เหตุผลที่ต้องสำรองเงินสำหรับใช้จ่ายในยามชรา

13 พ.ค. 2565 | 23:00 น.

คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ครั้งที่ผ่านมา ผมได้เขียนเรื่องของการเงินที่ต้องมีการสำรองไว้ ที่คนสูงวัยควรจะเตรียมไว้เพื่อนำมาใช้จ่ายในยามชรา ที่จะต้องไปใช้ชีวิตในบ้านพักคนวัยเกษียณ หรือใช้ชีวิตที่ใกล้วัยอันควรจะต้องเดินทางไปสู่สวรรค์ ให้มีความสุขมากที่สุด 


เพราะการใช้จ่ายในวัยชรานั้น ย่อมต้องใช้เงินมากกว่ายามที่เรายังแข็งแรงอยู่ ซึ่งก็มีคำถามเข้ามาอย่างมากมาย ว่าทำไมต้องตระเตรียมเงินมากขนาดนั้นเลยเหรอ? ซึ่งคำตอบคือ ผมมีเหตุผลในการคิดคำนวณ เราลองมาดูกันนะครับ

อย่างแรกคือ ในอนาคตอันใกล้นี้ ประชาชนคนไทยเรา ต้องเข้าสู่สังคมวัยสูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเราดูตัวอย่างจากหลายๆ ประเทศ ที่มีให้เห็นมากมาย เราก็พอจะเดาอนาคตของเราได้ว่า เราไม่สามารถที่จะหลีกหนีสังคมวัยสูงอายุได้ 


เหตุผลต่อมา คือในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศไทยเราจะเดินหน้าเข้าสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ในขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายๆ ตัว เช่นรายได้ประชากรต่อคนต่อหัว ค่าครองชีพที่นับวันจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างฉุดไม่อยู่ ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำของประเทศเรา แม้จะสูงขึ้นเกือบจะทุกปี แต่ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนก็วิ่งนำหน้าตลอดเวลา 

เหตุผลต่อมาคือ อัตราการเกิดของประชากรไทยเราก็ยังคงเดินหน้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีคนที่เป็นโสดหรืออัตราการหย่าร้างจะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเราจะเห็นว่าการดิ้นรนเพื่อแสวงหาความมั่งคั่ง จะยากลำบากขึ้นทุกวัน 


ซึ่งเราสามารถเปรียบเทียบกับ 50 ปีในอดีตกับปัจุบันนี้ ก็จะเห็นชัดเจนมาก ในอดีตประเทศไทยเรามีมหาวิทยาลัยไม่มาก คนที่สามารถเรียนจบมหาวิทยาลัยได้ ถือว่าเป็นชนชั้นมันสมองของประเทศก็ว่าได้ 


การหางานทำจึงมีตำแหน่งรองรับเยอะแยะไปหมด ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่เสียแล้ว เพียงแค่ชั่วหนึ่งอายุคน ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป มหาวิทยาลัยเปิดเยอะแยะไปหมด มีทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและของเอกชน การจบปริญญาตรีออกมาสู่ชีวิตจริง ที่ต้องดิ้นรนกันต่อสู้เพื่อความอยู่ดีกินดี แทบจะไม่มีความหมายเอาเสียเลย 


แม้แต่ปริญญาโทก็ยังจบกันเกลื่อน ทำให้การแข่งขันทางด้านอาชีวะ เข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นหากให้มองไปข้างหน้า ผมก็เชื่อเหลือเกินครับว่า ไม่เกินอีกหนึ่งชั่วอายุคน จะต้องเข้มข้นรุนแรงกว่าปัจจุบันนี้อีกหลายเท่า 


จากเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้เชื่อว่า ในสังคมผู้สูงอายุในอนาคตนี้ คนจะต้องดิ้นรนกันเพื่อแสวงหาฐานะทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมกันขนาดหนัก ดังนั้นหากมีห่วงโซ่มาคอยให้ต้องดูแลอีก ทั้งพ่อ-แม่ ปู่ย่า-ตายาย และลูกหลานที่จะตามมาอีกเป็นขบวน คงจะต้องหาทางออกกันต่อไป
     

ดังนั้นหากจะต้องมีสถานที่สักแห่งหนึ่ง สำหรับให้ห่วงโซ่เหล่านั้นได้อยู่อาศัย โดยไม่ต้องเป็นภาระให้แก่เรา สำหรับเด็กๆ หรือที่ยังอยู่ในวัยเรียน ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่สำหรับผู้เฒ่า-ผู้แก่ ที่ไม่มีอนาคตเพราะเป็นไม้ใกล้ฝั่งแล้ว สถานที่ที่ดีที่สุด ถ้าเรียกให้เพราะๆ ก็คือ “สถานบ้านพักคนวัยเกษียณ” 


หากเรียกแบบทั่วๆ ไปก็ “บ้านพักคนชรา” นี่แหละครับ ดังนั้นสำหรับใครที่มีฐานะที่ดีกว่าคนทั่วไป ก็ต้องไปอยู่ที่สถานที่ของเอกชน ที่มีทุกอย่างเพียบพร้อมกว่าของรัฐบาล หรือใครที่ฐานะต่ำลงมาหน่อย ก็ต้องเลือกใช้บริการของภาครัฐบาลก็สามารถทำได้ครับ
 

ในประเทศที่เขามีการเรียกเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ย่อมมีความสามารถในการบริหารเงินคงคลัง นำเข้ามาสู่งบประมาณแผ่นดิน ที่จะเตรียมให้ประชาชนของเขาได้ไม่ยาก แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้วนี่สิ จะเป็นปัญหามากเลยละครับ 


แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาของกลุ่มธุรกิจบ้านพักคนวัยเกษียณ ก็ต้องมีการขยายฐานของธุรกิจและของผู้บริโภค เป็นไปตามกลไกการตลาดทั่วไปแน่นอน ดังนั้นผมจึงบอกว่า เมื่อถึงเวลาอันสมควร เราก็จะเห็นในตลาดของธุรกิจนี้ จะต้องมีการแข่งขันกันมากขึ้น 


เหมือนอย่างหลายๆ ประเทศที่กำลังเป็นอยู่ ถ้าเป็นในประเทศแถบเอเชียเรา ก็จะมีที่ประเทศญี่ปุ่น ประเทศจีน สิงค์โปร์ ฯลฯ ที่มีการแข่งขันกันรุนแรง การให้บริการย่อมมีหลากหลายระดับชั้น  


ดังนั้นการเก็บค่าบริการย่อมขึ้นอยู่การคุณภาพของบริการ ดังนั้นจำนวนเงินที่ผมตั้งไว้ เป็นเพียงสมมุติฐานเท่านั้น เมื่อวันเวลานั้นมาถึง ซึ่งผมเชื่อว่าคงจะไม่น่าจะเกินสิบปี ต้องมาดูต่อว่า จะเพียงพอหรือไม่ครับ
 

ก็มีคำถามต่อไปอีกว่า แล้วถ้าไม่มีความสามารถเพียงพอในการแสวงหาทรัพย์สินละ จะทำอย่างไร? ผมก็ต้องบอกแบบกำปั้นทุบดินว่า ก็คงต้องกลับไปที่จุดเดิมที่เราเคยเป็นอยู่มา แบบในอดีตนั่นแหละครับ 

 

คือคงต้องกลับไปใช้ชีวิตในยามแก่เฒ่า ที่บ้านเกิดเราเองในชนบท แล้วให้ลูกหลานเราช่วยกันดูแล ไม่ต้องดิ้นรนมากจนเกินไป หรือไม่ต้องมีเงินทองมากหรือร่ำรวย ก็สามารถอยู่ได้อย่างสบายๆ ครับ