นาคหลวงชื่อ ส.ณ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก

11 เม.ย. 2565 | 04:50 น.
อัปเดตล่าสุด :11 เม.ย. 2565 | 11:54 น.

นาคหลวงชื่อ ส.ณ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก : คอลัมน์สังฆานุสติ โดย... บาสก

การทรงผนวชของพระบรมวงศานุวงศ์ และการอุปสมบทนาคหลวง เป็นพระราชประเพณีมาแต่โบราณโดยผู้มีฐานันดรศักดิ์ หรือข้าราชบริพารท่านใด มีความประสงค์จะทรงผนวช หรืออุปสมบท ต้องนำความกราบบังคมทูลก่อน เมื่อพระราชทานอนุญาต จึงถือเป็นนาคหลวง
คนธรรมดาสามัญเป็นนาคหลวงได้ แต่ต้องเก่งบาลีสอบเปรียญ 9 ได้ตั้งแต่เป็นสามเณร (อายุ 20-21ปี) จะบวชพระ ก็ได้เป็นนาคหลวง
 

ส่วนมากนาคหลวงจะบวชอยู่ในวัดธรรมยุต ถ้าช่วงนั้นสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระสงฆ์ธรรมยุต จะนิมนต์เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชแล้วเข้าจำพรรษาวัดธรรมยุต เช่นวัดบวรนิเวศวิหารได้เลย
 

หากปีใดนาคหลวงมีความประสงค์จะอยู่ วัดมหานิกาย ก็โปรดให้จัดพิธีวันถัดไป อีก 1 วัน (มหานิกายไม่ร่วมสังฆกรรมกับธรนมยุต) ในการนี้โปรดฯให้นิมนต์ พระสงฆ์มหานิกายมาเป็นอุปัชฌาย์ รวมทั้งพระคู่สวดและพระอันดับ บวขแล้วไปอยู่จำพรรษาวัดมหานิกาย ตามที่ตกลงกับเจ้าอาวาสไว้
 

การเป็นนาคหลวง หรืออุปสมบทในพระบรมราชูปถัมภ์นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ประทับทอดพระเนตรในพิธี แต่จะเสด็จมาพระราชทานอัฐบริกขารทั้งหมด เมื่อเสร็จพิธีอุปสมบท 
 

สามเณร ป.ธ.9 นาคหลวง
ส่วนนาคหลวงคนธรรมดาสามัญก็มีได้ แต่ต้องเป็นสามเณร ที่เก่ง มีสติปัญญาเป็นเลิศ สามารถสอบได้เปรียญ 9 ก่อนอายุครบบวช (20 ปี) สามเณรที่สอบได้เปรียญ 9 เพิ่งมีในรัชกาลที่ 4 หนึ่งรูป รัชกาลที่ 5 หนึ่งรูป ซึ่งตอนนั้นใช้วิธีสอบปากเปล่า ต่อหน้าพระประมุข และพระเถระผู้ใหญ่ที่คงแก่เรียน
 

สามเณรที่สอบเปรียญ 9 ได้รูปแรกและรูปเดียวในสมัยรัชกาลที่ 4 ชื่อสามเณร สา สอบได้เปรียญ 9 เมื่ออายุ 18 ปี พ.ศ. 2374 เมื่ออายุครบบวช พระเจ้าอยู่หัวรัชกาล ที่ 4 โปรดให้เป็นนาคหลวง 

 

พระมหาสา เจริญเติบโตในพระศาสนาและสมณศักดิ์ เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดราชประดิษฐ์ สถิตมหาสีมาราม จนกระทั่งได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 9 ในรัชกาลที่ 5 สิ้นพระชนม์ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2442 สิริพระชันษา 87 ปี ทรงเป็นสังฆราช 5 ปี 1 เดือน
 

สามเณรนาคหลวงรูปที่ 2 ได้แก่สามเณร ปลด อายุ 12 ปี บรรพชาเป็นสามเณร พ.ศ.2443 พำนักที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม บวชแค่ 3 เดือน เข้าแปลปากเปล่าประโยค 1 ได้ ต่อหน้าพระพักตร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงมีรับสั่งว่า เณรเล็กๆ ก็แปลได้ จึงโปรดให้ย้ายไปอยู่วัดเบญจมบพิตร
 

เมื่อมาอยู่สำนักใหม่ สามเณรปลดได้เรียนและแปลประโยคสูงขึ้นโดยไม่ตก ในที่สุดสอบ เปรียญ 9 ได้ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2451 เป็นสามเณรรูปแรกในรัชกาลที่ 5 ที่สอบได้ เปรียญ 9 ประโยค  และเป็นรูปที่ 2 ในยุครัตนโกสินทร์ จึงโปรดให้นั่งรถยนตร์หลวง จากสนามสอบวัดพระศรีรัตนศาสดารามกลับวัดเบญจมบพิตร(กลายเป็นธรรมเนียมถึงปัจจุบัน) ถึงพ.ศ. 2452 อายุ ครบ 20 ปี จึงโปรดให้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จำพรรษาวัดเบญจมบพิตร
 

จากนั้นได้รับภาระพระศาสนา เจริญในสมณศักดิ์ จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นสังฆนายกระหว่าง พ.ศ.2494 ถึง พ.ศ.2503 (ตาม พรบ.สงฆ์ 2484) ขณะที่ดำรงสมศักดิ์ สมเด็จพระวันรัต ใน ปี พ.ศ. 2503 ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 14 แต่ดำรงตำแหน่งสังฆราช 2 ปี 1 เดือน ก็สิ้นพระชนม์ วันที่ 17 มิถุนายน 2505 สิริพระชันษา 73 ปี ทั้งนี้หลังจากเสด็จกลับจากทรงฉันเพล ที่บ้าน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

