กาลครั้งหนึ่งนานมา เอกอัครศิลปินแห่งรัตนโกสินทร์ร่วมสมัย คือท่านอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ได้สร้างผลงานภาพสีน้ำจากพุทธประวัติเปนภาพนางสุชาดา ถวายข้าวมธุปายาส ช่างสวยงามระยิบระยับราวเทพยดามาช่วยรังสรรค์ นับเปนแรงบรรดาลใจคิดไว้ว่ายามเมื่อไปแดนพุทธภูมิแล้วไซร้ ใคร่ไปเยี่ยมชมสืบหาต้นเค้าแห่งท่านผู้เปนบุคคลสำคัญในอดีต
เมื่อสองสามปีก่อน คราวพระพุทธศาสนากาลเปนอดีตภาคได้แล้ว 2563 พรรษา (คิดตรงๆไม่ทด) เปิดปีใหม่มาประเทศชาติก็มีเเต่เรื่องตั้งกะฝุ่นพีเอ็ม 2.5 กราดยิงกันวันมาฆะบูชา ไปยันการระบาดหนักของไวรัสโคโรน่า(ภาษาเมื่อปี63) ก่อนประเทศทั้งหลายจะปิดมิให้ข้ามเดินทาง ก็ยังมีโอกาสได้ไปอินเดียเพื่อส่งมอบเครื่องบวชบรรพชาและอัฐบริขารที่ท่านผู้มีใจแผ้วฝากมาถวายไว้แต่คณะสงฆ์พระธรรมทูตไทยใช้ในกิจการบรรพชาอุปสมบทกุลบุตรชาวอินเดีย อัสสัม เนปาลซึ่งมีความเลื่อมใสในบวรพระพุทธศาสนา
ครั้นได้เวลาเดินทาง ภยันตรายฝ่ายโรคาพาธฝุ่นละอองไวรัสก็มาเยือนมีผู้ห่วงใยได้ทักถามและทัดทานการเดินทางฝ่าดงไข้นี้ กอร์ปกับสถานการณ์รุนแรงขึ้นเปนลำดับ มีผู้ยกเลิกการเดินทางหลายท่านหลายฝ่าย ทำให้มีความกังวลหวั่นไหวฯ เช่นนี้แล้ว ก็ต้องอาศัยพึ่งใบบุญครูฯ
ในสถานการณ์อย่างนี้ พระเดชพระคุณพระราชอุดมมงคล พหลนราทรหลวงพ่ออุตตมะ ที่วัดวังกะ_วิเวการาม สังขละบุรี ท่านได้เมตตาทิ้งข้อธรรม ฝ่ายความเด็ดเดี่ยวมั่นคง ไว้ว่า “อธิษฐานเกิดแล้ว อันตรายยังไม่เกิด”
หมายว่าจะทำอะไรแล้ว ตั้งใจไว้ดีแล้ว เปนสิ่งเกิดขึ้นแล้ว ภัยอันตรายทั้งหลายมาทีหลังการตั้งใจที่ว่า จะพาให้ล้มล้างความตั้งใจที่เกิดขึ้นก่อน ไม่น่าจะถูกเรื่อง ดังนี้แล้วจึงเกิดเปนกำลังขึ้นแต่ข้างในดวงใจ เหมือนไฟใกล้มอดได้เชื้อดังนั้น มีกำลังใจตั้งมั่นวางแผนการให้รอบคอบรัดกุม และทุ่มเทสรรพกำลังให้เต็มที่ แก้ไขปัญหาแทนที่จะซึมข้องหมองมัวอยู่ในบ้านแล้วหวาดหวั่นไม่เปนอันทำกิจที่หมายมั่น เช่นนี้แล้วจึงตรงกับโคลงเขารจนากันไว้ว่า “คุณคุรุปูชนียาจารย์อ้างอาจสู้สาครฯ”
