากหลายปัญหาที่ถาโถมเข่ามา ทำให้ผลผลิตหมูที่เหลือเลี้ยงกันอยู่ในฟาร์มเกษตรกรรายย่อยและรายใหญ่ลดลงเหลือเพียง 12.5-13.5 ล้านตัว จากจำนวนการผลิตทั่วประเทศราว 20 ล้านตัว หมูหายไปจากระบบมากถึง 8 ล้านตัว
ผลที่ตามมาราคาหมูทะยานขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ หมูเนื้อแดงราคากิโลกรัมละ 220-230 บาท หมูสามชั้นกิโลกรัมละ 250-270 บาท เรียกได้ว่าทำสถิติ “ราคาแพง” สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์...ดูกันให้ดีนะครับ
ปัญหาแรก เกิดจากโรคระบาดในสุกรที่กระจายเป็นวงกว้าง ทำให้จำเป็นต้องกำจัดสุกรที่มีความเสี่ยงจำนวนมากเพื่อควบคุมโรค ยิ่งกดดันให้ปริมาณสุกรขาดตลาดมากยิ่งขึ้น แถมมาเจอมรสุมการระบาดของโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกา หรือ AFS ทำให้หมูตายเป็นจำนวนมาก เกษตรกรหลายพื้นที่จึงต้องทำลายหมูมีชีวิต เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค
ปัญหาที่สอง เกิดขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว โดยเฉพาะอาหารสัตว์ราคาแพงขึ้น ส่งผลให้ผู้เลี้ยงรายย่อยกว่า 6,000 ราย ต้องเผชิญภาวะขาดทุนยับ จนต้องล้มหายตายจาก เพราะสายป่านเรื่องทุนรอนไม่ยาวพอ
ข้อมูลจากผู้เลี้ยงหมูบอกว่า ตั้งแต่ปลายปีจนถึงปัจจุบันต้นทุนค่าอาหารสัตว์ซึ่งคิดเป็นกว่า 70% วัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์ที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพงขึ้น ราคากากถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นกว่า 30% เมื่อเจอกับต้นทุนในการควบคุมป้องกันโรคระบาดที่ต้องดูแลหมูอีกตัวละ 500 บาท ยิ่งทำให้ผู้เลี้ยงหมูเลิกกิจการไปมากกว่า 5,000-100,00 รายทีเดียว
นิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี ประเมินภาพรวมให้เห็นว่า ปัจจุบันคนเลี้ยงหมูต้องเผชิญกับการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา (ASF) ทำให้หมูล้มตายเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้แม่หมูลดน้อยลงกว่าครึ่ง ทำให้กำลังการผลิตลูกหมูหรือ “หมูขุน” ลดน้อยลงไปด้วย โดยถึงขณะนี้หมูหายไปจากระบบราว 50 – 70%
นั่นจึงเป็นที่มาของการประเมินของ “บรรดาขาใหญ่ในวงการค้าหมู” บอกว่า ราคาเนื้อสุกรในปี 2565 โดยเฉลี่ยจะอยู่ในกรอบ 190-220 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนหน้าราว 30%
แต่หากใครไปดูข้อมูลเชิงสถิติก่อนหน้าเพียง 3 เดือนก่อน จะพบข้อมูลที่ชวนหัวเราะไม่ออก ร้องไห้ไม่ได้ เพราะช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2564 ผู้เลี้ยงหมูทุกรายเผชิญกับภาวะ ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม “ราคาถูกที่สุด” ในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน....มึนใช่มั้ยครับ...
ผมไม่ใช่นักข่าวหมูๆ นะครับ ผมเป็นนักท่องยุทธภพในเรื่องการข่าว จึงขอทบทวนให้ทุกท่านได้เห็นภาพ ”กลยุทธ์ทำราคาจากภาวะวิกฤติหมู”
ใครไม่เชื่อผมไปติดตามราคมหมูจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรไทยได้เลยครับว่า ในช่วงนั้นราคาขายปลีกในตลาดแค่กิโลกรัมละ 120-130 บาท
ราคาแม่พันธุ์สุกรที่เป็นต้นทุนสำคัญขนาดน้ำหนัก 250 กิโลกรัมต่อตัว ขายกันถูกมาเป็นประวัติศาสตร์หมูไทยแค่ตัวละ 4,500-5,000 บาท จากปกติขายกันสูงถึงตัวละ 25,000-28,000 บาท
ลูกหมูน้ำหนักตัวละ 14-16 กิโลกรัม ในท้องตลาดขายกันถูกกว่าน้ำเปล่า-น้ำอัดลมเสียอีกครับ เอามั๊ยๆ ตัวละ 20-50 บาท จากปกติขายกันตัวละ 1,000 บาท ส่วนหมูขุนนั้นขายกันราคาถูกมากแค่กิโลกรัมละ 40-50-70 บาท เรียกว่า ขายทิ้งแบบเทกระจาดทีเดียว
ใครจะเชื่อเพียงแค่ระยะเวลา 2-3 เดือน ”ราคาหมูในประเทศ” จะขึ้นมาแบบทะลุเพดานกิโลกรัมละเกือบ 280-300 บาท!
