นับวันประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นทุกวัน และยากแก่การแก้ปัญหาในทางสังคมเข้าไปทุกที
สัปดาห์ที่ผ่านมา ใครที่ติดตามสภาวะทางสังคมของประเทศไทยจะมองเห็นปมใหญ่ ที่หากไม่นำมาผนวกในที่เดียวกันจะมองภาพไปคนละด้าน
หนึ่ง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยว่า สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 3 ของปี 2564 พบว่า หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัว 4.2% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวขึ้นมา 5.1%
แต่หากคิดเป็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) จะพบว่าอยู่ในสัดส่วนที่สูงถึง 89.3% เมื่อเทียบกับขนาดของจีดีพีโดยรวมราว 16.5 ล้านล้านบาท
เมื่อสแกนเนื้อในของหนี้สินของครัวเรือนไทยพบว่า สัดส่วนสินเชื่อที่กล่าวถึงพิเศษ หรือหนี้สินที่ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน มีมูลค่ามากถึง 3.6 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมสูงถึง 7.05% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ในสินเชื่อเกือบทุกประเภทสินเชื่อยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย
สภาพัฒน์ระบุว่า ถ้ามีปัจจัยอื่นมากระทบต่อรายได้ครัวเรือนไทย อาจส่งผลให้หนี้เสีย (NPL) โดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่ราว 1.5 แสนล้านบาท หรือประมาณ 2.89% ทันที
สาเหตุเพราะผู้คนในประเทศมีอัตราว่างงานสูงขึ้นจากวิกฤติโควิด และการก่อหนี้อุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพื่อนำมาชดเชยรายได้ที่ยังคงไม่ฟื้นตัวจากวิกฤติ
ปัจจุบันไทย มีการจ้างงานอยู่ 37.9 ล้านคน ลดลง 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีผู้ว่างงานอยู่ราว 630,000 คน มีอัตราการทำงานอยู่ที่ 98.1% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 98.0% สะท้อนว่า การจ้างงานเริ่มดีขึ้น…
แต่ไม่ได้หมายความว่าคนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้นแม้แต่น้อย
คุณวิรไท สินติประภพ เคยทำนายไว้ว่า ไม่ช้าไม่นานคนไทยจะติดกับดักหนี้ครัวเรือนเป็นอันดับต้นของโลก จากหนี้ครัวเรือนอยู่ระดับ 78.7% ของจีดีพี เป็นผลมาจากภาคธุรกิจสนับสนุนให้ลูกค้าซื้อของใช้ฟุ่มเฟือยและเกินความจำเป็น ทำให้คนไทยมีหนี้เร็ว ระยะเวลานาน และมีมูลหนี้มากขึ้น
ถึงตอนนี้ คนไทยมีหนี้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นจากปี 2553 อยู่ที่ 7 หมื่นบาทต่อคน เพิ่มเป็น 1.5 แสนบาทต่อคนในปี 2560 ไม่รวมหนี้นอกระบบ หนี้ของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และไม่รวมหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์
ผมทำนายได้ว่า ตอนนี้คนไทยมีหนี้สินต่อหัวเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 1.7 แสนบาทเข้าไปแล้วแน่นอน
ปัญหาหนี้ครัวเรืองของไทยผ่านมาเกือบ 4-5 ปี จึงยังแก้กันไม่ตก!
สาเหตุเพราะมาตรการการแก้ไขปัญหาหนี้ ยังคงทำได้เพียงแค่ชะลอการชำระหนี้แก่ลูกหนี้แบบชั่วคราว เช่น ขยายระยะเวลา การพักชำระหนี้ จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม
ขณะที่มาตรการส่งเสริมให้ครัวเรือนได้รับการจ้างงานที่มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเน้นการยกระดับทักษะแรงงาน ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดยกมาทำเป็นไพล็อตโปรเจ็กต์ มีแต่คำพูดอันสวยหรู ไร้ซึ่งวาระแห่งชาติ
ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่กำลังหัวหมุนอยู่กับการหาเงินมาจ่ายรายวันและชำระหนี้ ผมพามาดูชีวิตที่แตกต่างกัน...ฟ้ากับหุบเหว...
บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่มีอยู่ 9 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ OISHI บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) หรือ SSC
บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UV บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMARIN บริษัท อาหารสยาม จำกัด (มหาชน) หรือ SFP บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ INSURE มีกำไรสุทธิรวมกันทั้งสิ้น 7,105 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรราว 7,065 ล้านบาท
ขณะที่มีรายงานข่าวว่า บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยเบฟ กำลังวางแผนการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ในธุรกิจเบียร์ในสิงคโปร์อีกครั้ง คาดว่ามีความต้องการจะระดมทุนราว 2,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 65,000 ล้านบาท
หุ้นในกลุ่มบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ของตระกูลเจียรวนนท์ ซึ่งทำธุรกิจอาหาร สินค้าเนื้อสัตว์แปรรูป และอาหารสำเร็จรูป ผลประกอบการช่วง 9 เดือน ปี 2564 มีรายได้ 374,923 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 6,308 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven, บริการ Counter Service, ผู้ผลิตอาหารแช่แข็ง, ร้านกาแฟสด ผลประกอบการ 9 เดือน ปี2564 มีรายได้ 401,450 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 6,282 ล้านบาท
บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบขายส่ง รวมไปถึงห้างโลตัส ผลประกอบการ 9 เดือน ปี2564 มีรายได้ 166,024 ล้านบาทและมีกำไร 4,593 ล้านบาท
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทรู มูฟ, บริการอินเทอร์เน็ตทรู ออนไลน์, สถานีโทรทัศน์ทรู วิชั่น, ทีวีดิจิทัลทรูโฟว์ยู รวมถึงร้านกาแฟทรู คอฟฟี่ ผลประกอบการ 9 เดือน ปี 2564 มีรายได้ 103,177.24 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิที่ 1,483 ล้านบาท
หันมาดูกำไรในระบบธนาคารพาณิชย์กันบ้าง
ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2564 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 1.85 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 23.6%
กำไรที่เกิดขึ้นมาจากค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลงจากการกันสำรองในระดับสูงในปีก่อน มีการควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.81% จากปีก่อนที่ 0.69%
ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อย ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ และการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ย ทำให้อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ลดลงมาอยู่ที่ 2.46% จากปีก่อนที่ 2.63%
แสดงว่า กำไรเมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆในระบบการปล่อนสินเชื่อรับเงินฝากแล้วทั้งระบบกำไร 2.46% ไม่ถือว่ามาก แต่ไม่ถือว่าน้อยในภาวะที่ธุรกิจทุกอย่างซบเซาอับเฉาจากวิกฤตโควิดและวิกฤตกำลังซื้อของระบบเศรษฐกิจ
สินเชื่อโดยรวมขยายตัวที่ 6.5% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัว 5.1% สินเชื่อธุรกิจขยายตัว 7.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขยายตัวในเกือบทุกประเภทธุรกิจ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีขยายตัวต่อเนื่อง จากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู
ผมไปตรวจสอบไส้ในของกำไรระบธนาคารพาณิชย์ที่แจ้งตลาด 10 แห่ง พบว่ามีกำไรสุทธิรวม 1.83 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.46 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 32.27% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิรวม 1.38 แสนล้านบาท
กำไรส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ มาจากรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ภาระการตั้งสำรองที่ลดลง
หัวใจสำคัญที่ทำให้กำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเพิ่ม มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นและกำไรจากดอกเบี้ย
กล่าวคือ ธนาคารพาณิชย์ 9 แห่งไม่รวม LHFG มีรายได้ค่าธรรมเนียมรวม 1.66 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 7.5% จากปี 2563 ที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมแค่ 1.54 แสนล้านบาท
ส่วนรายได้จากดอกเบี้ยนั้น 9 ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยรวม 5.47 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้นเพียง 0.4% จากปี 2563 ที่มีรายได้จากดอกเบี้ยรวม 5.45 แสนล้านบาท
ธนาคารที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมมากที่สุดคือ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ที่มีรายได้ค่าธรรมเนียม 6,070 ล้านบาท เพิ่งขึ้น 40.1% จากปีก่อนที่มี 4,300 ล้านบาท
ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย 1,590 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.9% ธนาคารกรุงเทพ 29,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.2%
ธนาคารไทยพาณิชย์ 40,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.9% จากปี 2563 ที่มีรายได้ค่าธรรมเนียม 36,600 ล้านบาท
ธนาคารทิสโก้มีรายได้ค่าธรรมเนียม 5,610 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 9%
อาจเป็นเพราะ มุมมอง วิชั่น โอกาส ปัญญา การบริหารจัดการ การบริหารการเงินของคนรวยกับคนจนที่แตกต่างกัน จึงทำให้ปัญหารวยกระจุกจนกระจาย แผ่ซ่านอยู่ในปฐพีนี้