ในงานแข่งขันนวัตกรรมหุ่นยนต์ด้านการเกษตรแห่งชาติจีน (China Agricultural Robot Innovation Competition) ที่จัดขึ้นโดยวิทยาลัยด้านวิศกรรมศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แห่งชาติจีน (China Agricultural University) มาอย่างต่อเนื่อง และคึกคักมากขึ้นในช่วงหลายปีหลัง ทั้งจากผู้สนับสนุน ทีมที่เข้าร่วมแข่งขัน และผู้เข้าร่วมเยี่ยมชมงานที่เพิ่มขึ้น
งานแข่งขันนี้สามารถดึงดูดผู้สนับสนุนรายใหญ่มากมาย อาทิ สังคมปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติจีน (Chinese Society of Artificial Intelligence) ศูนย์วิจัยวิศวกรรมสารสนเทศด้านการเกษตรแห่งชาติ (National Agricultural Information Engineering Research Center) และพินตัวตัว (Pinduoduo)
ผมขอขยายความเกี่ยวกับความพยายามของพินตัวตัว แพลตฟอร์มออนไลน์ค้าปลีกสินค้าเกษตร และสินค้าเบ็ดเตล็ดชั้นนำของจีนซะหน่อย ในช่วงหลายปีหลัง บริษัทได้ลงทุนในด้านเทคโนโลยีการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง
ย้อนกลับไปในปี 2020 บริษัทยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แห่งชาติจีน ในการจัดตั้งการแข่งขันเกษตรอัจฉริยะ โครงการนี้เกิดขึ้นภายใต้การแนะนำของเอฟเอโอ (Food and Agriculture Organization) แห่งองค์การสหประชาชาติ (United Nations)
พินตัวตัวนำเอานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ ไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและคุณภาพของอาหาร ที่จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มของตนเอง และปรับปรุงผลผลิตและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร อันนำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกรจีนอย่างเป็นรูปธรรม
กลับมาที่งานนวัตกรรมหุ่นยนต์ด้านการเกษตรแห่งชาติจีน ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทีมแข่งขันจากมหาวิทยาลัยท้องถิ่น สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และบริษัทเทคโนโลยี ส่งผลงานราว 200 โครงการเข้าร่วมประชันกันในแต่ละปี บางส่วนมาจากต่างประเทศตามคำเชิญของผู้จัดงาน อาทิ เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา โดยมีทีมแข่งขันที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายเหลืออยู่เพียง 20 ทีม
ชิ้นงานที่ได้รับรางวัลและถูกนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ก็เช่น “ระบบปฏิบัติการหุ่นยนต์พืชสวน” (Horticultural Robot Operating System) และหุ่นยนต์เพาะปลูกมะเขือเทศของศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอุปกรณ์อัจฉริยะด้านการเกษตรแห่งปักกิ่ง (Beijing Agricultural Intelligent Equipment Technology Research Center)
นวัตกรรมดังกล่าวไม่เพียงแต่ลดการใช้แรงงานในการฉีดพ่น การผสมเกสร การตรวจสอบ และการขนส่ง แถมยังมีระดับความสำเร็จในการเก็บเกี่ยวและผสมเกสรมากกว่า 90% และถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในสวนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเมืองโฉ่วกวง มณฑลซานตง (Shandong Shouguang Smart Agricultural Science and Technology Park)
หุ่นยนต์เก็บสตรอเบอร์รีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แห่งชาติจีน และระบบการผลิตเกษตรแนวตั้งอัตโนมัติ (Automatic Vertical Agricultural Production System) จากศูนย์ชีวภาพฝูเจี้ยน รวมไปถึงหุ่นยนต์ตรวจสอบใต้น้ำ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อและหุ่นยนต์ฉีดวัคซีนปลา ซึ่งส่วนหลังเป็นผลงานของศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University)
หุ่นยนต์ฉีดวัคซีนปลามีเทคโนโลยีการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง (Deep Learning) และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนมีประสิทธิภาพสูงในเวลาต่อมา ปัจจุบัน นวัตกรรมนี้สามารถฉีดปลาได้ 1,200 ตัวต่อชั่วโมง และมีอัตราความสำเร็จกว่า 99% และอัตราการรอดชีวิตหลังระยะเวลา 1 เดือนพุ่งขึ้นแตะ 90% เลยทีเดียว
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมงานยังได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และความชำนาญ การในด้านเอไอ เทคโนโลยีดิจิตัล และนวัตกรรม รวมทั้งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ระหว่างกัน ส่งผลให้ผู้คนเหล่านี้ต่างสัมผัสได้ถึงอนาคตของการเกษตรอัจฉริยะของจีน และเชื่อมั่นว่า หุ่นยนต์และระบบสนับสนุน จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยยกระดับการเกษตรสมัยใหม่ และนำพาความกระชุ่มกระชวยในพื้นที่ชนบทของจีน
ความหนาวเหน็บและพายุหิมะที่มาเยือนแดนมังกรในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา ไม่อาจหยุดยั้งอุปทานและลอจิสติกส์สินค้าเกษตรและอาหารของจีนได้ ชาวจีนไม่ประสบปัญหาการขาดแคลนหมู เห็ด เป็ด ไก่สำหรับไหว้เจ้า และฉลองเทศกาลปีใหม่จีน กับครอบครัวและคนที่รักอย่างเต็มที่เป็นครั้งแรกในยุคหลังโควิด
แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเกษตรยุคใหม่เท่านั้น จีนยังมีหุ่นยนต์และนวัตกรรมอื่นด้านการเกษตรอีกมากให้ค้นหา แต่วันนี้ผมหมดพื้นที่แล้วครับ ...
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน