ตามที่ปรากฏข่าว Nation Online ( 6 มิ.ย.) รายงานจากพรรคพลังประชารัฐว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเข้าทำงานการเมืองอย่างเต็มตัว และสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เพื่อดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่จะไปทำหน้าที่เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค โดยรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมเมื่อพ้นเดือนสิงหาคม ที่จะมีความชัดเจนในประเด็นการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่เสียก่อนนั้น
ข่าวนี้ จะเป็นความจริง มีความเป็นไปได้หรือไม่ ย่อมเป็นประเด็นใหญ่ทางการเมืองที่น่าสนใจและจับตามองเป็นอย่างยิ่ง จะบอกว่าข่าวนี้ไม่มีมูลเสียเลยก็มิใช่ เพราะในยามสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ ในจิตใจส่วนลึกของ “นายกฯลุงตู่” ยังคงต้องครุ่นคิดถึงชีวิต และอนาคตทางการเมืองของตนอยู่ตลอดเวลา
ด้วยวาระที่จะครบ 4 ปี ของรัฐบาลและสภาฯ ชุดนี้ ใก้ลเข้ามาถึง เหลือเวลาอีกไม่เกิน 8 เดือน รัฐบาลก็จะอยู่ครบเทอม และเมื่อพิจารณาจากท่าทีทางการเมืองและการแสดงออกต่อสาธารณะ โดยเฉพาะหลังสุดที่นายกฯเดินทางไปภูเก็ต( 6 มิ.ย.) เพื่อเป็นประธานพิธีเปิดการสัมนากำหนดยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวประเทศไทย ( Thailand Tourism Congress 2022) นายกฯ ได้แสดงปาฐกถาพิเศษ ได้พบปะกับประชาชน และพบกับนักเรียนมัธยม ที่ร้องเพลงบ้านเกิดเมืองนอน ต้อนรับนายกฯ อย่างอบอุ่น ทำให้นายกฯ ค่อนข้างอารมณ์ดี และแสดงความมั่นอกมั่นใจ มุ่งมั่นที่จะทำงานการเมืองรับใช้ประเทศชาติต่อไป เพียงแต่จะก้าวเดินต่อไปด้วยกระบวนท่าอย่างไรเท่านั้นเองหากต้องไปต่อ นี่คือโจทก์ใหญ่ของผู้นำประเทศ อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องเลือกและตัดสินใจ
โดยความจริงที่เห็นและเป็นอยู่ นายกฯ ลุงตู่ ได้กระโดดลงสู่สนามการเมืองอย่างเต็มตัวมานนานแล้ว นับตั้งแต่วันแรกที่ตัดสินใจยึดอำนาจเพื่อยุติวิกฤติของประเทศ และเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใน 4 ปีแรก ถือเป็นช่วงการเมืองในแบบสถานการณ์พิเศษ แต่ 4 ปีหลัง คือ การเมืองในสนามการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยของจริง ตามรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ท่านมิได้เข้ารับตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคลงลุยสนามเลืกตั้งเหมือนนักการเมืองคนอื่นๆ แต่ได้มอบบทบาทนี้ให้พี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรคแทนนั่นเอง
ความจริงเรื่องดังกล่าวนี้ ล้วนเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป แต่ภายใต้การกำกับดูแลพรรคของพี่ใหญ่ 3 ป. ที่ดูราบรื่นในช่วงแรก สถานการณ์ภายในพรรคพลังประชารัฐปัจจุบัน กลับมีปัญหาภายในพรรค และมีคนทำให้พรรคระส่ำ ขาดความเป็นเอกภาพไม่เหมือนช่วงก่อตั้งใหม่ๆ คนที่เคยร่วมงาน ร่วมก่อตั้งพรรค เคยเป็นพันธมิตรทางการเมือง ต่างแยกไปตั้งพรรคใหม่ ทำให้พรรคไม่เข้มแข็งมั่นคงดั่งเดิม ความนิยมศรัทธาต่อพรรคเริ่มถดถอยลง ย่อมส่งผลกระทบต่อตัวนายกฯ อย่างเลี่ยงไม่ได้ นี่คือความจริงทางการเมืองที่แบอยู่เบื้องหน้าของนายกฯ พรรคที่เป็นฐานสนับสนุนนายกลุงตู่ เริ่มมีอาการสั่นไหวอย่างเห็นได้ชัด
เมื่อพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นฐานสนับสนุนทางการเมืองแก่นายกฯ ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ หากต้องเดินต่อโดยมีพรรคพลังประชารัฐ เป็นฐานทางการเมือง ลุงจะต้องคิดหนักและต้องจัดทัพ จัดขบวนทางการเมืองของตนเสียใหม่อย่างไร หรือจะอาศัยพรรคการเมืองใดเป็นฐานกำลังสำคัญสนับสนุนตน นี่คือจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่ลุงตู่ต้องเลือกและตัดสินใจ