ส่วนใครที่เชื่อว่า ราคาหมูที่แพงเป็นเพราะหมูหายไปจากตลาดราว 50-70% แม่หมูพันธ์ที่มีอยู่ทั่วประเทศราว 1.1-1.2 ล้านตัว ซึ่งปกติจะผลิตลูกหมู หรือ “หมูขุน” ได้ราว 21-22 ล้านตัว ปัจจุบันนั้นแม่หมูพันธ์อยู่ราว 600,000 ตัว จนผลิตลูกหมูขุนได้แค่ 12-13 ล้านตัว ไม่พอกับความต้องการในประเทศ...ผมก็ไม่ว่ากัน
แต่ถ้า....เรารู้ว่า 3 เดือนก่อนหน้าหมูราคาถูก เพราะต้องตัดตอนโรคระบาด จนทำหมูไม่มี ฐานข้อมูลเบบี๋แบบนี้ มีหรือที่หน่วยงานราชการ ผู้เลี้ยงสุกรจะไม่รู้ว่า ไม่ช้าไม่นานราคาหมูในประเทศจะต้องถีบตัวขึ้นมาสูงลิ่วแน่นอน แล้วใครจะไม่หาทางเลี้ยงหมู...
และนั่นก็ไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ราคาขึ้นสูงลิ่วทะลุฟ้า จนคนทำงานรายวันที่ได้แค่แรงแค่ 300 บาท มีรายได้ไม่พอยาไส้เพื่อซื้อหมูไปให้ลูกหลานกิน
มันต้องมีอะไรในก่อไผ่...และไม่ใครก็ใครสักกลุ่มละครับที่กำลังเล่นเกม ”หมูตู้”!
และผู้ที่จะ “เล่นเกมหมูตู้” ล้วงเงินจากกระเป๋าประชาชน จะต้องเป็นกลุ่มคนที่มีเส้นสาย พรรคพวก รวมถึงฝ่ายการเมืองสนับสนุนแน่นวล...เชื่อผมเถอะครับ รับรองร้อยเปอร์เซ็นต์!
ในขณะที่สังคมตั้งคำถามว่าหมูหายไปจากระบบจริงหรือไม่ ใครเป็นคนค้ากำไรจากราคาหมูแพงนั้น....ภาพตัดมาให้เราเห็นภาพการทำงานจริงเพื่อแก้ปมเรื่องนี้ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการตรวจสอบหมูในท้องตลาดว่าเป็นอย่างไร
ผลปรากฏว่า นับตั้งแต่กลางเดือนมกราคมเป็นต้นมา มีการตรวจสอบหมูที่มีการกักตุนพบตัวเลขน่าตกใจ 28 มกราคม 2565 ตรวจห้องเย็น โรงกักเก็บเนื้อหมูของบรรดาผู้ประกอบการที่เกี่ยวพันกับหมูทั้งสิ้น 1,127 แห่ง พบซากหมู หมูชำแหละ เนื้อหมูที่กักเก็บไว้ถึง 22.25 ล้านกิโลกรัม
พอถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 ตรวจสอบไปทั้งสิ้น 1,366 แห่ง พบการกักเก็บซากหมู สุกรเนื้อ เนื้อชำแหละในห้องเย็นตามพื้นที่ต่างๆ ราว 24.66 ล้านกิโลกรัม
ถ้านำสถิติคนไทยที่บริโภคเนื้อหมูเฉลี่ยคนละ 24 กิโลกรัมต่อคนต่อปีมาบวกลบคูณหาร จะพบว่าหมูที่มีการกักไว้ 22.66 ล้านกิโลกรัมนั้น สามารถรองรับการบริโภคของคนไทยทั้งประเทศได้มากโขถึง 9.36 ล้านคนต่อปีเชียวครับพี่น้อง...อึ้งมั้ยละครับ
แต่เชื่อหรือไม่ ในข้อมูลการรายงานความคืบหน้าการดำเนินคดี ของชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไท ที่ร่วมกับตำรวจในชุดของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร.ดำเนินการตรวจสอบนั้นกลับพบว่า ห้องเย็น โรงแช่แข็ง ที่ผู้ประกอบการหลายรายเอาหมูมาฝากเก็บไว้นั้นมีการฝากแบบยาวนานตั้งแต่ 1-3-6-8 เดือน แลกกับการจ่ายค่ายเก็บในห้องเย็นกิโลกรัมละ 1 บาท/เดือน โดยไม่นำมาออกจำหน่ายหรือบริหารสต๊อกเดิมเลย...
