อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ... การทำสัญญา หรือ นิติกรรมใด ๆ จึงมักต้องมีผู้ค้ำประกัน ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ หรือ เสียชีวิต ผู้ค้ำประกันย่อมต้องเป็นผู้รับผิดในหนี้นั้น ๆ ร่วมกับทายาทของผู้ตายด้วยเสมอ ซึ่งโดยมากผู้ค้ำประกันก็มักจะเป็นคนใกล้ชิดสนิทสนม หรือ มีความไว้เนื้อเชื่อใจกับลูกหนี้เป็นอย่างดี !
การตกลงทำสัญญาทุนการศึกษาก็เช่นกัน ... จะต้องมีผู้ค้ำประกันกรณีผู้รับทุนผิดสัญญา ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าสัญญาทุนการศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้รับทุนนำความรู้ที่ได้จากการศึกษา กลับมาปฏิบัติราชการและพัฒนาหน่วยงาน หรือ องค์กรของตนให้มีความเจริญก้าวหน้า ทันต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
จะเห็นได้ว่า ... ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทุนการศึกษาที่เกิดขึ้น และพบอยู่บ่อยครั้ง นอกจากจะเป็นกรณีที่ผู้รับทุนไม่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร หรือ ได้ยุติการศึกษาโดยไม่ได้รับความยินยอมจากหน่วยงานผู้ให้ทุนแล้ว
ยังมีสาเหตุมาจากการที่ผู้รับทุนไม่ยอมเข้าทำงานชดใช้ทุน หรือ ทำงานไม่ครบระยะเวลาตามสัญญา ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม ผู้รับทุนคงหลีกหนีไม่พ้น ที่จะต้องรับผิดชดใช้เงินทุนที่ได้รับไปแล้วพร้อมเบี้ยปรับตามสัญญา คืนให้แก่หน่วยงานผู้ให้ทุน
ส่วนข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการขอลดเบี้ยปรับนั้น ศาลท่านจะพิจารณาลดให้หรือไม่ ย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นรายกรณีไป อันถือเป็นดุลพินิจของศาลครับ ...
ปัญหาสัญญาทุนการศึกษาที่น่าสนใจวันนี้ เป็นเรื่องของผู้รับทุนซึ่งเสียชีวิตในระหว่างที่กำลังผ่อนชำระเงินคืน (ผู้รับทุนไม่เข้าปฏิบัติราชการชดใช้ทุน) หน้าที่ในการชำระเงินคืนนี้ จะสิ้นสุดลงไปพร้อมกับความตายของผู้รับทุนหรือไม่ ? และหากยังมีหน้าที่ต้องคืนเงินดังกล่าว ศาลจะพิจารณาลดเบี้ยปรับให้ได้หรือไม่ ?
มาหาคำตอบในคดีที่นายปกครองจะเล่าต่อไปนี้ครับ
ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ... นางสาวแดนไกลได้รับทุนการศึกษาตามโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) จากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับปริญญาตรี 4 ปี ที่มหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่ง
โดยในสัญญากำหนดว่า หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว นางสาวแดนไกลจะต้องเข้าปฏิบัติงานในหน่วยงาน ที่กำหนดไม่น้อยกว่า 1 เท่า ของจำนวนเวลาที่รับทุน ถ้าไม่เข้าปฏิบัติงาน หรือ ปฏิบัติงานไม่ครบตามระยะเวลา จะยินยอมชดใช้ทุนคืนเป็นจำนวน 2 เท่า ของเงินทุนที่รับไป
โดยต้องชำระให้ครบถ้วนภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากไม่ชำระ หรือ ชำระไม่ครบภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จะยินยอมให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมี นางแดนใกล้ เป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญา
ภายหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี นางสาวแดนไกล ก็ได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท และ ปริญญาเอก โดยได้รับอนุมัติให้ไปทำวิจัยที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 1 ปี
ต่อมา นางสาวแดนไกล ได้มีหนังสือแจ้งว่าจะอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา กับ สามี และจะขอชดใช้เงินคืนแทนการทำงานชดใช้ทุนตามสัญญา
สถาบันส่งเสริมการสอนฯ จึงมีหนังสือถึง นางสาวแดนไกล และ นางแดนใกล้ เพื่อให้ชำระเงินคืน พร้อมเบี้ยปรับภายใน 90 วัน แต่บุคคลทั้งสองเพิกเฉย
ต่อมา นางสาวแดนไกล ได้แจ้งความประสงค์ที่จะคืนเงิน โดยผ่อนชำระคืนบางส่วนแล้ว (9 งวด) แต่จากนั้นก็มิได้ชำระอีกเลย โดยแจ้งว่าตนกำลังป่วยและต้องใช้เงินรักษา
สถาบันส่งเสริมการสอนฯ จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้นางสาวแดนไกล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และ นางแดนใกล้ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ร่วมกัน หรือ แทนกัน ชำระเงินทุนที่ได้รับไปแล้วคืนพร้อมเบี้ยปรับ และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามข้อสัญญา (ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองชั้นต้น น้องชายของผู้รับทุนแจ้งว่า ผู้รับทุนได้ถึงแก่ความตาย น้องชายจึงยื่นคำร้องขอเข้ามาแทนที่ผู้ตาย ซึ่งศาลได้มีคำสั่งอนุญาตแล้ว)
คดีจึงมีประเด็นพิจารณาว่า ผู้รับทุน (ผู้รับมรดก) และ ผู้ค้ำประกัน ยังคงต้องรับผิดชดใช้เงินทุนคืนพร้อมเบี้ยปรับ และดอกเบี้ยในอัตราตามที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือไม่ ? เพียงใด ?
