ประสบการณ์กายภาพบำบัดของคนชรา

11 มี.ค. 2565 | 23:40 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ระยะนี้ผมมีอาการปวดกล้ามเนื้อต้นคอบ่อยมาก แต่ไม่สามารถไปนวดแผนไทย การเจ็ดปวดทรมานมาก แต่ก็ไม่รู้ทำยังไงดี ได้แต่ขยับๆคอ เพื่อลดความเจ็บปวดไปได้บ้างไม่มากก็น้อย 


หลังจากวันเวลาผ่านไป ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับน้องๆ พนักงานด้านกายภาพบำบัด ที่ทำงานในสถานบ้านพักคนวัยเกษียณ เขาบอกว่านี่เป็นการกายภาพบำบัดอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วครับ แต่ถ้าจะให้ดี ควรจะจ้างนักกายภาพบำบัดที่เขามีประสบการณ์ มาทำการกายภาพให้ น่าจะดีกว่ามาก

ผมเองบอกว่าช่วงนี้ ไม่ค่อยอยากเข้าโรงพยาบาลจริงๆ ครับ เพราะไม่อยากถูกแยงจมูกตรวจหาเชื้อก่อนเดินเข้าโรงพยาบาล น้องเขาเลยบอกว่าเดี๋ยวจะแนะนำเพื่อนที่เป็นนักกายภาพบำบัดให้ ซึ่งราคาก็ไม่ได้ถูกเลยนะครับ ตอนแรกก็คิดเสียดายตังค์ แต่อีกใจหนึ่งก็อยากลอง เลยหลวมตัวตกลงจ้างไปครับ
   

พอเริ่มทำก็จึงทราบว่า การทำกายภาพบำบัดของผู้สูงวัย เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะอวัยวะของเราก็ใช้มาหลายสิบปี ก็เปรียบเสมือนรถยนต์ที่ใช้มานาน อะไหล่บางตัวก็ต้องชำรุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ร่างกายของมนุษย์นั้น หากจะต้องเปลี่ยนอวัยวะก็ไม่ง่ายเหมือนรถยนต์ ที่พอชำรุดเสียหายก็เปลี่ยนเลยไม่ต้องคิดมาก 

ในขณะที่อวัยวะมนุษย์จะเปลี่ยนที ก็ต้องเข้าโรงพยาบาลคุณหมอพูดว่าอะไร เราก็ต้องเชื่อฟัง ท่านบอกว่าเปลี่ยนไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนไม่ได้ เพราะในโลกนี้ คนที่พูดแล้วเหมือนคำประกาศิตของพระเจ้า ก็คือแพทย์กับผู้พิพากษานั่นแหละครับ เราจึงต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตาม


ส่วนการแก้ไขให้ร่างกายฟื้นฟูกลับมา นอกจากใช้ยาหรือผ่าตัด อีกวิธีหนึ่งที่คนชราอย่างผมสามารถทำได้ ก็คือการออกกำลังกายหรือการทำกายภาพบำบัด ซึ่งวิธีการกายภาพบำบัดนั้น มีหลากหลายวิธี แล้วแต่อวัยวะของเราส่วนไหนที่ชำรุด 


ต้องใช้กายภาพบำบัดอย่างไรดีละ? เรื่องนี้ก็ต้องมีนักกายภาพหรือคุณหมอเป็นผู้กำหนดให้เราทำครับ แต่ละอวัยวะการกายภาพก็แตกต่างกันออกไป การออกกำลังกายหรือกายภาพไม่ใช่ว่าเราคิดว่าใช่ก็ต้องใช่ ถ้าคิดอย่างนั้น คงไม่ต้องมีนักกายภาพที่ต้องเล่าเรียนวิชาในมหาวิทยาลัยนานถึงสี่ปีหรอกครับ ยังไงก็ต้องทำตามที่เขาสั่งครับ ผมเองก็ไม่ใช่นักกายภาพบำบัด ดังนั้นต้องเชื่อฟังเขาครับ


เริ่มจากเขาให้ผมขยับคอไปมาก่อน จากนั้นจึงเริ่มใช้มือดันคางตนเอง แล้วให้ฝืนคอสู้แรงมือ ทำทั้งสองฝั่งซ้ายขวา แล้วก็ด้านหน้าหลังไปมาหลายครั้ง ยังมีให้ยืนพิงผนัง ยืนตัวตรงแนบผนัง แล้วชูมือขึ้นชิดผนัง......หลากหลายท่าทางที่เขาสั่งให้ทำ ล้วนแล้วแต่ใช้วิชาความรู้ของเขา อธิบายให้ทราบถึงผลลัพธ์ในการทำว่าจะส่งผลต่ออวัยวะส่วนใดบ้าง 