หมายความว่า ผู้ประกอบการเหล่านั้น ยอมแบกต้นทุนค่าเก็บหมูไว้ในห้องเย็น โดยไม่สนใจต้นทุนการฝาก จึงไม่ยอมขนเนื้อหมูออกมาขาย...
เพราะอะไร ถ้าไม่ใช่เพราะว่า ราคาหมูขายปลีกของหมูที่ถีบตัวสูงขึ้นนั้น “มีส่วนต่างมากกว่าค่าการกักเก็บในห้องเย็น”!
กระแทกกระทั้นผู้คนไปกว่านั้นคือ เมื่อตำรวจได้ส่งสำนวนการสอบสวน 12 สำนวน คงเหลือ 2 สำนวน รอส่งฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดีทั้งหมด 14 คดีใน 2 จังหวัด เคสแรก ชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไท มอบให้ปศุสัตว์จังหวัดสมุทรสาครมาร้องทุกข์ดำเนินคดีกับทั้ง 5 บริษัทฯ (12 ราย) ในข้อหา “ร่วมกันย้ายซากสัตว์ เข้า ออก ผ่าน พื้นที่ประกาศกำหนดเขตโรคระบาดหรือเขตเฝ้าระวังโรคระบาดตามมาตรา 21(ประกาศจังหวัดสมุทรสาคร ลงวันที่ 8 ก.พ.2564) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์ประจำท้องที่ตาม พ.ร.บ.โรคระบาด พ.ศ.2458 มาตรา 22 มาตรา 65”
ศาลจังหวัดสมุทรสาครได้พิพากษา ดังนี้ บริษัทสินชัยห้องเย็น จำกัด ซึ่งฝากชิ้นส่วนสุกรแช่แข็งไว้ที่ บริษัท บีเค โฟเซ่นฟุดส์ จำกัด จำนวน 283,788 กิโลกรัม ศาลพิพากษา ปรับ 20,000 บาท พนักงานอัยการไม่ขอริบชิ้นส่วนสุกรแช่แข็ง
บริษัท มหาชัย ซีฟูดส์ โฮดิ้ง จำกัด จำนวน 15,000 กิโลกรัม ศาลพิพากษา ปรับ 8,000 บาท พนักงานอัยการไม่ขอริบชิ้นส่วนสุกรแช่แข็ง
บริษัทรักชัยห้องเย็น จำกัด ซึ่งฝากชิ้นส่วนสุกรแช่แข็งไว้ที่ บริษัท บีเค โฟเซ่นฟุดส์ จำกัด 158,591 กิโลกรัม ศาลพิพากษา ปรับ 12,000 บาท พนักงานอัยการไม่ขอริบชิ้นส่วนสุกรแช่แข็ง
บริษัทแปซิฟิคห้องเย็น จำกัด รับฝากชิ้นส่วนสุกร ของบริษัทเบทาโกรอุตสาหกรรม (บางเลน) จำนวน 220,347 กิโลกรัม ศาลพิพากษา ปรับ 60,000 บาท พนักงานอัยการไม่ขอริบชิ้นส่วนสุกรแช่แข็ง
บริษัท บางหญ้า ห้องเย็น จำกัด รับฝากชิ้นส่วนสุกร และชิ้นส่วนสัตว์ปีก เนื้อสัตว์แช่แข็ง 300,374 กิโลกรัม ถอนอายัดแล้ว 189,278 กิโลกรัมคงเหลือ 111,096 กิโลกรัม ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา จำนวน 10 ราย ผลคำพิพากษา ปรับ ผู้ต้องหาที่ 1-8 จำนวน 4,000-10,000 บาท คงเหลือผู้ต้องหาอีก 2 ราย นัดส่งฟ้องศาล คาดว่าภายในวันที่ 7-11 ก.พ.2565
เคสที่ 2 จังหวัดนครปฐม ตำรวจได้ส่งคดีไปยังพนักงานอัยการจังหวัดนครปฐมเพื่อฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดนครปฐม ในข้อหา “ร่วมกันย้ายซากสัตว์ เข้า ออก ผ่าน พื้นที่ประกาศกำหนดเขตโรคระบาดหรือเขตเฝ้าระวังโรคระบาดตามมาตรา 21 มาตรา 22
บริษัท วงศ์ศรีสกุลทอง จำกัด พบมีสินค้าเนื้อและชิ้นส่วนสุกรแช่แข็ง 1,047,600 กิโลกรัม อายัดสินค้าเนื้อและชิ้นส่วนสุกรแช่แข็ง จำนวน 966,211 กิโลกรัม ไม่มีใบอนุญาตเคลื่อนย้าย รอรวบรวมหลักฐานส่งพนักงานสอบสวนในวันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565
ปัญหาหมูแพงกำลังกลายเป็นหมูบะช่อ ให้ประชาชนและพรรคฝ่ายค้านรุมถล่มการทำงานของรัฐบาลแน่นอน เชื่อหัวอ้ายบากบั่นเถอะ!