สถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก ได้พุ่งขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการจัดหาที่ตึงตัว และปัจจุบันถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์การสู้รบกันระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่อแววยืดเยื้อ ส่งผลต่อราคาพลังงานทะยานขึ้นต่อเนื่อง
ล่าสุดสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนเมษายน 2565 ปรับขึ้นไปแตะที่ 125.87 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ถือเป็นการปรับตัวขึ้นสูงสุด นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2551 และช่วงหนึ่งของการซื้อขายราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นไปถึง 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเวลานี้ ผู้บริโภคต้องเผชิญภาระค่าครองชีพอย่างหนักหน่วง จากราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับสูงขึ้นเป็นรายวัน บวกกับราคาสินค้าแทบจะทุกประเภททยอยปรับราคา ท่ามกลางเศรษฐกิจที่บอบช้ำจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
อีกทั้งในเร็วๆ นี้ ที่ประชาชนจะต้องเผชิญค่าครองชีพที่สูงขึ้นอีก หนีไม่พ้นค่าไฟฟ้า ที่กำลังเตรียมปรับขึ้นไป ซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลงอีก จากราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ และเมื่อบวกกับปัญหาการส่งมอบแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณที่ล่าช้า ทำให้ปริมาณการผลิตก๊าซฯ จากอ่าวไทย ลดปริมาณลง ต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีมาช่วยทดแทน นั่นย่อมส่งผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น
ปัจจัยดังกล่าว สะท้อนมาถึงต้นทุนค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในรอบเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2565 ที่มีความจำเป็นต้องประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่าเอฟทีในรอบเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2565 สูงขึ้นไปแบบก้าวกระโดดตามราคาพลังงานโลก จึงเตือนทุกฝ่ายให้เตรียม “รับแรงกระแทกจากค่าไฟฟ้า” ได้เลย เพราะการบริหารค่าไฟฟ้าของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้นำเงินนำเงินสะสมจากบัญชี Take or Pay แหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมาในอดีตมาพยุงค่าไฟฟ้ารอบปัจจุบัน (ม.ค.-เม.ย. 2565) เพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพ แทบหมดหน้าตักไปแล้วกว่า 18,000 ล้านบาท
ขณะที่ภาคเอกชนอย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมาส่งสัญญาณ หากรัฐบาลจะปรับอัตราค่าไฟฟ้าขึ้นในรอบถัดไป (พ.ค.-ส.ค.65) รวมถึงราคาก๊าซฯ แล้ว ผลสำรวจส่วนใหญ่มองว่า จะกระทบต่อเศรษฐกิจส่งผลต่อราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากต้นทุนพลังงาน เพิ่มภาระค่าครองชีพให้ประชาชน และจะเป็นตัวเร่งอัตราเงินเฟ้อให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น และจะส่งผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวหรือหยุดชะงักในที่สุด
จึงขอให้ภาครัฐตรึงค่าเอฟทีหรือค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพ.ค.-ส.ค.65 นี้ เพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชน และช่วยพยุงการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้
สถานการณ์พลังงานที่วิกฤตอยู่ในเวลานี้ ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของรัฐบาล กระทรวงพลังงาน และเจ้าภาพหลักอย่าง กกพ. ว่าจะงัดมาตรการอะไรมาเป็นเครื่องมือฝ่าวิกฤติในครั้งนี้
ยิ่งเข้าสู่หน้าร้อนแบบนี้ด้วยแล้ว แทบไม่อยากจะคิดเลยว่าราคาค่าไฟฟ้าจากนี้ไป จะพุ่งขึ้นแบบทะลุทะลวงแค่ไหน ก็หวังว่าภาครัฐคงไม่พร่ำแต่พูด หรือรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดพลังงาน ประหยัดเงินในกระเป๋าเพียงอย่างเดียว เพราะในสภาวะวิกฤติเช่นนี้ ไม่ต้องบอกทั้งเอกชนและประชาชนก็ตระหนักรู้และรัดเข็มขัดกันทุกช่องทางด้วยตัวเองกันอยู่แล้ว