ทุกท่าทางที่ทำ ผมเชื่อว่าเป็นการผสมผสานในการออกกำลังกายทั่วไป บวกกับท่ากายบริหารที่เราเคยทำเมื่อสมัยเด็กๆ ทั้งสิ้น ซึ่งต้องพูดว่าเราเองก็ไม่เคยทราบมาก่อนว่าจะส่งผลมากมายต่อตัวเราทั้งนั้นครับ 
  

นักกายภาพยังได้อธิบายให้ผมฟังว่า ยังมีวิธีบำบัดอีกแบบหนึ่ง คือการใช้กิจกรรมทางด้านจิตใจ (Mental Activities) มาช่วยในการบริหารจิตใจและร่างกายด้วย เช่นการผ่อนคลายอารมณ์เครียด ด้วยเสียงเพลง ไม่ว่าจะเป็นการฟังดนตรีที่เบาๆ ให้ความสุนทรีในอารมณ์หรือการเต้นรำ การร้องเพลงเป็นต้น 


นั่นจะช่วยให้คลายเครียด แล้วจะส่งผลให้สภาพร่างกายรีเล็คส์ ไม่เกิดปัญหาทางด้านสภาพจิตใจ ซึ่งบางครั้งเราเองก็ไม่ทราบว่านั่นคือการใช้จิตบำบัดอย่างหนึ่ง หรือแม้การดำเนินชีวิตแบบปกติที่เราไม่คาดว่าจะมีส่วนช่วยให้เราได้ผ่อนคลาย 


ยังมีอีกวิธีหนึ่งในด้านหลักการ Mental Activities เขาคิดว่านั่นจะสามารถช่วยได้คือ การทำอาหารในครัว ซึ่งผมเองแม้จะเป็นคนที่ชอบทำอาหารมาก บางครั้งในวันเสาร์-อาทิตย์ ในช่วงก่อนสถานการณ์ COVID-19 ผมก็จะไปหาซื้ออาหารสดตามตลาดสด 


แต่พอเข้าสู่โรคระบาดรุนแรงมากขึ้น ผมก็จะเลือกไปซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด จากนั้นก็มาทำอาหารรับประทานกันทั้งบ้าน ไม่เคยคิดเลยว่านั่นคือกิจกรรมบำบัดทางด้านจิตใจเลยครับ
     

เขายังบอกอีกว่า ยังมีการฝึกสมาธิด้วยการกำหนดลมหายใจ ซึ่งผมในอดีตเองก็เคยบวชเรียนมาก่อน ก็คิดแต่เพียงว่าเป็นการทำสมาธิเท่านั้น ไม่เคยได้คิดลึกซึ้งไปมากกว่านั้นเลย แต่พอมาฟังนักกายภาพบำบัดบอกว่า นั่นคือหนึ่งในหลักการ Mental Activities  


ก็อดแปลกใจไม่ได้ว่า ศาสนาพุทธเราเมื่อสองพันกว่าปี ช่างทันสมัยอะไรเช่นนี้ สามารถใช้วิธีการสอนให้คนทำสมาธิ ไม่เพียงแต่จะเข้าถึงประโยชน์ทางด้านหลักธรรมเท่านั้น ยังไกลไปถึงการบำบัดจิตใจด้วย เพื่อให้ส่งผลไปถึงการบำบัดสภาพร่างกายของมนุษย์ด้วย ช่างงดงามเหลือเชื่อจริงๆ 
   

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมคิดว่าเงินที่ได้เสียไปในการว่าจ้างให้นักกายภาพ มาช่วยในการทำกายภาพบำบัดนั้น มันช่างคุ้มค่ากับสิ่งใหม่ๆ ที่ได้เรียนรู้เสียจริงๆ สำหรับผู้สูงวัยที่พอมีกำลังทรัพย์ที่จะจ่าย นี่ไม่เพียงเป็นการว่าจ้างเขามาดูแลเราเท่านั้น ยังสามารถที่จะกระจายทรัพย์ให้หมุนเวียนไปยังคนรุ่นใหม่ได้อีก เรียกว่าการว่าจ้างครั้งนี้ หากมองในแง่บวกแล้วช่างคุ้มค่าเสียจริงๆ ครับ