ขอกราบบูชาคุณฝ่ายอนุสาสนีย์มีข้อธรรมกระจ่างใจ แต่พระคุณครูผู้สำเร็จด้วยร้อยแก้วอักษรมา ณ บรรทัดนี้ฯ อย่างไรก็ดี กิจกรรมทางพระจะละไว้ ขอตัดตอนไปเล่าถึงเรื่องเที่ยวบ้านนางสุชาดาเสียก่อน บ้านนางสุชาดานี้จะไปดูต้องข้ามแม่น้ำเนรัญชราไป ปัจจุบันน้ำค่อนข้างจะแห้งเปนท้องทราย อันเกียรติประวัติที่นางสุชาดาได้กระทำนั้น ก็คือการหุงข้าวมธุปายาสไปถวายพระสมณโคดมพุทธเจ้า ซึ่งคราวนั้นนัยยะว่าทรงหมดกำลังพระวรกาย ก่อนจะเสด็จไปกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานตรัสรู้ชอบใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ ตามตำนานว่าได้เสวยข้าวนี้แล้วทรงมีพระกำลังวังชาดีขึ้นมาก ได้ทรงกระทำสัตยาธิษฐานเสี่ยงถาดข้าวมยุปายาสของนางสุชาดา ยังแม่น้ำเนรัญชรา
ทีนี้ว่าข้าวนี่วิธีหุงพิศดารอย่างไรสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสได้ทรงนิพนธ์ความยุ่งยากและซับซ้อนเอาไว้ ถอดได้ความสรุปว่า ก่อนถึงวันหุงนางสุชาดาสั่งคนงานให้ไล่ต้อนฝูงโคนมจำนวนราว 1,000 ตัวเข้าไปเลี้ยงในป่าชะเอมเครือ ให้แม่โคทั้งสิ้นกินชะเอมเครือ (นัยยะว่าเพื่อเอาหวาน) แล้วแบ่งแม่โคนมออกเป็นสองฝูงๆ ละ 500 ตัว แล้วรีดเอานมจากแม่โคนมฝูงหนึ่งมาให้แม่โคนมอีกฝูงหนึ่งกิน คัดเอาฝูงแรกทิ้งไป เอาส่วนฝูงสองมาแยกครึ่ง รีดนมฝ่ายหนึ่งให้อีกฝ่ายที่เหลือกิน แล้วคัดฝูงถูกรีดนมทิ้งไป ฯลฯ คัดแม่โคนมอย่างนี้เรื่อยๆ ไปจนเหลือแม่โคนม 8 ตัว เสร็จแล้วจึงรีดน้ำนมจากแม่โคนมทั้ง 8 มาหุงข้าวให้ยังเกิดความเข้มข้นในน้ำนมโคอันจะมาหุงข้าวมธุปายาส!
ตรงจุดนั้นเขาก่อสถูปสูงฐานใหญ่ไว้เปนที่หมายว่าบ้านของนางสุชาดา ส่วนอาคารบ้านของนางเปนอย่างไรคงต้องขุดค้นลงไปในใต้สถูป อย่างไรก็ดีที่ละแวกบ้านนางสุชาดานี้ยังมี วิสาหกิจเพื่อสังคมอย่างว่าฝรั่งอังกฤษได้วางรากฐานไว้ในรูปแบบของ Trust อยู่บางแห่งแห่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ โรงเรียน แสง_ปัญญา: Gyan (ญาณ) Jyoty (โชติ)
ในเวลาที่ประชากรล้นโลกอินเดียโอกาสทางการศึกษาควรต้องถูกถ่างออกให้กว้างพอสำหรับทุกคน ผู้ก่อตั้งโรงเรียนนี้มีปณิธานกล้าจะให้เด็กๆเลิกปลงใจว่ายากไร้แล้วไปเปนขอทานตามสังคมนิยมกัน กรรมการ trust พากันจัดตั้งโรงเรียนอย่างว่าประชาบาล ซ่อนอยู่ในดงตาล ห่างถนนรนแคม เพราะว่าที่ทางราคาถูก ให้ที่พักพิงเเก่เด็กกำพร้าบ้าง ไม่กำพร้าบ้าง
