ในปัจจุบันในวงการเงินการลงทุน “คริปโทเคอร์เรนซี” (Cryptocurrency) ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มาแรง โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่ให้ความสนใจ และหันมาลงทุนกันเป็นจำนวนมาก “คริปโทเคอร์เรนซี” (Cryptocurrency) หรือ ที่นิยมเรียกกันว่า “คริปโตฯ” คือเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset) หรือสกุลเงินเข้ารหัสที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก
ล่าสุด SM Entertainment และ YG Entertainment สองบริษัทด้านความบันเทิงชั้นนำจากประเทศเกาหลีใต้ ต่างประกาศร่วมมือกับ Binance แพลตฟอร์มซื้อ-ขาย และแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี อันดับหนึ่งของโลก โดยจะเข้ามาดูแลในด้าน NFT (Non-Fungible Token) ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทหนึ่งที่ใช้แสดงความเป็นเจ้าของ และไม่สามารถทำซ้ำหรือดัดแปลงได้ สองค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง SM และ YG จึงคว้าโอกาสพัฒนาประสบการณ์และบริการสำหรับแฟนคลับทั่วโลก
การร่วมมือกันระหว่าง YG Entertainment ต้นสังกัดของศิลปินชื่อดังอย่าง BIGBANG, BLACKPINK, WINNER ฯลฯ และ Binance ในครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดประตูสู่จักรวาล Metaverse ที่เข้ามาช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงศิลปินมากขึ้น ทำให้แฟนคลับสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับศิลปินได้บนโลกเสมือน ซึ่งใช้กลยุทธ์ดึงดูดใจเหล่าแฟนคลับด้วยสิทธิพิเศษมากมาย
อาทิ การแสดงที่ไม่มีให้รับชมบนโลกจริง การรับสินค้าสุดพิเศษ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างแฟนคลับและศิลปิน ทั้งนี้ ยังมีการผลิต NFT ที่ eco-friendly และการพัฒนาเกมบน Binance Smart Chain อีกด้วย เพื่อสร้างบริการที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์สำหรับแฟนคลับ
ส่วนทางด้านของ SM Entertainment ต้นสังกัดของศิลปินชื่อดังอย่าง Girls’ Generation, EXO, Red Velvet, NCT, aespa ฯลฯ ก็ได้ร่วมมือกับ Binance เพื่อพัฒนาระบบนิเวศที่เรียกว่า Play-to-Create (P2C) คือ ระบบที่เปิดโอกาสให้เหล่าแฟนคลับหรือครีเอเตอร์สามารถสร้างสรรค์ผลงาน หรือเนื้อหาจากศิลปินที่อยู่ในรูปของ NFT ได้ เช่น เกม เพลง หรือสินค้า
นอกจากนี้ยังได้รับรายได้จากการผลิตนั้นอีกด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งโมเดลธุรกิจใหม่ที่ทำให้แฟนคลับสามารถทำรายได้จากศิลปินที่ตนชื่นชอบ นอกจากจะสร้างการมีส่วนร่วมของแฟนคลับ ยังสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ในขณะเดียวกันก็ช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม K-POP อีกด้วย
จากความพยายามที่ทั้งสองค่ายดึงเทคโนโลยีเข้ามาผนวกกับการทำธุรกิจความบันเทิงนั้น เป็นหนึ่งวิธีที่สร้างโอกาสทางธุรกิจได้อย่างมหาศาล โมเดลธุรกิจแบบ “ติ่งไปด้วยและทำเงินไปด้วย” หรืออธิบายให้ง่ายขึ้น ก็คือ การที่แฟนคลับได้สนับสนุนศิลปินไปพร้อม ๆ กับการสร้างรายได้ ซึ่งโมเดลธุรกิจในรูปแบบนี้ จะส่งผลดีต่อการจัดลำดับและความนิยมของศิลปิน
อีกทั้งยังสามารถทำเงินให้กับต้นสังกัดได้อีกด้วย นี่อาจเรียกได้ว่าเป็น win-win situation สำหรับแวดวง K-POP เลยก็ว่าได้ นอกจากนี้ การบริการต่าง ๆ ยังเข้ามามาทลายข้อจำกัดในด้านสถานที่ ที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลก ก็สามารถเข้าถึงประสบการณ์เหล่านี้ได้เช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าครั้งสำคัญสำหรับแวดวงความบันเทิง ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มช่องทางการหารายได้ให้กับธุรกิจ ดึงดูดผู้ใช้งานด้วยประสบการณ์และการลงทุนที่แปลกใหม่ แฟนคลับยังได้สนับสนุนศิลปินที่ตนชื่นชอบ และในคราวเดียวกันยังสร้างผลประโยชน์ทางรายได้ให้กับตนเองอีกด้วย คาดว่าในอนาคตจะมีบริการอื่นอีกมากที่ผันตัวเข้าสู่โลกออนไลน์
อาทิ การจัดอันดับศิลปินหรือการรับสิทธิพิเศษต่าง ๆ ซึ่งเดิมที การได้มาซึ่งสิทธิพิเศษเหล่านั้น อาจต้องแลกมาด้วย “การทำยอดการซื้ออัลบั้มหรือสินค้า ในปริมาณมาก” แต่หลังจากที่ได้สิทธิพิเศษสมใจแล้ว อัลบั้มหรือสินค้าเหล่านั้นอาจสูญเปล่า จึงถูกตั้งคำถามอย่างต่อเนื่องในด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจจะได้เห็นอุตสาหกรรมด้านความบันเทิงทั้งไทยและต่างชาติ นำเทคโนโลยีมาปรับเปลี่ยนรูปแบบของการจัดลำดับ และเปลี่ยนอัลบั้มหรือสินค้าอื่นๆ มาอยู่ในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัลแทน เนื่องจากจะทำให้สินค้าเหล่านี้มีมูลค่าอยู่เสมอ ทั้งยังสามารถซื้อเพื่อการลงทุนได้เช่นเดียวกัน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม K-POP ไปพร้อมกับการเสริมสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ในด้านความบันเทิง อีกทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีในด้านการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,764 วันที่ 10 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2565