“อาชญากร มักจะทิ้งร่องรอยไว้เสมอ” อาจใช้ได้กับประชาชนทั่วไป แต่ไม่ได้กับคดีใหญ่คับบ้านคับเมือง
ผมเคยเขียนเรื่อง กลับลำสั่งไม่ฟ้อง “เลขาฯ พจมาน” เรื่องไม่ธรรมดาในคดี “ฟอกเงิน” เมื่อช่วงวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ไว้ ในคอลัมน์ทางออกนอกตำรา ว่า
“จับตาไว้ให้ดี พนักงานอัยการได้ส่งสำนวนคดีฟอกเงินกู้ธนาคารกรุงไทย กรณีมีการตีแคชเชียร์เช็คธนาคารไทยธนาคาร 26 ล้านบาทออกไปให้คนใกล้ชิดคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ด้วยการกลับความเห็นเดิม ที่เคยมีมติ “สั่งฟ้อง” มาเป็นการ “สั่งไม่ฟ้องคดี” ในส่วนของ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัว คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร และ นายวันชัย หงษ์เหิน ผู้เป็นสามี โดยได้มีการส่งเรื่องกลับไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ พิจารณาว่า จะโต้แย้งความเห็นของพนักงานอัยการที่กลับความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีนี้หรือไม่”...
และระบุว่า คดีนี้จะสั่นสะท้านวงการยุติธรรมไปทั้งปฐพี…แน่นอน
ถึงวันนี้สิ่งที่ผมวิตกกังวลและเขียนไว้ในบทความก็กลายเป็นความจริง
เมื่อคณะทำงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีดีเอสไอ ได้ตั้งขึ้นมาพิจารณาทำความเห็นในคดีฟอกเงิน ได้พิจารณาความเห็นของพนักงานอัยการ ที่สั่งไม่ฟ้องคดีนี้แล้ว มีความเห็นชอบตามความเห็นของพนักงานอัยการ ที่จะไม่สั่งฟ้องคดีนี้เช่นกัน โดยได้เสนอเรื่องให้ นพ.ไตรยฤทธิ์ อธิบดีดีเอสไอ ไปพิจารณาแล้ว
แน่ยิ่งกว่าแช่แป้งเสียอีกครับว่า... อธิบดีดีเอสไอ-นพ.ไตรยฤทธิ์ ทำได้คือ ทำความเห็นส่งไปที่อัยการว่า ไม่มีความเห็นแย้ง และเห็นชอบตามอัยการมีความเห็นไปก่อนหน้า
เท่ากับว่า “คดีนี้เป็นอันยุติ จบแล้วครับ”
เท่ากับว่า คุกตะรางในประเทศสาระขันธ์แห่งนี้มีไว้ขังหมากับแมว!
ในที่สุดคดีการปล่อยกู้เงินอันพิสดาร ในการรีไฟแนนซ์หนี้ของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มบริษัทกฤษดามหานครอย่างหละหลวม โดยไม่มีการวิเคราะห์ถึงฐานะทางการเงิน ความสามารถในการชำระหนี้ วัตถุประสงค์ของการให้สินเชื่อ ไม่เรียกหลักประกันให้คุ้มหนี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของธนาครกรุงไทย ปล่อยให้ผู้กู้นำเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตจนทำให้ธนาคารเสียหาย 10,054 ล้านบาท ที่เป็นตราบาปคณะกรรมการ ผู้บริหารธนาคารกรุงไทยติดคุกไปตามๆกันร่วม 24กว่าคน...หลายคนตายในคุกก็มี
สุดท้าย ก็จบลงด้วยการ “SAVE คนใกล้ชิดนายใหญ่- นายหญิง”
ไม่ว่าต้นธารแห่งกระบวนการยุติธรรมจะบิดเบี้ยวอย่างไร ช่วยตอบคำถามเหล่านี้หน่อยเถอะครับ เพราะมันคันมือคันเท้าเหลือเกิน
1.คดีนี้ใช่ ...เป็นผลมาจากในปี 2561 ที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง นายพานทองแท้ ชินวัตร และ นางเกศินี จิปิภพ มารดาของ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานไม่พอที่จะสั่งฟ้อง และพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ก็เห็นสมควรสั่งไม่ฟ้องเช่นกัน เนื่องจากยังขาดพยานหลักฐานที่ชัดเจนใช่หรือไม่
2.คดีนี้หลุดไปเป็นเพราะ คำสั่งอันลึกลับว่าด้วยยุทธวิธี “SAVE PRIVATE OAK” ใช่หรือไม่
3. อัยการรับทราบหรือไม่ว่า คดีรับเช็ค 26 ล้านบาทของนายพานทองแท้ ชินวัตร นั้น มีผู้บริหารสำนักงานอัยการ 2 ท่าน บอกว่า ศาลยกฟ้องนั้นน่าจะผิด...เพราะคดีที่ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง นายพานทองแท้ ชินวัตร เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2562 เป็นคดีฟอกเงินกู้ธนาคารกรุงไทย ที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายพานทองแท้ ชินวัตร ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5, 9, 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91 กรณีนายพานทองแท้รับโอนเงินเป็นเช็ค 10 ล้านบาทเข้าบัญชี มิใช่คดีรับเช็ค 26 ล้านบาทแต่อย่างใด...
ทำไมนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด จึงมีคำสั่งไม่อุทธรรณ์คดี?
4.การที่อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องนายพานทองแท้ ชินวัตร ในกรณีรับเช็ค 26 ล้านบาท ฐานสมคบและร่วมกันฟอกเงิน และดีเอสไอเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากยังขาดพยานหลักฐานที่ชัดเจน เป็นผลของสารตั้งต้นในการไม่ฟ้องนางกาญจนภาและสามีใช่หรือไม่
5.บรรดาข้าราชการ มือกฎหมายในสำนักงานอัยการสูงสุด รับรู้หรือไม่ว่าการสั่งไม่ฟ้องมันมีช่องโหว่ ช่องว่างให้มีมือกฎหมาย คนมีเงินเล็ดรอดร่างแห่แห่งกระบวนการยุติธรรม ...อย่าตอบว่าไม่รู้นะครับ...
6.คนในอัยการสูงสุด ดีเอสไอ รับรู้ใช่หรือไม่ว่ามี ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่า ด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ข้อ 58 ได้วางหลักเกณฑ์ให้เป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีอาญาไว้ว่า “ในคดีที่มีผู้ต้องหาหลายคนกระทำความผิดในคดีเดียวกัน และได้ฟ้องผู้ต้องหาบางคนไว้แล้ว แต่ต่อมาศาลยกฟ้องในเหตุลักษณะคดี และคดีเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องแล้ว ให้พนักงานอัยการทบทวนความเห็น หรือคำสั่ง สำหรับผู้ต้องหาที่สั่งฟ้องและยังจับตัวไม่ได้ไว้ด้วย” แปลเป็นไทยว่า ถ้าคดีตัดสินเด็ดขาดไปอย่างไร คนอื่นที่โดนคดีก็ให้ว่า ไปตามนั้น...
7.เมื่อแนวทางแห่งคดีเป็นแบบนี้ มีใครบงการกำหนดแนวทางให้นางกาญจนาภา และ นายวันชัย ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีพิเศษ 4 เพื่อขอให้ทบทวนคำสั่งฟ้องนางกาญจนาภา และสามี โดยอ้างว่าข้อเท็จจริงรูปแบบพฤติการณ์ที่กล่าวหาเป็นกรณีเดียวกันกับที่กล่าวหา นายพานทองแท้ ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดยกฟ้องไปแล้ว มูลเหตุก็เป็นกรณีสืบเนื่องจากการกล่าวหานายทักษิณชินวัตร และศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ที่ไต่สวนฟังไม่ได้ว่านายทักษิณ ชินวัตร กระทำความผิดตามฟ้องและพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้วเช่นกัน
เมื่อคดีเดียวกันเป็นแบบนี้ การร้องขอความเป็นธรรม ก็มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงความเห็น และคำสั่ง จึงมีคำสั่งกลับความเห็นเดิมที่สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองรวม 4 ครั้ง มาเป็นสั่งไม่ฟ้อง นางกาญจนาและนายวันชัย ในข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน ใช่หรือไม่!
8.ทำไมเวลาแค่ 3-4 ปี ความเห็นของ “อัยการ” จึงกลับไปสวนมติเดิมของอัยการสูงสุด และดีเอสไอ ที่เดินหน้าสั่งฟ้อง นางกาญจนภา หงษ์เหิน และ นายวันชัย หงษ์เหิน มาตลอด อะไรทำให้ตาสว่าง?
9.สังคมนี้ คนในประเทศนี้จะทำอย่างไรกับ การใช้ดุลพินิจไปตัดตอนกระบวนการพิจารณาในชั้นศาลสถิตยุติธรรมได้บ้าง ใครช่วยบอกที หรือว่าดีแล้ว….
10.ประชาชนทั่วไปที่โดนคดี มีสิทธิ์เหมือน “ทักษิณ พานทองแท้-เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน” ได้หรือไม่?
ช่วยตอบคำถามอันระคายเคืองในดวงใจประชาชนหน่อยเถอะครับ!