หะแรกก็ตั้งใจว่าน่าจะได้ทำ circular economy ย้อนกุศลสนองคืนนางสุชาดา ที่ว่าลูกหลานผู้เคยถวายข้าวพระ ยามตกที่นั่งลำบากก็ให้ได้มีข้าวกินบ้าง เปนสัจจะเดชะอย่างนั้น แม้ว่าไม่มีผู้ใดรู้ชัดว่าประดาเด็กชายหญิงในถิ่นนี้เปนลูกหลานนางสุชาดาหรือเปล่า แต่อย่างน้อยด้วยความจริงว่านางสุชาดาบ้านอยู่ตรงนี้ จุดถวายข้าวอยู่ตรงนี้ๆ นางสุชาดามีอยู่จริงดังนั้น ด้วยอำนาจกุศลกรรมนางสุชาดาทำไว้ ใครๆมาอยู่ใกล้ๆมาอยู่ในถิ่นนางสุชาดา ก็ควรได้มีโอกาสอาศัยใบบุญ นางสุชาดาคุ้มตัว ได้อาศัยใบบุญพระสัมมาคุ้มใจ เปนเครื่องพึ่งพาจากผู้นับถือในพระพุทธองค์ได้บ้าง เมื่อได้สัมผัสเข้าแล้วออกประกาศเชิญชวนก็มีผู้ประสงค์ร่วมกองกุศลข้าวสารนํ้าตาลแป้งสาลีทยอยบริจาคหลั่งไหลมา ก็ทำให้คิดว่าเช่นนี้คงเปนทานอันประเสริฐสมควรยิ่งแล้ว
วันนั้นทางคณะลัดเลาะเข้าไปยังถนนเคยลาดยางในหมู่บ้าน อุณหภูมิท้องทุ่งเย็นฉ่ำสบายตัวสดชื่นด้วยฝนปรอยลงดึงฝุ่นละอองออกหายสิ้น เดินด้วยเท้าลัดเลาะไปตามคันนาเขาปลูกข้าวสาลีเพิ่งตั้งท้อง มีมะเขือเทศและกะหล่ำบนผืนนาสมบูรณ์ผล
เข้าเขตหมู่บ้านแล้ว ทางโรงเรียนนำเด็กๆมาตั้งแถวรับ คล้องมาลัยดอกดาวเรือง โปรยกลีบดอกไม้ ร้องเวลคัมๆเปนทางยาว พร้อมทั้งมาแต้มฝุ่นแดงกลางหน้าผากต้อนรับ
ครูใหญ่นำเก้าอี้แตกบิ่นด้วยกันดารมาตั้งรับรองคณะ ต้มชานมร้อนจัดมาแจก เยาวชนทั้งนั้นมาสวดมนต์ให้ฟัง บางคนใจกล้าเห็นพระมาเข้ามาจับมือขอแนะนำตัว เปนภาษาอังกฤษ บางคนเอาการบ้านมาโชว์ว่าอ่านออกเขียนได้ แล้วร้องรำทำเพลง รับคณะเชิญชวนให้ออกไปเต้นสนุกด้วยกัน
ตั้งกองข้าวสารที่นี้ ตันหนึ่ง น้ำตาลกระสอบหนึ่ง แป้งสาลี หลายกระสอบเปนทาน สิ้นเงินทั้งสิ้น 50,000 รูปี ราวจะสามหมื่นบาท มีผู้สมทบมากด้วยจิตกุศลราว 60% กุศลนี้ได้สำเร็จลงแล้วขออนุโมทนาสาธุการแต่ทุกท่านมาณ บรรทัดนี้