ยุคสอบข้อเขียน
การสอบวัดความรู้ปริยัติธรรมแผนกบาลี เปลี่ยนจากปากเปล่ามาเป็นข้อเขียน ในสมัยรัชกาลที่ 6 ช่วงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระองค์ที่ 10 ทรงบัญชาการสงฆ์และปรับปรุงการเรียน การสอบปริยัติธรรมตามหลักสูตรใหม่ คือให้มีการเขียนตอบ แทนสอบปากเปล่า(เริ่ม พ.ศ.2436 เรียกว่าเปรียญมหามกุฏ)
 

เมื่อ พ.ศ. 2503 มีสามเณร วัดทองนพคุณ ชื่อเสฐียรพงษ์ วรรณปก อายุ 20 ปี สามารถสอบเปรียญธรรม 9 ประโยคได้ในสนามหลวง จึงเป็นสามเณรรูปที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เป็นรูปแรกในการสอบแบบข้อเขียนและเป็นรูปแรกในรัชกาลที่ 9
 

ในการพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์อุปสมบท สามเณรเสฐียรพงษ์ ในฐานะนาคหลวงนั้น ถือว่าพิเศษ ต่างจากบวชนาคหลวง ทั่วๆ ไป กล่าวคือ การบวชนาคหลวงทั่วไปจะจัดในเดือนกรกฎาคม ก่อนเข้าพรรษา แต่การบวช สามเณรเสฐียรพงษ์ โปรดฯให้จัด วันที่ 10 มิถุนายน 2503 ก่อนเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาและยุโรปอย่างเป็นทางการ เริ่มวันที่ 14 มิถุนายน 2503
 

ในบันทึกพระราชพิธี กล่าวว่า พระเจ้าอยู่หัว เสด็จในพิธีอุปสมบท สามเณรเสฐียรพงษ์ ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งแต่ต้น จนจบพิธี เริ่มต้นทรงประเคนผ้าไตร และบาตร ด้วยพระหัตถ์จากนั้นประทับทอดพระเนตรพิธีอุปสมบทจนเสร็จ แล้วพระราชทานเครื่องอัฐบริขารแก่พระภิกษุบวชใหม่ เสร็จแล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ

นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อพระมหาเสฐียรพงษ์ เป็นล้นพ้น เมื่อเทียบกับการบวชนาคหลวงทั่วไป ที่ไม่ประทับทอดพระเนตรพิธี แต่จะเสด็จมาพระราชทานอัฐบริขาร เมื่อเสร็จพิธีอุปสมบทแล้วเท่านั้น
 

ส่วนชีวิตพระมหาเสฐียรพงษ์ หลังจากนั้น เป็นอย่างไร ต้องอ่านคำไว้อาลัยของ ส.ศิวลักษณ์ กัลยาณมิตร ของอาจารย์เสฐียรพงษ์ ดังนี้
 

ส.ศิวลักษณ์อาลัยอนิจกรรมของ เสฐียรพงษ์ 
เสฐียรพงษ์ วรรณปก นักเขียน นักนสพ. นักศาสนาและราชบัณฑิต ถึงแก่อนิจกรรม ด้วยความสงบเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2565 ณ โรงพยาบาบศิริราช สิริอายุ 83 ปี และตั้งศพบำเพ็ญ
วัดพระเชตุพนวิมลมังครราม ได้มีนักปราชญ์ราชบัณฑิต และผู้คุ้นเคยหลายท่านแสดงความอาลัย ผ่านเฟซบุ๊ก และ โซเชี่ยลมีเดีย เช่น ส.ศิวลักษณ์ ที่เป็นกัลยาณมิตร ศิษย์สำนักวัดทองนพคุณเหมือนกัน เขียนถึงเสฐียรพงษ์ว่า
 

เสฐียรพงษ์ เป็นสามเณร ป.ธ.9 รูปแรกในรัชกาลที่ 9 และรูปแรก แต่เกิดการสอบแบบข้อเขียนแทนสอบปากเปล่าดังแต่ก่อน เขาเป็นศิษย์พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) แห่งสำนักเรียนวัดทองนพคุณ
 

ต่อมา เสฐียรพงษ์ ได้ทุนไปเรียนที่วิทยาลัยตรีนิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทั้งๆ ที่ยังบวชอยู่ อาจเรียกได้ว่าเป็นพระไทยรูปแรกที่จบจากที่นั่น เสียดายที่กลับมาไม่ทันไรก็เขาก็สึก เขาถนัดเป็นนักหนังสือพิมพ์มากกว่าเป็นครูบาอาจารย์ ทั้งๆ ที่เขาเคยอยู่ที่มหาวิทยาลัย
เขาเขียนให้ นสพ.ไทยรัฐ ต่อมาเมื่อนสพ.ไทยรัฐไม่เล่นงานพระธรรมกาย เขาจึงย้ายมาอยู่ นสพ.มติชน
 

มีผลงานรวมเล่มมากมาย ทั้งกับสำนักพิมพ์มติชนและสำนักพิมพ์เคล็ดไทย ภาษาไทยเขาดี หนังสือที่มีชื่อเสียงเป็นหนังสือตั้งชือ ที่เขาสามารถตั้งชื่อคนเพราะๆ ผมกับเขาเป็นกัลยาณมิตรกันมายาวนาน เมื่อเขาตายจากไป ก็หวังว่า เขาจะไปสู่สุคติ ในสัมปรายภพ

ส.ศิวลักษณ์