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า การกำหนดให้ผู้รับทุนชดใช้เงินคืนเป็นจำนวน 2 เท่า ของจำนวนทุนที่ได้รับไป ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าทดแทนความเสียหาย ที่กำหนดไว้ล่วงหน้าในสัญญาทุนการศึกษา อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ตามมาตรา 379 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับลงตามส่วนที่เห็นสมควรได้ ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายเดียวกัน
โดยพฤติการณ์ของผู้รับทุน ที่แจ้งว่า จะชดใช้เงินคืน และได้มีการผ่อนชำระไปแล้วบางส่วนก่อนจะเสียชีวิต ถือเป็นกรณีมีเจตนาชดใช้เงินแทนการกลับมาปฏิบัติราชการ แต่การที่ไม่สามารถผ่อนชำระต่อไปได้ เพราะป่วยเป็นโรคมะเร็งซึ่งต้องใช้เงินในการรักษาตัวและเสียชีวิตในที่สุด
เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของผู้ให้ทุนทุกอย่าง ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินแล้วเงินเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ 2 เท่า จึงสูงเกินส่วน และเห็นสมควรลดเบี้ยปรับให้เหลือเพียง 1 เท่า ของทุนที่ต้องชดใช้
สำหรับดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามมาตรา 379 ดังกล่าว เมื่ออัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้สูงเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในปัจจุบัน อันเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน และศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดลงได้ จึงเห็นสมควรลดให้เหลือในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
ทั้งนี้ ข้อโต้แย้งที่ว่า ในสัญญามีข้อกำหนดให้ผู้รับทุน อาจไม่ต้องรับผิดเมื่อถึงแก่ความตายนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่า คณะอนุกรรมการฯ ชุดที่มีหน้าที่พิจารณาเรื่องดังกล่าว ได้วินิจฉัยให้ผู้รับทุนในกรณีพิพาทนี้ไม่ต้องชดใช้ทุน
ศาลจึงเห็นว่า การถึงแก่ความตายที่ไม่ต้องรับผิดตามสัญญานั้น จะต้องเป็นการถึงแก่ความตายในระหว่างที่ศึกษา หรือ ปฏิบัติงานชดใช้ทุน เมื่อมิได้ปฏิบัติงานชดใช้ทุน จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาแต่อย่างใด
ดังนั้น ผู้รับทุน (ผู้รับมรดก) และ ผู้ค้ำประกัน จึงต้องร่วมกัน หรือ แทนกันชดใช้เงินคืนและเบี้ยปรับ 1 เท่า ของทุนที่จะต้องชดใช้ พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวคืนแก่ผู้ให้ทุน (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 310/2565)
สรุปได้ว่า กรณีผู้รับทุนเสียชีวิต ผู้ค้ำประกันยังมีหน้าที่ และไม่หลุดพ้นจากหน้าที่ชดใช้ทุนคืนตามสัญญา โดยศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับตามที่เห็นสมควรได้
สำหรับข้อกำหนดในสัญญาที่ให้ผู้รับทุน อาจไม่ต้องรับผิดกรณีถึงแก่ความตายนั้น เมื่อผู้มีอำนาจหน้าที่มิได้พิจารณา หรือ วินิจฉัยให้ไม่ต้องชดใช้ทุน ศาลเห็นว่า ต้องเป็นกรณีการเสียชีวิตในระหว่างการศึกษาหรือระหว่างการทำงานชดใช้ทุน จึงจะมีผลทำให้หลุดพ้นความรับผิดตามสัญญาได้
ส่วนกรณีการเสียชีวิตในระหว่างชดใช้ทุนคืน จากการที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญา หน้าที่ชดใช้ทุนคืนก็ยังตกเป็นของผู้ค้ำประกัน รวมถึงทายาทของผู้รับทุน (ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าจำนวนทรัพย์มรดกที่ได้รับ) โดยที่การเสียชีวิตกรณีดังกล่าวไม่ถือเป็นเหตุให้ไม่ต้องรับผิดหรือไม่ต้องชดใช้ทุนคืนตามสัญญาแต่อย่างใด ... ครับ
(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองได้ที่ ... สายด่วนศาลปกครอง 1355)