ขอความรื่นเริงสดใสของเยาวชนเด็กๆ ผู้ดีใจจากการได้รับทานที่ท่านให้จงเปนพลวัตปัจจัยดลให้ท่านมีแต่ความชื่นสุขในดวงใจทุกครั้งไปที่ได้ระลึกถึงกุศลกองนี้ ณ แดนพุทธภูมิข้างบ้านนางสุชาดา ตลอดกาลนานเทอญฯ ส่วนเรื่องงานการศึกษาของโรงเรียนบ้านนางสุชาดานั้น อันการมุ่งมั่นจะทำเรื่องขยายโอกาสการศึกษาอย่างนี้ ภาษาวิชาการมีคำหนึ่งเขาว่า critical mass มันไม่ถึงจำนวน หมายความว่าการพลิกฝ่ามือให้ฉับพลันทันที ผู้คนมามีการศึกษากันถ้วนหน้าเทียบกับประชากรขนาดมโหฬารแล้ว นี่ก็เปนเพียงเม็ดทรายในทะเล(ทราย) ไม่อาจจะพลิกฟ้าคว่ำดินเห็นผลได้_อันนี้ก็จริงอยู่ แต่หากตรองลงดูให้ละเอียดแยบคายลงไป ปฏิบัติการทางสังคมที่ไม่หวังความช่วยเหลือจากรัฐหรืองบประมาณขนาดใหญ่นั้น จำจะต้องใช้ยุทธการที่แตกต่างออกไป คล้ายสมัยสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้า หรือ พระองค์เจ้าขุนเณร ท่านทำศึกกับมวลพยุหโยธาทัพมหึมาด้วยอาศัยกำลังเพียงหยิบมือ
อาฆีมีดีส นักปราชญ์โบราณแกว่าแกจะงัดดาวโลกใบนี้ให้กระเด็นไปเลยก็ได้ถ้าแกมีคานงัดที่ยาวมากพอ ระบบกลไกทางสังคมแบบคานงัด_leverageที่มีการพูดถึงกันมานานในภาคสังคมก็อาจเปนเครื่องมือที่เหมาะสมในการนี้ กล่าวคือ หากเยาวชนจาก โรงเรียน แสง_ปัญญา: Gyan (ญาณ) Jyoty(โชติ) นี้สักหนึ่งคน ได้ไปต่อในระบบการศึกษาที่ไกลกว่านี้ ไปไกลอย่างว่าโชนแสงขึ้นเปนเพชรทอประกาย คล้ายคราว ดร. เเอมเบดก้า ลาออกจากศาสนาเดิมที่กีดกั้นมาสู่ร่มโพธิ์ทางปัญญา จนได้มาทำหน้าที่รัฐมนตรียุติธรรม จนเปนประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญของชาติอินเดียให้อยู่ร่วมกันได้สำเร็จ คราเมื่อยังเด็กต้องนั่งเรียนกับพื้นห้องในขณะที่เพื่อนวรรณะอื่นนั่งโต๊ะ
เพราะรังเกียจความต่ำช้าของชาติกำเนิด แต่ด้วยเพราะการศึกษาและความมุ่งมั่น ดร. เเอมเบดก้าก็เปนแรงบันดาลใจงัดให้เด็กเยาวชนอีกหลายล้านคนในชาติหันมา พัฒนาตนเอง โดยเริ่มจากทำความเข้าใจกับการหลุดพ้นจากการกีดกั้นการศึกษาผ่านลูกกรงคร่ำคร่าที่ชื่อว่าการถือวรรณะขึ้นมาเสียก่อน การณ์จะเปนประการใดในอนาคตก็สุดจะเดา ทว่าถ้าเกิดยุทธการนี้สำเร็จได้เรื่องขึ้นมาเมื่อใดล่ะก็ ก็นาทีนั้นล่ะจะเปนชัยชนะของแสงปัญญาโชติโรงเรียนบ้านนางสุชาดาในระบบคานงัดที่เราแวะไปเที่ยวเยี่ยมหา
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,813 วันที่ 28 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2565