ผู้เขียนไม่รู้หรอกว่า นาทีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตัดสินใจแน่วแน่เดินหน้าสู้ต่อไปหรือไม่ แต่ถ้าให้เดาหรือฟันธง คงต้องร้องเพลงว่า "เราถอยไปไม่ได้อีกแล้ว" เพราะว่าไปแล้วการเมืองปีกฝ่ายที่ไม่เอาทักษิณ ไม่ใช่เหลือง ไม่ใช่แดงแต่เป็นฝ่าย "ลุงตู่" ก็เห็นมีเพียงลุงเท่านั้น ที่เหมาะสมจะเป็นผู้นำและเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ทั้งรัฐธรรมนูญยังเอื้ออำนวยและเปิดโอกาสให้ เพียงแต่ลุงตู่จะฝ่ากระแสต้าน และข้อครหาว่าสืบทอดอำนาจ ไม่ใช่ผู้นำที่มาตามระบอบประชาธิปไตย และกระแสเบื่อลุงเพราะอยู่นานได้อย่างไร
หากลุงตู่จะสู้ต่อและก้าวเดินต่อไป บนเส้นทางอำนาจและการเมือง หลังพ้นพงหนามเรื่องอยู่เกิน 8 ปี ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็คงไม่มีใครว่าเพราะเป็นสิทธิ์โดยชอบของท่าน ผมเสียงหนึ่งก็ยินดียกมือเชียร์ครับ เพียงแต่อยากเสนอว่า ถ้าจะอยู่และสู้ต่อไปก็สู้ให้เต็มตัวไปเลย เพราะคนไทยชอบมวยกล้าลุยด้วยจังหวะฝีมือ ไม่ชอบมวยอีแอบเต้นอยู่ข้างล่างหรือหลังเวที เพียงแต่ท่านต้องปรับลุ๊ค จัดขบวนทัพทางการเมืองเสียใหม่ และวางจุดยืนของตนให้ชัดเจน มีทีมงานที่เข้มแข็ง มีพรรคการเมืองที่เป็นเอกภาพสนับสนุน อย่าชกแบบเดิมๆ หรือมามุกเก่าๆ ต้องมีสิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิมเป็นทางเลือกให้กับประชาชน และประเทศชาติ ลีลาแบบบริหารแบบวันแมนโชว์ ทำงานไปบ่นไปด่าไป ใช้อารมณ์ น่าจะไม่ใช่บุคคลิกผู้นำที่ประชาชนต้องการ
การเมืองใหม่ ในบริบทใหม่จากนี้ไป ถ้าวัดจากกระแสชัชชาติ มาประกอบการพิจารณาด้วย จะเห็นได้ว่าคนไทยชอบการเมืองแบบสายกลางและต้องสลายขั้ว ไม่แบ่งสีเลือกข้าง ต้องสามัคคีคนได้ทุกฝ่าย จริงแล้วๆ ก็ตรงกับที่นายกฯ เคยประกาศเรียกร้องให้มีการ "รวมพลังสร้างชาติ" นั่นเอง
เพียงแต่นายกฯ ต้องแสดงออกให้ตรงตามคำประกาศเรียกร้อง การที่จะก้าวเดินต่อของนายกฯ จึงต้องสรุปและเก็บรับบทเรียน ดีที่สุดต้องเอาแบบอย่างจาก พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มาปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบัน คือ
1.ท่านต้องมีทีมงานการเมืองที่ดีและเข้มแข็ง ทันโลก ทันสถานการณ์ เรียกว่ามีกุนซือดี
2.มีพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงมากพอเป็นแกนตั้งรัฐบาลและต้องมีความเป็นเอกภาพ และพรรคการเมืองนั้น ต้องทำตนให้เป็นหลักกับบ้านเมือง มิใช่เป็นเครื่องมือหาประโยชน์หรือเพียงเป็นฐานค้ำยันผู้มีอำนาจเท่านั้น
3.ครม.ต้องเลือกคนดีคนเก่ง และต้องมีทีมเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ต้องได้นักเศรษฐศาสตร์ด้าน มหภาค การเงิน การคลัง มาดูและเศรษฐกิจพื้นฐานเหมือนสมัยป๋า
4.ต้องมีทีมข้าราชการที่ดีและมีความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างเข้มแข็ง
5.ที่สำคัญนายกฯ ต้องเป็นแกนกลางแห่งสามัคคีทุกฝ่าย สร้างพันธมิตรและแนวร่วมให้กว้างขวางและเข้มแข็ง จึงจะรวมไทยสร้างชาติได้จริง ต้องไม่ยึดติดเอาแต่พรรคพวก มองไม่เห็นคนดีคนเก่งอื่นๆ ในบ้านเมือง เรียกว่านายกต้องสามัคคีคนดี คนเก่ง มาร่วมกันพัฒนาบ้านเมือง โดยไม่แบ่งเขาแบ่งเรา หรือแบ่งขั้วนั่นเอง
เหล่านี้แหละครับคือ ประชามติของมหาชน เมื่อจะเดินต่อสู้ต่อไป ก็สู้ให้ถูกทาง ก้าวเดินไปตามความเรียกร้องต้องการของประเทศชาติ และประชาชน ขอเพียงมีความจริงใจ ทุ่มเท เสียสละ มุ่งมั่นทำงานให้บ้านเมือง คนไทยให้โอกาสเสมอครับ คนเบื่อได้ก็รักใหมีได้ เพราะคนไทยให้อภัยและให้โอกาสเสมอ ขอให้เลือกคนดีมาร่วมงานและทำจริง ท่านจึงจะไปต่อได้