หลังสงกรานต์ ลุ้นศบค.ปรับรูปแบบ ดึงนักท่องเที่ยวเข้าไทย

17 เม.ย. 2565 | 00:30 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย

*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3775ระหว่างวันที่ 17-20 เม.ย.2656 โดย “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย...
    

*** หลังเทศกาลสงกรานต์ 2565 หลังมีการเฉลิมฉลองช่วงหยุดยาว มีการเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างญาติพี่น้อง ต้องกลับมาลุ้นว่ายอดผู้ติดเชื้อ “โควิด-19” จะเพิ่มขึ้นอย่างที่มีการหวาดวิตกกันหรือไม่ เพราะก่อนหน้านั้น ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19  หรือ ศบค. ยังไม่มีการปรับมาตรการอะไร แต่จะต้องรอดูสถานการณ์โควิดหลังสงกรานต์ก่อน
 

*** นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศู ศบค. เคยบอกว่า มีประเด็นสำคัญที่ทางศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการท่องเที่ยวและกีฬา (ศปก.กก)  ได้นำเสนอในที่ประชุม ศบค. ซึ่งมีการวางแผนถึงเดือน พ.ค.2565 โดยเสนอหลักการเบื้องต้น แต่ยังไม่ได้อนุมัติ อาทิ  1. ระบบการลงทะเบียน ขอปรับหลักฐานให้น้อยลง เนื่องจากต้องเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งเป็นคู่แข่งดึงดูดนักท่องเที่ยว 2.วงเงินประกันจาก 2 หมื่นดอลลาร์ ให้ลดลงได้หรือไม่ โดยเฉพาะประเทศชายแดนจะลดลงได้หรือไม่ ซึ่งทิศทางน่าจะเป็นไปได้ 3. Test&Go ปรับรูปแบบอย่างอื่นได้หรือไม่ บางประเทศเป็น ATK แล้ว ก็ต้องไปลงรายละเอียด 4.กรณี Quarantine ลดระยะเวลากักตัวให้น้อยลง  กรณีผู้ควบคุมยานพาหนะหรือลูกเรือลดระยะเวลากักตัวลงได้หรือไม่  จากเดิมหลายวัน 5 วันจะลดลงได้หรือไม่ 5.ผู้ติดเชื้อจากเดิมอาการเล็กน้อยไปเข้า AQ  ต้องกักตัว 10 วัน 7 วัน แต่ตอนนี้ความรุนแรงของโรคลดลง ก็ต้องลดลงด้วยหรือไม่  รวมถึงคนเสี่ยงสูงอาจจะยกเลิกการกักตัวหรือไม่ 


*** “หมอทวีศิลป์” บอกว่า มาตรการที่เสนอทั้งหมดยังไม่ได้อนุมัติให้ใช้ แต่เห็นชอบในหลักการ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แจ้งว่า ขอให้ดูผลในช่วงสงกรานต์ก่อนว่า พี่น้องคนไทยร่วมมือกันอย่างไร และทำให้ตัวเลขการติดเชื้อภายในประเทศสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดีหรือไม่ ซึ่งจะมีการพิจารณาและเข้าที่ประชุมศบค.ต่อไป

*** สำหรับมาตรการเทสต์แอนด์โก (Test and Go) กรณีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวประเทศไทย โดยไม่ต้องทำ RT-PCR ก่อนนั้น มีสถิติว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-ธ.ค.2564 ซึ่งขณะนั้นมีมาตรการเทสต์แอนด์โก เป็นการผ่อนคลายมาตรการ ณ ช่วงนั้น พบว่า มีคนเข้ามาประเทศไทยประมาณ 4.2 แสนคน แต่เดือน ม.ค.-มี.ค.2565 แค่ 3 เดือนมีนักท่องเที่ยวเข้าถึง 4.7 แสนคน  “หมอทวิศิลป์” บอกว่า ตัวเลขเหล่านี้แสดงถึงความเป็นผู้นำในการนำทิศทางการเปิดประเทศ โดยมีการศึกษา และผ่านกระบวนการการคิดอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่เทสต์แอนด์โก 22 ธ.ค.2564 และปรับเป็น RT- PCR 2 ครั้ง ใน Day 0 และDay 5 กระทั่งตอนนี้ไม่ต้องมี RT-PCR มาก่อน เพียงแต่มาตรวจใน Day 0 และทำ Self ATK  ในครั้งที่ 2 ทำให้มีคนนิยมมาประเทศไทยประมาณหนึ่ง ทั้งยังมี Thailand Pass เพื่อที่ให้คนอยู่ต่างประเทศลงทะเบียนก่อนเข้ามา มีคนลงทะเบียนมากพอสมควร ซึ่งไว้วางใจประเทศไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ


*** มาลุ้นกันว่าเมื่อช่วงหยุดยาวสงกรานต์ผ่านพ้นไปแล้ว สถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ครองประเทศไทยอยู่ขณะนี้ จะดีขึ้นหรือเลวลง แต่ก็ขอภาวนาให้ “ดีขึ้น” เพื่อที่ “ศบค.” จะได้ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการเดินทางเข้าประเทศของ “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” อันจะทำให้สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทยที่ซบเซามาหลายปีดีขึ้น เศรษฐกิจหลายอย่างก็จะได้รับอานิสงส์ตามมาด้วย... 
    

*** จากเรื่องโควิด-16 พาไปดูเรื่องทางการเมือง อีกราว 1 เดือน การประชุมสภาสมัยสามัญครั้งที่ 2 ก็จะเริ่มขึ้นในวันที่ 22 พ.ค.2565 ซึ่งจะเป็นสมัยประชุมที่ชี้ชะตาอนาคตของ “รัฐบาลลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ว่าได้ ว่าจะฝ่าไปจนครบเทอม 4 ปี หรือมีอันต้อง “อับปาง” ลง เพราะยุบสภาก่อนหรือไม่ เนื่องจากมีศึกหนักรอวัด “เสถียรภาพรัฐบาล” อยู่นั่น คือ การเปิออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่พุ่งเป้าถล่มไปที่ “ลุงตู่” อยู่ 
    

*** แต่ “ศึกซักฟอก” จากเดิมที่ฝ่ายค้านร่ำๆ  ว่า จะยื่นทันทีที่เปิดสภาในเดือน พ.ค. ก็ไม่รู้มีอะไรมาทำให้ “ฝ่ายค้าน” เริ่มลังเลใจที่จะ “ยื้อเวลา” ออกไป โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บอกถึงการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ว่า พรรคเพื่อไทยมีการประชุมร่วมกันตลอด โดยจะมีการยื่นให้เร็วที่สุด โดยต้องดูบริบทโดยรวมว่า การยื่นขอเปิดอภิปรายฯ จะเป็นประโยชน์กับประชาชน ประเทศชาติ และสภาฯ หรือไม่ เช่น การยื่นในช่วงที่มีการพิจารณากฎหมายสำคัญ และทำให้กฎหมายพิจารณาล่าช้าไป หรือขัดขวาง เราก็จะนำเหตุผลเหล่านั้นมาพิจารณากำหนดเวลาในการยื่น จะเป็นวันที่ 23 พ.ค.หรือไม่ เรายังไม่กำหนด เพราะต้องดูภาพอื่นๆ ประกอบไปด้วย เช่น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง และพรรคการเมือง ที่กำลังพิจารณาอยู่ รวมถึงพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่ชัดเจนแล้วว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ วาระรับหลักการ วันที่ 1 - 2 มิ.ย.นี้ ถือเป็นจังหวะคาบเกี่ยวพอสมควร 


*** ผู้นำฝ่ายค้านบอกว่า เดิมเราตั้งใจจะยื่นก่อนการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณฯ พอกำหนดไทม์ไลน์ พ.ร.บ.งบประมาณ มาอย่างนี้ ก็ทำให้จังหวะการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจทำได้ไม่ต่อเนื่องแน่นอน เว้นแต่งบประมาณผ่านไปแล้วและนำกลับมาพิจารณาในวาระ 2 - 3 ช่วงปลายเดือน ส.ค. เราคิดว่าช่วงกลางๆ นี้น่าจะเหมาะสม ส่วนการประเมินสถานการณ์ของรัฐบาลจะอยู่ครบเทอมหรือไม่ “หมอชลน่าน”ย้ำว่าเป็นเจตจำนงของรัฐบาลที่จะอยู่ให้ครบ 4 ปี หรือดึงเวลาให้อยู่ครบเทอมมากที่สุด แต่มั่นใจว่า รัฐบาลไม่น่าจะอยู่ครบเทอม ด้วยปัจจัย คือ 1.ผลงานความต้องการของประชาชนในการแก้ปัญหา 2.รัฐบาลจะยุบสภาก่อนและไปเลือกตั้งช่วงใกล้ครบเทอม อย่างที่เขาแพลนออกมาว่าหลังการประชุมเอเปค เพราะต้องการผลงานในช่วงการประชุมเอเปค รวมถึงถ้าปล่อยให้ครบเทอม จะมีการย้ายพรรคของ ส.ส. ดังนั้น การยุบสภาหลังเอเปคจะเหมาะสม เพราะกฎหมายกำหนดให้มีการเลือกตั้งไม่เกิน 60 วัน จึงเป็นจุดสำคัญ


*** นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจยุบสภาได้ เช่น ครบวาระ 8 ปี นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 23 ส.ค.นี้ ก็อาจเป็นประเด็นที่จะนำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่แน่นอนเราจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนวันที่ 23 ส.ค.นี้แน่ อย่างไรก็จะมีบททดสอบ 3 จุดสำคัญ  คือ 1.จุดที่ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่เราทดสอบเบื้องต้นคือ พ.ร.บ.งบประมาณฯ วาระรับหลักการ จะมีประเด็น หรือร่องรอยใดที่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของ ส.ส.และไม่เป็นอันหนึ่งเดียวกันกับรัฐบาล โดยเราจะยื่นหลังจากนั้นซึ่งเป็นจุดสำคัญ แต่หากผ่านช่วงนี้ไปได้ ก็จะไปเจอจุดที่ 2.วาระครบ 8 ปี ของนายกฯ วันที่ 23 ส.ค.นี้ และจุดที่ 3 หลังการประชุมเอเปค …นี่คือไทม์ไลน์คร่าว ๆ ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากที่ “เพื่อไทย” เคยประกาศว่าเปิดประชุมสภาฯ มาจะยื่น “ซักฟอก” ทันที่ แต่ไม่รู้มีอะไรไป “ดลใจ” ให้ดีเลย์ออกไปซะอย่างนั้น หรือฝ่ายค้านกลัวการ “ยุบสภา” หรือ “เพื่อไทย” ยังไม่พร้อมเข้าสู่สนามเลือกตั้ง มันก็จะน่าคิดอยู่มิใช่น้อย...